ตะกรุดปิยะมิตร หรือ ตะกรุดกัลยาณมิตร
ปิยะ แปลว่า เป็นที่รักที่พอใจ มิตร แปลว่า เพื่อนที่รักใคร่ผู้ที่มีไมตรีต่อกัน
กัลยาณมิตร แปลว่า เพื่อนแท้ที่คอยช่วยเหลือเพื่อนอย่างจริงใจ มีสิ่งที่ดีมอบให้เสมอ
มีวัตถุมงคลอีกหนึ่งอย่างที่ครูบาขันแก้วท่านได้สร้างและสืบทอดตำรามา และสร้างให้ลูกศิษย์ใช้บูชาพกติดตัวกัน ซึ่งสร้างมาจำนวนน้อยมากและแทบไม่มีใครรู้เลยว่าท่านก็สร้างตะกรุดชนิดนี้ด้วย
เป็นตะกรุดที่ เป็นลักษณะเป็นแผ่นทองแดงม้วนเข้าหากันทั้ง2ด้าน บางคนก็เรียกว่าตะกรุดแฝด แต่บากคนเรียกว่าตะกรุดสาลิกาก็ว่ากันไป ตะกรุดชนิดนี้เป็นที่แพร่หลายมากทางภาคเหนืออีกชนิดหนึ่งเพราะมีพระคณาจารย์ที่สร้างตะกรุดชนิดนี้กันมาก ซึ่งแต่ละที่ก็จะสร้างกันตามตำราที่สืบทอดกันมาไม่เหมือนกัน หลวงพ่อที่สร้างตะกรุดชนิดนี้และมีชื่อเสียงที่สุดคงจะเป็น ครูบาวัง พรหมเสนโน วัดบ้านเด่น จ.ตาก แต่ก็มีอีกหลายสำนักหลายหลวงพ่อ และฆราวาส พ่อหนานต่างๆก็ได้สร้างตะกรุดแบบนี้เหมือนกันและก็สร้างกันมานานและไม่มีเอกลักษณ์ใดๆบอกได้เลยเป็นของสำนักนั้นๆ
แต่ที่ผมนำมาให้ท่านได้ชมกันนั้นเป็นตะกรุดของครูบาขันแก้วอีกชนิดหนึ่งที่ท่านได้สร้างไว้ เก็บรักษาโดยคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ท่านก็ได้แจกตะกรุดชนิดนี้กับเหล่าบรรดาคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกในยุคนั้นบางส่วน และก็เป็นที่หวงแหนกันมากของเหล่าบรรดาศิษย์ผู้ที่ได้กับมือท่านในยุคนั้นจริงๆ
ตะกรุดปิยะมิตร หรือ ตะกรุดกัลยาณมิตร ของครูบาขันแก้วก็จะทำในลักษณะม้วนเข้าหากันแบบเดียวกับหลวงพ่อครูบาวัง พรหมเสนโน ครูบาอาจารย์เฒ่าแต่เก่าก่อน หรือฆราวาส พ่อหนานต่างๆหลายที่ซึ่งการม้วนเข้าหาแบบนี้ก็ไม่แตกต่างกันเลย จึงทำให้รู้ว่าการทำตะกรุดในแนวเมตตามหานิยมนี้มีมานานมากจนมีการสร้างตำราหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเมตตาโดยเฉพาะและยันต์ต่างๆแล้วม้วนเข้าหากันเพื่อให้เกิดผลพุทธคุณเช่นเดียวกัน
ในส่วนตำราจากที่ได้ศึกษามาจากผู้รู้ และขอดูตำราของพ่อครูพ่อหนานต่างๆหลายๆที่ทำให้รู้ว่าการสร้างนั้นจะมีการเขียนทั้งยันต์ หรือพระคาถาลงไปในตะกรุดแล้วม้วนเข้าหากันก็มีในคาถา ก็จะเป็นคาถามหานิยม เช่นคาถา บท.....
ปิโยเทวะมนุสานัง ปิโยพรหมนะมุตตะโม ปิโยนาคะสุปันนานัง ปินินทริยัง นะมามิหัง ฯ หรือบท....
