ผางยอยทรงหอยทาก
ระบบการชั่งในอดีตยังไม่มีหน่วยกิโลกรัมมาตรฐาน การซื้อขายด้วยการชั่งในภูมิภาคนี้จึงใช้ ตราชู ร่วมกับ ลูกเป้ง โดยลูกเป้ง หรือ เป้ง เป็นตัวถ่วงน้ำหนักที่ใช้กับเครื่องชั่งโบราณหรือตราชู คนโบราณเรียกชั่งชนิดนี้ว่า ยอย ด้านหนึ่งมีจานใส่ของ เรียกว่า ผางยอย ลูกเป้งทำจากโลหะส่วนมากเป็นสำริดหรือทองเหลือง เป้งมีขนาดแตกต่างกันขนาดเล็กที่สุดอาจเท่าเมล็ดถั่วไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม วิธีใช้คือ วางของที่จะชั่ง เช่น ฝิ่น เงิน ทอง หรือสิ่งของที่ซื้อขายกันในตลาด เช่น พริก กระเทียม ยาสมุนไพร ไว้ที่จานใบหนึ่งของตราชูแล้ววางเป้งที่เป็นตัวถ่วงน้ำหนักไว้ที่จานอีกใบหนึ่งของตราชู วางเป้งขนาดต่าง ๆ จนทำให้แขนของตราชูขนานกับพื้นทั้งสองข้างก็จะทราบว่าของที่ชั่งนั้นมีน้ำหนักเท่าใด ลูกเป้งนิยมทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก เป็ด ช้าง สิงห์ และสัตว์ตามปีนักษัตรหรือทำเป็นลูกกลม ๆ ไม่ตกแต่งลวดลาย เป้งบางตัวมีเนื้อตะกั่วเติมเข้าไปเพื่อให้ได้น้ำหนักครบตามจำนวน ความสำคัญของลูกเป้งนั้นนอกจากจะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักดังกล่าวแล้ว คนล้านนายังใช้ลูกเป้งในขันตั้งอย่างล้านนาที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะใส่ลูกเป้งในขันนั้นด้วยถือเป็นของมีค่ามีราคาแทนทรัพย์สินต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเรียกถุงผ้าขนาดเล็กมีหูรูดที่ใช้ใส่พกติดเอวโดยเหน็บกับเข็มขัด เรียกว่า ถงเป้ง หรือ ถุงเป้ง ส่วนถุงที่ใส่ลูกเป้งโดยตรงจะใช้ผ้าเย็บทำเป็นถุงลักษณะคล้ายร่มชูชีพ ไว้ใส่ลูกเป้งหลาย ๆ ตัว ส่วนยอยหรือเครื่องชั่งจะใส่ในตลับไม้ซึ่งออกแบบเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีตราชั่งอีกแบบ คือ ตาชั่งก้อม เป็นเครื่องชั่งขนาดเล็กพกพาสะดวก ทำขึ้นโดยให้ปลายคานชั่งด้านหนึ่งหุ้มด้วยโลหะสำหรับถ่วงดุลน้ำหนักปลายอีกด้านผูกเชือกไว้สำหรับใช้ผูกสิ่งของที่ต้องการชั่ง แล้วใช้การเลื่อนตำแหน่งของเชือกแขวนคานชั่งเพื่อหาจุดสมดุลโดยไม่ต้องใช้ลูกชั่ง
|