ผ้ายันต์มูตูหลวงผืนนี้ ถือว่าเป็นผืนหน้าใหม่ที่ออกจากรังชาวบ้าน ขนาดของผ้ายันต์16x18นิ้ว สภาพสมบูรณ์ครับ
ประวัติที่มาที่ไปในการสร้าง
ยันต์มูตูหลวง(มูตูแปลว่าเมตตา หลวงคือยิ่งใหญ่)หรือเมตตามหานิยมที่ครูบาดอนตันเรียก ผืนนี้ขนาด16x18 นิ้วเป็นผืนหน้าใหม่ของวงการ สภาพสมบูรณ์เก็บรักษาได้ดีมากๆ ฝีมืการวาดการเขียนของผ้ายันต์มูตูหลวงนั้นจะมีมหาจักร วัดจักรวรรณ(ป่าเมี่ยง)จะวาดรูปค่อนข้างสวยงามและพ่อเฒ่าวังอีกคนหนึ่ง แต่พ่อเฒ่าวังจะวาดรูปไม่ค่อยสวย ทั้งสองเป็นผู้วาดให้กับครูบาดอนตัน แต่ผืนนี้ที่วาดรูปสวยๆเป็นฝีมือของมหาจักร วัดจักรวรรณ(ป่าเมี่ยง) ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา(น่าทึ่งมากใช้ปากกาด้ามเดียวในการวาดและเขียน แล้ววาดรูปสวยด้วย) ในผ้ายันต์ประกอบไปด้วย ยันต์ติ๊บพญาธร หนูกินนมแมว วัวกินนมเสือ ไก่กุ๊ก นกเก๊าคำ นกเก๊าแก้ว พญากาเผือก ม้าชมนาง(ม้าเสพนาง) ช้างชมนาง(ช้างเสพนาง) จิ๊กจกสองหางและสามหาง อิ่น นกยุงทอง พระสังข์(เทียบกับทางภาคกลางคือมนต์จินดามณี จะเป็นรูปคนมีเท้าข้างเดียวถือปลา แต่ล้านนาเรียก บ่อึดบ่อยากบ่กลั้น หมายถึง มีกินมีใช้ไม่มีวันหมด ไม่มีอดไม่มีอยาก เป็นยันต์ที่แปลกของเมืองน่าน) สาริกา พญาเครือเขาหลง ฯลฯ ปัจจุบันผ้ายันต์มูตูหลวงเดี๋ยวนี้ค่อนข้างหายาก เพราะจำนวนที่สร้างแค่หลักสิบผืน ที่หายากเพราะสร้างน้อยเนื่องจากเป็นการเขียนด้วยมือทั้งผืน ที่สำคัญเป็นการรวมเอายันต์เมตตาและมหาเสน่ห์แบบต่างๆมารวมกันในผ้าผืนเดียว หากพิจารณาจะเป็นยันต์เมตตาและมหาเสน่ห์ที่ทางล้านนาชอบใช้กันทั่วไป และส่วนหนึ่งเป็นยันต์ที่แปลกๆที่เป็นของทางน่าน แล้วนำมารวมกัน หากนับดูยันต์ต่างๆที่นำมารวมกันก็เกือบ20ยันต์ ผมถือว่าเป็นจักรพรรดิ์แห่งผ้ายันต์เมตตาเลยครับ
ประวัติการสร้างนั้น ผ้ายันต์มูตูหลวงหรือผ้ายันต์มหานิยมหลวงของครูบาดอนตันนั้น เท่าที่พบเห็นในพื้นที่หรือที่เคยผ่านตาจากคนที่มีนำมาโชว์ จะเห็นว่าผ้ายันต์มูตูหลวงของท่านจะมีแบบ ที่เขียนสวยวาดสวยกับแบบที่เขียนและวาดไม่ค่อยสวย เพราะเกิดจากคนที่วาดรูปให้ครูบาท่านมี2คน(พ่อเฒ่าวังฆราวาสศิษย์เอกกับมหาจักร วัดป่าเมียง) ฝีมือจึงแตกต่างกันชัดเจนในเรื่องของความสวยงามของรูปภาพ ผ้ายันต์ที่แบบวาดสวยและไม่ค่อยสวยนั้น เท่าที่พบเห็นในปัจจุบันจะมีอย่างละไม่เกิน20ผืนถือว่าเจอน้อยมากๆ เนื่องจากเป็นการวาดด้วยมือ จึงใช้เวลาในการทำแต่ละผืนค่อนข้างมาก เลยทำได้ออกมาน้อย