บารมีพระพุททะเจ้า อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญูมาคะตา อิติโพธิมะนุปัตโต อิติปิโสจะเตนะโมฯ
แล้วม้วนเข้าหากันก็จะได้ตะกรุดแฝดแล้ว1อย่าง แต่ถ้าเป็นตำรายันต์ที่ลงเป็นตารางก็จะเป็น4เหลี่ยมโดยส่วนมากแล้วเขียนหัวใจพระคาถายันต์เข้าไป เช่นหัวใจพระกรณีฯ หัวใจพระรัตนะไตรฯ หัวใจศีลฯ หัวใจพระอภิธรรมฯเป็นต้น แล้วม้วนเข้าหากัน ซึ่งมาคิดตามหลักและวิเคราะห์ว่ายันต์หรือพระคาถาอาคมต่างๆที่เหล่าครูบาอาจารย์แต่บรรพบุรุษท่านได้คิดค้นมาก็มักจะเป็นพระคาถาง่ายๆโดยใช้มนต์แห่งพระพุทธคุณเป็นหลัก และจะทำการปลุกเสกให้ลูกศิษย์นำไปใช้เป็นบูชาขวัญและกำลังใจต่อลูกศิษย์ผู้ที่ศรัทธาในตัวของครูบาอาจารย์นั้นๆเมื่อลูกศิษย์นำไปใช้บูชาก็จะเกิดความเชื่อว่าเป็นเมตตามหานิยม จนคนปัจจุบันเห็นตะกรุดที่ม้วนเข้าหากันที่ไหนก็มักจะเรียกว่าตะกรุด แฝด หรือ ตะกรุดสาลิกา เสมอ
ในการสร้างตะกรุดปิยะมิตร หรือ ตะกรุดกัลยาณมิตรของครูบาขันแก้ว อุตตฺโม วัดสันพระเจ้าแดงท่านได้สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.2524-2526 แต่จำนวนการสร้างนั้นน้อยมากครับแทบจะนับคนที่มาขอท่านได้ ส่วนมากผู้ที่นำตะกรุดของครูบาขันแก้วที่ชื่อว่า ปิยะมิตรไปบูชาส่วนใหญ่จะเป็นคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก และศิษย์ชุมชล ตลาดน้อย โดยการนำของอาจารย์หมอสมสุข จากการสอบถาม อาจารย์หมอสมสุข คงอุไร เหล่าบรรดาลูกศิษย์ที่ทันรับใช้ครูบาขันแก้วท่านว่า มีคนทางภาคเหนือหรือคนในพื้นที่เช่นลูกหลานวัดสันพระเจ้าแดงเคยมาขอตะกรุดชนิดนี้ของครูบาขันแก้วท่านไหม ได้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นมีใครมาขอตะกรุดจากครูบาขันแก้วเลยสักคน แม้กระทั่งลูกหลานครูบาขันแก้วเองยังไม่เคยมีใครมาขอ ส่วนมากเหล่าบรรดาลูกหลานสันพระเจ้าแดงจะกลัว และเกรงครูบาขันแก้วมาก คนที่มาหาครูบาขันแก้วในยุคนั้นจะเป็นคนแถวภาคกลางเสียส่วนใหญ่(เพราะเขาได้อ่านหนังสือลานโพธิที่เขียนเรื่องชีวประวัติของครูบาขันแก้วลงในหนังสือนี้ พวกชาวบ้านก็เลยไม่กล้าไปรบกวนท่าน อีกอย่าหนึ่งคือ ชาวบ้านยุคนั้นกลัวคนกรุงเทพ (เป็นเรื่องจริง ของคนสมัยก่อน)เลยไม่กล้าที่จะไปขอวัตถุมงคลครูบาขันแก้วกัน ) ส่วนพวกตะกรุดต่างๆที่ชาวบ้านสันพระเจ้าแดง หรือแถวๆห้วยยาบนั้น ชาวบ้านเขาจะไปขอครูบา อินตา วัดห้วยไซร ทำให้หมด ส่วนการสร้างตะกรุดของครูบาขันแก้วแต่ละรุ่นจะมีขนาดเท่ากันเพราะอาจารย์หมอสมสุข ได้เป็นคนตัดทองแดงถวายท่านเอง และครูบาขันแก้วท่านก็ยังสร้างตะกรุดปิยะมิตรไว้2แบบ เป็นขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก และ ในตัวตะกรุดที่หรือยันต์ที่ครูบาขันแก้วใช้ลงอักขระข้างในต่างกันด้วย โดยปรกติครูบาขันแก้วท่านจะลงยันต์เพียงแค่2อย่างเท่านั้นคือ.....
