พระบรมธาตุศรีจอมทอง วัดศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
........ตามตำนานที่กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุศรีจอมทอง ดอยศรีจอมทองนั้น ได้แก่ที่ตั้งของวัดพระธาตุศรีจอมทองในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาดินสูงจากระดับที่พื้นราบอื่น ๆ ในบริเวณนั้น ที่ตั้งพระวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้าจอมทอง จะเป็นยอดของดอยลูกนี้ในสมัยพุทธกาล และมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อว่า “เมืองอังครัฏฐะ” มีเจ้าผู้ครองเมืองนั้นนามว่า พระยาอังครัฎฐะ ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับดอยจอมทองลูกนี้ ซึ่งพระยาอังครัฎฐะนั้นได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าได้บังเกิดในโลกแล้ว เวลานี้ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ในประเทศอินเดีย” จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้ว จึงเสด็จสู่เมืองอังครัฏฐะพร้อมด้วยภิกษุสาวกทางอากาศ ได้มารับอาหารบิณฑบาตจาก พระยาอังครัฏฐะ และ ทรงแสดงธรรมโปรดพร้อมทั้งได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า “เมื่อเรานิพพาน แล้วธาตุพระเศียรเบื้องขวา (พระทักษิณโมลี) ของเราจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่ดอยจอมทองแห่งนี้” แล้วเสด็จกลับ ส่วนพระยาอังครัฏฐะเมื่อได้ทราบจากคำพยากรณ์นั้นแล้ว จึงได้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทอง ด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้นั้น พระยาอังครัฎฐะอยู่ครองราชย์จนสิ้นพระชนมายุของพระองค์
ต่อมาภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว โทณพราหมณ์ได้จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่กษัตริย์ทั้งแปดนคร ซึ่งในครั้งนั้น มัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา ทรงได้พระทักษิณโมลีธาตุไว้ พระมหากัสสปะเถระเจ้าประธานฝ่ายสงฆ์ จึงได้กราบทูลมัลลกษัตริย์ถึงพุทธพยากรณ์ที่พุทธองค์เคยตรัสไว้ มัลลกษัตริย์ทราบ ดังนั้นจึงถวายพระบรมธาตุแด่พระมหากัสสปะเถระ ซึ่งท่านก็ได้อัญเชิญพระบรมธาตุวางไว้บนฝ่ามือ แล้วอธิษฐานอาราธนาพระบรมธาตุให้เสด็จไปยังดอยจอมทอง เพื่อประทับอยู่ในโกศแก้วอินทนิลภายในเจดีย์ทองคำ ที่พญาอังครัฎฐะได้สร้างถวายไว้ อยู่ที่ยอดดอยจอมทอง ตามที่พระพุทธองค์ได้พยากรณ์ไว้
กาลหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้วได้ 218 ปี พระเจ้าอโศกมหาราช ได้เสด็จไปสู่ดอยจอมทอง และทรงได้สั่งขุดคูหาให้เป็นอุโมงค์ใต้พื้นดอยจอมทอง แล้วให้สร้างสถูปทองคำไว้ภายในคูหาและยังหล่อพระพุทธรูปทั้งเงินและทอง ตั้งไว้รอบสถูปนั้นแล้ว เอาพระบรมธาตุเจ้าที่อยู่ในสถูป ที่พระยาอังครัฏฐะให้สร้างไว้บนยอดดอยนั้น เข้าไปไว้ในสถูปที่สร้างใหม่ในคูหาใต้พื้นดอยจอมทองแล้วรับสั่งให้เอาก้อนหินปิดปากถ้ำคูหาเอาไว้ แล้วทรงอธิษฐานว่า “ต่อไปข้างหน้า ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินและศรัทธาประชาชน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาปรากฏแก่ผู้ชนให้ได้กราบไหว้สักการบูชา” แล้วพระองค์จึงเสด็จกลับเมืองปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย
พ.ศ. 1994 สามีภรรยาคู่หนึ่งชื่อนายสร้อยและนางเม็ง ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ดอยจอมทองและเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง สามีภรรยาทั้งคู่ได้แผ้วถางบริเวณยอดดอย พร้อมทั้งสร้างเจดีย์และพระพุทธรูป 2 องค์ ไว้บนดอยจอมทองซึ่งผู้คนได้พบเห็นจึงเรียกว่า “วัดศรีจอมทอง” การสร้างวัดยังไม่เสร็จดี นายสร้อยและนางเม็งก็ได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน
