รูปหล่อเนื้อเงินหลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม รุ่นสร้างกุฏิ พ.ศ.2533 สิงห์บุรี อายุครบ 82 พรรษา พร้อมเลี่ยมเงิน ราคาแบ่งปันเบาๆครับ
หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม ท่านเป็นผู้ที่ทรงวิทยาคุณทางด้านไสยเวท มีศีลาจาวัตร และวัตรปฏิบัติแบบสมถะ รักสันโดษ มีพลังจิตที่สูงส่ง และแก่กล้า เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีความทุกข์มาหาท่านด้วยความเสมอภาค จนบังเกิดศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั้งใกล้และไกล จนเป็นที่เลื่องลืออย่างกว้างขวาง
วัดหนองสุ่ม ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยชัน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นวัดราษฎร์สังกัดสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สภาพเดิมของวัดหนองสุ่มเป็นป่าไม้ทั้งสิ้น โดยมีต้นโพธิ์ใหญ่ ๓ ต้น อันเป็นไม้สัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าสถิตอยู่
มองดูรอบๆ วัดแล้วจะเห็นเป็นท้องนาอันเขียวชอุ่ม ปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดหนองสุ่ม คือ หลวงพ่อโพล้ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๑ ศอก ๑ คืบ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก อยู่คู่กับวัดหนองสุ่มมาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่มณฑปของหลวงพ่อจวน ประวัติโดยสังเขป หลวงพ่อจวน เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๕๘ ตรงกับปีเถาะ วันศุกร์ ที่ ต.ห้วยชัน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ด้วยฐานะที่ยากจน และพ่อแม่ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย ท่านจึงอยู่ในความอุปการะของพี่สาว และมีโอกาสได้เรียนหนังสือจบเพียงแค่ชั้นประถมศึกษา ในปี ๒๔๗๓ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหนองสุ่ม แต่อยู่ได้ได้เพียง ๓ ปี ก็ลาสิกขา เพื่อไปช่วยครอบครัวพี่สาวประกอบอาชีพกสิกรรม พออายุได้ ๒๒ ปี ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดประศุก ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยมีพระสมุห์จรัส เจ้าอาวาสวัดประศุก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองสุ่ม ๑ พรรษา แล้วย้ายไปอยู่ที่วัดโพธิ์ลังกา ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ลาสิกขาประมาณ ๕ เดือน เพื่อช่วยงานพี่สาวที่อุปการะเลี้ยงดู หลังจากนั้นท่านได้อุปสมบทใหม่อีกครั้ง เมื่อปี ๒๔๘๓ ขณะอายุได้ ๒๖ ปี ณ วัดประศุก เช่นเดิม โดยมีพระครูพิศิษฐ์ศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดประศุก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สุจิตโต” หมายถึงว่า “ผู้มีจิตใจที่ดีงาม” ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดหนองสุ่ม ตลอดมา จนกระทั่งละสังขาร
หลวงพ่อจวน ได้เริ่มมุ่งศึกษาทางด้านไสยเวท โดยไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิชาในยุคนั้น ได้แก่ หลวงพ่อแป้น วัดบ้านไร่ (วัดโฆสิทธาธรรม) อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี, หลวงพ่อปั้น วัดค้างคาว อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท, หลวงพ่อกอง จ.สุโขทัย และอาจารย์ที่เป็นฆราวาสอีกหลายท่าน จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ จึงเริ่มสร้างวัตถุมงคลขึ้น เพื่อให้ลูกศิษย์และผู้ที่เคารพศรัทธานำไปสักการบูชา วัตถุมงคลที่จัดสร้างมีหลายประเภท ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ - ๒๕๓๖ มีทั้งรูปถ่าย ตะกรุด ผ้ายันต์ ล็อกเกต พระพิมพ์สมเด็จ พระกริ่ง รูปหล่อ และเหรียญ มีทั้งหมดหลายรุ่น
วัตถุมงคลของหลวงพ่อจวนแต่ละรุ่น มีกิตติคุณเลื่องลือว่าเข้มขลังยิ่งนัก มีพุทธคุณโดดเด่นทางมหาอุด คงกระพันชาตรี และแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ และยังแฝงทางด้านเมตตามหานิยม ค้าขายเจริญรุ่งเรือง อีกด้วย จึงเป็นศรัทธาสนใจของบรรดานักสะสมพระเครื่อง ที่ต้องการนำไปสักการบูชาเป็นสิริมงคล
พระเครื่องของท่าน บางรุ่นยังพอเสาะหาได้ เนื่องจากท่านได้สร้างไว้หลายรุ่น รุ่นที่มีประสบการณ์มาก คือ เหรียญรุ่นพิเศษ สายสิญจน์ไหม้ พ.ศ.๒๕๑๘ และพระพิมพ์สมเด็จ หลังสุ่มเงิน-สุ่มทอง พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งมีผู้นำไปทดลองยิงด้วยอาวุธปืนแล้ว ปรากฏว่ายิงไม่ออก บางนัดยิงออก แต่ไม่ถูกเป้า นอกจากนี้ บางรายพกพาติดตัวไปแล้วประสบอุบัติเหตุ โดยยานพาหนะที่นั่งโดยสารไปเกิดประสานงาชนกัน หรือพลิกคว่ำตกถนน ปรากฏว่าแคล้วคลาดปลอดภัย ไม่ได้รับอันตรายใดๆ เลย
หลวงพ่อจวน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ชั้นสูงสุดเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่ “พระครูสุจิตตานุรักษ์” และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภออินทร์บุรี เมื่อปี ๒๕๒๗ ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริอายุรวม ๗๙ ปี พรรษา ๓๕
|