ปลาตะเพียนคู่ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก พร้อมสร้อยกามช้าง
ปลาตะเพียนนั้นตามความเชื่อแต่โบราณเกี่ยวกับเครื่องรางที่บูชาแล้วให้ผลเรื่องการค้าขาย โชคลาภ เงินทอง ปลาตะเพียนจะมีฤทธิ์มีเดชแบบค่อยเป็นค่อยไปดังภาษิตที่ว่า “น้ำซึมบ่อทราย”แล้วยังให้พุทธคุณในเรื่องความร่มเย็นเป็นสุข ช่วยพยุงและเสริมฐานะค่อยเป็นค่อยไปแก่ผู้บูชาด้วย ซึ่งหาได้ยากในหมู่เครื่องรางด้วยกัน
ปลาตะเพียนจะมีกำเนิดมาจากความเชื่อหลากหลาย เช่น สืบเนื่องมาการเสวยพระชาติเป็นปลาตะเพียนเพื่อการสั่งสมบุญบารมีของพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง บ้างก็ว่าเนื่องด้วยปลาตะเพียนเป็นสัตว์น้ำที่หากินคล่องแคล่ว กินอาหารง่าย ปราดเปรียวกว่าปลาประเภทอื่น บ้างก็ว่าชื่อของปลาตะเพียนนั้น คำว่า “เพียน” ซึ่งเป็นคำท้ายนั้นออกเสียงคล้ายกับคำว่า “เพียร” ซึ่งหมายถึงความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และรวมไปถึงการขยันทำมาหากินอีกด้วย
หลวงพ่อจง แห่งวัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา ท่านได้สร้างปลาตะเพียนขึ้นมาเป็นเครื่องรางที่เราได้รู้จักกันทุกวันนี้ โดยถูกต้องตามตำราบังคับและเมื่อพิจารณาตัวปลาตะเพียนจะต้องมีลักษณะสมส่วนและดูมีชีวิตจริง ๆ รวมไปถึงจะต้องมีการอาการพลิ้วไหวเหมือนกำลังแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำ ส่วนที่ขาดไม่ได้คือจะต้องมีการสร้างเป็นคู่เสมอ ดังที่โบราณเรียกว่า “ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง”ซึ่งมีความหมายแฝงถึงความเจริญก้าวหน้าเหมือนปลาที่สืบสายพันธุ์ต่อไปไม่มีวันหมด และยังหมายรวมไปถึงการครองชีวิตร่วมกันอย่างผาสุก (สำหรับคู่แต่งงาน)
ท่านจะลงยันต์ อักขระ หัวใจพระคาถาต่าง ๆ กำกับลงบนตัวปลาพร้อมกับปลุกเสกด้วยมนต์ต่าง ๆ ตามตำราบังคับจนปลาตะเพียนนั้นมีอาการขยับเขยื้อนเหมือนมีชีวิตจึงเป็นอันเสร็จ ในเรื่องของพระคาถา อักขระยันต์ที่มาการลงที่ตัวปลาตะเพียนนั้นจะเป็นหัวใจพระคาถาที่มีอานิสงส์ทางลาภสักการะ เมตตา มหานิยม อาทิ นะชาลีติ(หัวใจพระสีวลี) นาสังสิโม (หัวใจพญาเต่าเลือน) อุอากะสะ (หัวใจมหาเศรษฐี) นะมะพะทะ (ตั้งธาตุทั้ง 4) ยันต์ตรีนิสิงเห (เมตตา โชคลาภ) เป็นต้น
ในเรื่องของเคล็ดบูชาปลาตะเพียนให้เห็นผลเร็วต้องแขวนไว้บนเพดานหรือในที่สูงเพื่อให้ปลาตะเพียนสามารถหมุนรอบตัวเองได้โดยไม่ติดหรือชนกันเอง หากเป็นร้านค้าให้หันหน้าปลาตะเพียนออกไปทางหน้าร้าน
|