กบคำเนื้อชินตะกั่วเก่า ของทางพม่า-ไทยใหญ่
ขนาดเล็ก สูง1.8cm. เลี่ยมเงินฝังพลอยพร้อมใช้
1เดียวที่พบเจอครับ
------------------------------
...."พญาเมณฑกะกบคำ" ความเชื่อของเรื่องกบ ที่ว่าเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง ชุ่มเย็นนั้น ฝังรากลึกอยู่ในความเชื่อของคนมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธ์ไหนก็มักจะยกให้กบ เป็นตัวแทนของความมั่งคั่งร่มเย็นดังกล่าว ดังเช่นคนจีนก็นิยมยกให้กบสามขา เป็นตัวแทนแห่งความร่ำรวยมั่งคั่ง ค้าง่ายขายคล่อง เป็นตัวแทนของเจ้าสัวผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ คนไทยใหญ่ ก็นิยมยกให้กบเป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์ ผู้เป็นใหญ่กว่าผีสางสัตว์คนทั้งปวง ตามธรรมชาดกของไทยใหญ่ ดังเรื่องมณฑกะอะลองกบคำ ที่มักจะได้ยินครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังอยู่เนืองๆ ทั้งยังมีความเชื่อเรื่องกบที่กล่าวในคัมภีร์วิชาโหราศาสตร์ชั้นสูงของพม่า ว่ากบไปพ้องเสียงอยู่ในตำแหน่งเศรษฐีและความรัก เสน่ห์พอดี(ไม่ขอกล่าวในด้านรายละเอียด) กบจึงเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง ร่ำรวย ร่มเย็นเป็นสุข หากยังได้ยินเสียงกบร้อง นั่นแสดงว่าความอุดมสมบูรณ์ ความร่มเย็น จะบังเกิดขึ้น
.....พญามณฑกะโพธิสัตว์ ในธรรมชาดกของชาวไทยใหญ่เรื่อง มณฑกะอะลองกบคำ เล่าขานสืบกันมาว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าของเราเสวยพระชาติเป็นพญากบคำ ผู้มีมนต์อันวิเศษ(สุวัณณะมณฑกะมนต์) สามารถชุบชีวิตคนตายไปแล้วให้กลับฟื้นคืนชีพได้ ในสมัยนั้นยักข์ มนุษย์ สัตว์ ยังสู้รบกันเพื่อแย่งชิงความมีอำนาจครองความเป็นใหญ่ ต่างก็เข้าห้ำหั่นประหัตประหารกันเมื่อฝ่ายใดเสียชีวิตก็นำมาให้พญากบคำรักษาและชุบชีวิตให้กลับคืนมีชีวิตดังเดิม จนวันหนึ่งพญากบคำก็ได้ประกาศว่า หากทุกท่านยังรบราฆ่าฟันกันอยู่จะเลิกรักษาและชุบชีวิต แล้วเทศนาแก่ยักข์ มนุษย์ สัตว์เหล่านั้นให้เลิกรบราฆ่าฟันกัน แล้วแบ่งแยกดินแดนแก่ยักข์ มนุษย์ สัตว์เหล่านั้นให้อยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ เหล่ายักข์ มนุษย์ สัตว์ทั้งหลายก็สำนึกถึงบุญคุณแห่งพระโพธิสัตว์ผู้เสวยพระชาติเป็นพญากบคำ จึงยกให้เป็นใหญ่แก่ปวงสัตว์ แล้วนำทองคำมาสร้างปราสาทประดับด้วยนพรัตน์ให้พญากบคำอยู่ แล้วแห่แหนไปทั่วทั้งจักรวาลประกาศแก่คนทั้งหลายให้จารึกถึงกิตติคุณแห่งพระโพธิสัตว์นั้นแล ด้วยอานิสงค์นี้จึงเชื่อกันว่ารูปแห่งพญากบคำสถิตอยู่ ณ ที่แห่งใด ที่แห่งนั้นจะมีแต่ความสุข ปราศจากความทุกข์ เจริญด้วยอำนาจวาสนาบารมี บริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นที่รักแก่คน ยักข์ สัตว์ทั้งปวง ด้วยอำนาจแห่งการบูชาพญามณฑกะโพธิสัตว์นั้นแล ฯ
(เครดิตข้อมูลจากพระอาจารย์อภิวัฒน์วัดทุ่งโป่ง เมืองปาย)
|