1.ขนาดใหญ่ (ความยาว 4เซนติเมตร) ข้างในจะลงตารางยันต์อหิหัสสะ หรือหัวใจพระอินทร์แล้วม้วนเข้าหากัน ครูบาขันแก้วท่านว่ายันต์ที่ชื่อว่า อหิหัสสะนี้ จะใช้บูชาไปในทางไหนก็ได้ตามแต่จะอธิฐาน ท่านก็เลยนำมาเป็นยันต์ที่ม้วนเข้าหากัน แล้วกำหนอดจิตและอารมณ์ให้เป็นในทางเมตตามหานิยม
2.ขนาดเล็ก (ความยาว 2.7เซนติเมตร)ข้างในจะลงยันต์ตารางต่างจาก อหิหัสสะ โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นตารางคู่ที่เขียนทั้ง2ด้าน(ซ้าย – ขวา) ในตารางยันต์ทั้ง2ข้างนั้นจะเขียนเหมือนเป็นหัวใจคาถา อ่านว่า ระ ขา ขา อะ อีกด้านก็เขียนเหมือนกันว่า ระ ขา ขา อะ (ในหัวใจพระคาถานี้ เป็นตำราที่ท่านครูบาขันแก้วท่านสืบทอดตำรามาจากโยมปู่ท่านเอง)แล้วม้วนเข้าหากัน และตะกรุดปิยะมิตรขนาดเล็กนี้ อาจารย์หมอสมสุข คงอุไรได้นำโค๊ตมาตอกไว้เป็นรูป3เหลี่ยม(โค๊ของเหรียญโภคทรัพย์) แล้วก็นำไปเข้าพิธีพุทธาภิเษก อีก ครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 2เมษายน พ.ศ.2526 (ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น5ค่ำ เดือน5 )โดยถือว่า ตะกรุดที่มีการตอกโค๊ตนั้นเป็นรุ่นแม่ทัพธรรมอีกด้วย
กล่าวถึงขั้นตอนการม้วนยันต์ทั้ง2แบบของครูบาขันแก้วให้เป็นตะกรุดปิยมิตรหรือกัลยาณมิตรที่สมบูรณ์นั้นท่านต้องกำหนดอารมณ์แห่งความเมตตาทั้งหลายพร้อมทั้งบริกรรมพระคาถาปลุกเสกไปด้วยเพื่อให้เกิดผลทางด้านเมตตาอย่างสูงสุด
และในพระพุทธคุณตะกรุดปิยะมิตร ที่ครูบาขันแก้วท่านได้กล่าวไว้ว่า ยันต์ปิยะมิตรหรือกัลยาณมิตรนี้ ผู้ใดที่ครอบครองบูชาอยู่ประจำจะก่อให้เกิดทางเมตตามหานิยมอย่างสูงสุด จะพบและเจอมิตร หรือเพื่อนที่ดี ชักจูงแต่สิ่งที่ดีงามเป็นสิริมงคลเข้ามาในชีวิตเสมอ จะไม่อับจนหนทางเพราะในยามใดที่เราทุกข์ใจก็จะมีเพื่อนที่ดีคอยชี้แนะให้ ถือว่าเป็น1ใน38มงคลชีวิตที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญไว้ จะเป็นไปด้วยโชคลาภต่างๆที่จะเกิดขึ้นด้วยว่ามีเพื่อนที่ดีแนะนำให้พบเจอเกิดโชคลาภเสมอ จะทำการค้าขายอันใดก็ให้เกิดกำไร เพราะผลแห่งตะกรุดจะนำพาและชักจูงให้คนมาซื้อของด้วยที่เขาเห็นเราแล้วเมตตาเอ็นดูสงสารเรานั่นเอง เมื่อเขาซื้อของเราเขาก็จะมาผูกมิตรกับเราจนเป็นลูกค้าประจำที่จะตกลงซื้อขายของกันง่ายขึ้นนั่นเอง ถือเป็นตะกรุดเพียงไม่กี่อย่างที่ครูบาขันแก้วท่านเสกเน้นทางเมตตามหานิยมโดยเฉพาะ แต่ในส่วนของตะกรุดอื่นๆที่ท่านได้ทำการสร้างและปลุกเสกไปแล้วนั้นท่านก็จะปลุกเสกตามตำรา และจะเน้นสุดแต่อธิฐานเพราะท่านจะลงแบบครบเครื่อง แต่ตะกรุดนี้เท่านั้นครับที่ท่านบอกเพียงว่า เน้นทางมหานิยมโชคลาภค้าขาย พบเจอเพื่อนที่ดีเป็นต้น
ขอขอบคุณคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกทุกท่านที่ให้ข้อมูลเรื่องตะกรุดปิยะมิตรและเรื่องตะกรุดต่างๆ และเหล่าบรรดาศิษย์ครูบาขันแก้วทุกคนที่เคยรับใช้ครูบาขันแก้ว ขณะที่ท่านยังดำรงค์ขันธ์อยู่และยังให้ข้อมูลที่ตรงกันกับคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกอีกด้วย กระผม ธันชนก ร้านอักษรธรรม ได้นำเสนอข้อมูลต่างๆของครูบาขันแก้วมาลงเป็นการเผยแพร่ความรู้เพื่อเชิดชูเกียรติของครูบาขันแก้วสืบต่อไป ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่ตั้งใจมาอ่านกระทู้นี้เพื่อศึกษา หรือไม่ตั้งใจมาอ่านก็ดี ผมถือว่าผู้ที่เข้ามาอ่านทุกท่านเป็นผู้มีบุญสัมพันธ์กับครูบาขันแก้ว ขอพรของครูบาขันแก้วจงรักษาท่านผู้อ่านทุกคนด้วยครับ
|