ผ้ายันต์มูตูหลวงนั้น ทางร้านพยายามหาผืนที่เป็นผืนครูของครูบาดอนตัน ว่าท่านได้มอบไว้ให้ใครหรือไม่ ต่อมาทางวัดมิ่งเมือง(วัดที่เสาหลักเมืองตั้งอยู่) โดยหลวงพ่อเสน่ห์ท่านได้นำออกมาโชว์ผืนองค์ครู(ภาพที่2) ที่ครูบาดอนตันได้ติดตัวไว้ ซึ่งผืนองค์ครูนั้นจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ประมาณ3x3ฟุตเห็นจะได้ โดยที่ไปที่มาที่หลวงพ่อเสน่ห์ เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองได้มานั้น เนื่องจากปี2523วาระสุดท้ายของครูบาดอนตันท่านได้อาพาธ และได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลน่านในสมัยนั้น หลวงพ่อเสน่ห์ท่านได้ไปขอสืบตำราวิชาจากครูบาดอนตัน โดยครูบาดอนตันท่านได้ถามหลวงพ่อเสน่ห์ว่าท่านชื่ออะไร หลวงพ่อเสน่ห์บอกว่าท่านชื่อเสน่ห์ เมื่อครูบาดอนตันท่านได้ยินชื่อ ก็เลยบอกว่าท่านไม่ต้องเอาคงกะพันไปหรอก ท่านชื่อเสน่ห์ ท่านเอาเมตตาหลวงไปก็แล้วกัน นั้นก็คือผ้ายันต์มูตูหลวงผืนครูที่ครูบาดอนตันติดตัวไว้และมอบให้หลวงพ่อเสน่ห์เพื่อนำไปเรียนวิชามูตูหลวงและให้เก็บรักษาไว้(ภาพที่2คือผ้ายันต์มูตูหลวงผืนครู ที่ครูบาดอนตันมอบให้หลวงพ่อเสน่ห์เก็บรักษาไว้)
ปัจจุบันทางวัดมิ่งเมืองได้นำผ้ายันต์มูตูหลวงฉบับครูบาดอนตันนำมาเป็นผ้ายันต์แบบปั๊ม เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป โดยได้นำยันต์บางส่วนที่มีรูปภาพบางอย่าง ที่หลายๆคนมองแล้วอาจจะดูส่อไปทางเพศ จึงนำยันต์เหล่านั้นออกไปบางส่วน นั้นก็คือยันต์ม้าเสพนาง ช้างเสพนาง โดยเอายันต์ช้างโขลงมาเขียนแทน เมื่อไม่นานมานี้อดีตนายกยิ่งลักษณ์และท่านนายกประยุทธ ท่านได้มาที่จังหวัดน่าน หลวงพ่อเสน่ห์ได้มอบผ้ายันต์มูตูหลวงแบบพิมพ์ให้ท่านสองด้วยครับ
ผ้ายันต์มูตูหลวงครูบาดอนตันที่พบเห็นบางผืน ด้านหลังเขียนชื่อ"วัดดอนตัน"เป็นภาษาล้านนากำกับไว้ก็มี บางผืนขียนว่า "ผ้ายันต์มหานิยมของพระครูเนกขัมมาภินันท์ วัดดอนตัน ต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา จ.น่านติดไว้ก็มี ปัจจุบันหายากมากๆไม่เจอเลย ท่านดูฝีมือการวาดการลงสีและมียันต์ต่างๆมากมาย ผืนนี้จะพับใส่กระเป๋าพกพาก็ได้หรือใส่กรอบแขวนติดร้านค้าร้านขายก็ดี ผ้ายันต์มูตูหลวงครูบาดอนตันถือว่าเป็นจักรพรรดิ์แห่งผ้ายันต์เมตตาล้านนาเพราะรวมยันต์เมตตาทั้งหมดไว้ในผืนเดียว มีผืนนี้ผืนเดียวจบเลย ไม่ต้องพกหลายผืน ปัจจุบันผ้ายันต์มูตูแบบวาดสวย ที่อยู่ในจังหวัดน่านเหลือแค่3ผืนเท่านั้นที่พบเห็นตอนนี้ นอกนั้นไปอยู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ช่วง5-6ปีก่อนชาวต่างชาติมากว้านซื้อหมดครับ
|