ต่อมาถึง พ.ศ. 2009 มีชายสองคนชื่อ สิบเงิน และ สิบถัว ได้ช่วยกันบูรณะก่อสร้างวัดศรีจอมทอง ให้เป็นรูปเป็นร่าง มีพระวิหารมุงด้วยคาหลังหนึ่ง และได้นิมนต์พระภิกษุชื่อ “สริปุตต์เถระ” มาเป็นเจ้าอาวาส และท่านเจ้าอาวาสก็ได้ปฏิสังขรณ์วิหารให้มั่นคงแข็งแรงใช้ไม้ระแนงและกระเบื้องมุงหลังคา จากนั้นหลังจากที่เจ้าอาวาสได้มรณภาพไป ต่อจากนั้นก็มีเจ้าอาวาสรูปต่อ ๆ มาได้สร้าง ปราสาทเฟื่อง และระเบียงหน้ามุขหลังวิหาร เพื่อเป็นที่ไว้พระพุทธรูป และยังก่อกำแพงรอบพระวิหารทั้ง 4 ด้าน พร้อมทั้งสร้างกุฏิเป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุ และช่วยบูรณปฏิสังขรณ์วัดอยู่เสมอ
กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2042 สมัยนี้ พระธัมมปัญโญเถระ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง ได้มีตาปะขาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่วัดนั้นเกิดนิมิตฝันว่า เทวดาได้มาบอกว่าใต้พื้นวิหารบนยอดดอยที่ตั้งของวัดนี้มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า และพระบรมธาตุนั้นจักเสด็จออกมาให้ฝูงชนได้กราบไหว้สักการบูชาต่อไป ตาปะขาวจึงได้ไปเล่าความฝันนั้นให้แก่เจ้าอาวาสฟัง เจ้าอาวาสจึงได้ทำการอธิษฐานจิตว่า “ถ้ามีจริงดังความฝันนั้น ขอให้พระบรมธาตุจงได้เสด็จออกมา ในเมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด ขอข้าพเจ้าจงได้ไหว้สักการบูชาพระบรมธาตุนั้น เมื่อข้าพเจ้ายังไม่ได้เห็นและได้สักการบูชาแล้ว ขออย่าให้ข้าพเจ้าสิ้นชีวิตไปเสียก่อนเลย” ครั้นอธิษฐานแล้ว จนล่วงมาถึงปีจุลศักราช 861 ปี พ.ศ. 2042 เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ พระบรมธาตุเจ้าก็เสด็จออกจากพระสถูปทองคำ ซึ่งก็แสดงปฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์ต่าง ๆ ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย แล้วในวันรุ่งขึ้นพระธมมปัญโญเถระกับตาปะขาวก็ได้พบพระบรมธาตุเจ้าอยู่ในรูพระเกศโมลีของพระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารนั้น จึงได้เก็บรักษากันไว้โดยเงียบ ๆ และรู้กันเพียงแค่ตาปะขาวและเจ้าอาวาสเท่านั้น
หลังจากนั้นก็มีพระอานันโทเป็นเจ้าอาวาสองค์ถัดมา แล้วก็มี พระเหมปัญโญ พระญาณมงคล พระพุทะเตชะ พระอรัญวาสี พระธัมมรักขิต พระไอยกัปปกะ กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2057 สมัยของพระมหาสีลปัญโญเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจอมทอง มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อ พระมหาพุทธญาโณ ท่านไปยังเมืองพุกามและได้ตำนานพระบรมธาตุมาจากเมืองพุกาม และได้พิจารณาจากตำนานจึงคาดคะเนว่าพระบรมธาตุน่าจะตั้งอยู่ที่วัดศรีจอมทองแน่ จึงได้สั่งให้พระอานันทะและปะขาวนักบุญทั้งหลาย ให้ไปที่วัดศรีจอมทอง เมื่อไปถึงวัดให้ทุกคนทำการสักการบูชาดอกไม้ธูปเทียนและให้ตั้งสัตยาธิษฐาน หากว่าพระบรมธาตุตั้งอยู่ในที่นั้นจริงดังตำนานกล่าว ขอพระบรมธาตุจงแสดงปฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์ต่างๆให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยเทอญ เมื่อพระอานันทะได้ไปถึงวัดศรีจอมทองแล้วก็ได้ทำการเคารพสักการบูชา และตั้งสัตยาธิษฐานตามที่พระพุทธญาโณสั่งทุกประการ ฝ่ายพระมหาสีลปัญโญ เจ้าอาวาสเมื่อได้เห็นอาการของคนเหล่านั้นเช่นนั้นจึงได้นำเอาพระบรมธาตุ ซึ่งเก็บรักษากันต่อมานั้นออกมาแสดง ให้พระอานันทะและปะขาวนักบุญทั้งหลายเหล่านั้นได้เคารพสักการบูชา
พระธาตุศรีจอมทอง เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็น พระเศียรเบื้องขวาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณ เมล็ดพุทรา สัณฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบัน พระธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายใน พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้สร้างขึ้นเมื่อปี 2060 และในปัจจุบัน วัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นั้นได้รับการพัฒนาอย่างมากเป็นพระอารามหลวงที่มีความงดงามด้วยศิลปะแบบล้านนา เป็นศูนย์อบรมวิปัสสนากรรมาฐานที่สำคัญมาก โดยมีพระเดชพระคุณพระธรรมมังคลาจารย์(หลวงปู่ทอง สิริมังคโล )เป็นเจ้าอาวาส (ปัจจุบันอายุ 96 ปี)ท่านเป็นพระเถระองค์สำคัญแห่งภาคเหนืออีกองค์หนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคมสายล้านนาอย่างยิ่งครับ.
|