พระกริ่งพระชัยวัฒน์ของสำนักวัดสุทัศน์ มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากใน แวดวงพระเครื่องเป็นที่ปรารถนาของบรรดานักสะสมพระหล่อพระเทพพระเททั้งหลาย ด้วยนิยมในพิธีกรรมอันเป็นเลิศเคร่งรัดในฤกษ์ผานาที ตลอดจนการตกแต่ง การกระแสโลหะอันงดงาม แต่ราคาพระกริ่งพระชัยสำนักวัดสุทัศน์ล้วนเป็นหมื่นเป็น แสนจนหลายคนจรดไม่ลง กระนั้นสำนักแห่งนี้ก็ยังมีของดีเป็นของเก่าสร้างในสมัย ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) ให้เล่นหาสะสมอีกมากมายหลายอย่าง พระเหล่านี้สร้างที่วัด สุทัศน์ด้วย เชื้อชนวนพระกริ่ง พระชัยของเก่าที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) สร้างพระกริ่งในยุคต้น ๆ แถมราคาเช่าหายังถูกสตางค์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของ นักสะสมพระหล่อพระเทสายวัดสุทัศน์ ถ้ารู้จักเล่นหาและรู้จักของก็ช่วยทุ่นกระเป๋าเบาตัว ในยามที่เศรษฐกิจยังมีปัญหาได้มากทีเดียว
ในปี พ.ศ. 2483 ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) เป็นแม่กองการสร้างพระกริ่ง รุ่นฉลองสุพรรณบัฏในสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ในห้วงเวลานั้น บ้านเมืองเริ่มคุกรุ่น ด้วยกลิ่นควันสงคราม ประชาชนและนักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องดินแดนอินโดจีน อันมีหลวงพระบาง จำปาสักในลาว และพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ในกัมพูชา คืนจากฝรั่งเศส พระอาจารย์เจ้าทั้งหลายเห็นเค้าสงคราม จึงได้มอบพระเครื่องมากมาย เพื่อแจกบำรุงขวัญแก่ทหารหาญของชาติซึ่งได้รับคำสั่งจากท่านผู้นำคือ จอมพลแปลก พิบูลสงครามให้เตรียมพร้อมเต็มที่ และตลอดเวลา ระหว่างที่เรากำลังเจรจาขอดินแดน คืนจากฝรั่งเศสโดยการหนุนหลังของญี่ปุ่นด้วยการส่งอาวุธให้ไทยอย่างลับ ๆ นั้น ทางวัดสุทัศน์โดยสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ได้มีพระบัญชาให้ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) ทำการสร้างพระเครื่องจำนวนถึง 84,000 องค์ มอบแก่ทางราชการทหารและแจกแก่ ประชาชนด้วย
พระเครื่องที่สร้างในคราวนั้นเอาความรวดเร็วให้ทันการเข้าว่า มีพระชัยวัฒน์ เนื้อผงห้าเหลี่ยม เนื้อขาวและเทา และยังมีพิมพ์พระชัยกลีบบัว พระพิมพ์นางพญาพิษณุโลก พิมพ์พระนางเสาร์ห้า พระสามเหลี่ยมนั่งพิมพ์สมาธิและมารวิชัย พิมพ์พระสมเด็จ พิมพ์พระรอด พระบางอย่างในรุ่นนี้มีเนื้อดินปะปนมาด้วยเช่นพระชัยวัฒน์ห้าเหลี่ยม และพระนางพญานอกจากพระเนื้อผงและเนื้อดินแล้ว ยังมีพระประจำวันขนาดเล็กอันเป็น การสร้างแบบประหยัดเนื้อทองเหลือง เพราะอยู่ในภาวะสงคราม ทองเหลืองเป็นยุทธ ปัจจัยที่มีราคาค่างวดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ก็ให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสเลือกใช้ตามกำลังวัน ของตน การสร้างวัตถุมงคลคราวนี้เป็นภาระหนักมาก ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) ได้มอบหมาย จากสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ให้เป็นแม่กองใหญ่ มีพระครูใบฎีกา (เจ้าคุณศรีฯ ประหยัด) พระครูอาจารย์เกลี้ยง ตลอดกระทั่งพระครูอาคมสุนทร (มา) ซึ่งยังอยู่วัดเลียบเชิง สะพานพุทธ ได้ได้รับนิมนต์มาให้ช่วยงานการสร้างครั้งนี้ด้วย
ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) ตอนนั้นได้รับการถ่ายทอดวิชาการต่าง ๆ จาก ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) แล้ว และได้รับหมายให้สร้างพระกริ่งหน้าอินเดียเป็น ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 ท่านเจ้าคุณสมเด็จได้ตรัสกับบรรดาลูกศิษย์และญาติโยมเสมอ ว่า "ต่อไปกาลข้างหน้า มหาสนธิ์ จะมาแทนฉัน" และก็เป็นจริงตามนั้น ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) นับเป็นเพชรเม็ดที่สองแห่งสำนักวัดสุทัศน์สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ในการสร้าง พระกริ่งและพระชัย
และถ้าจะกล่าวเป็นการภายในอันได้ความมาจากบรรดาลูกศิษย์เก่าสายวัดสุทัศน์ ทราบว่ากำลังหลักอีกท่านหนึ่งในการสร้างพระเครื่องของสำนักวัดสุทัศน์นอก เหนือจาท่าน เจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) แล้ว ยังมีพระครูอาคมสุนทร (มา) วัดเลียบ ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมเป็น เยี่ยมและเชี่ยวชาญการทำสูตรลบผงและลงอักขระต่าง ๆ ขณะนั้นท่านยังอยู่วัดเลียบ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ได้นิมนต์ให้มาช่วยงานทุกครั้งในคราวสร้างพระปี พ.ศ. 2483 คราวนั้น ท่านได้มาช่วยเช่นกัน
ช่วงสงคราม พันธมิตรได้ทิ้งระเบิดหมายบดขยี้ญี่ปุ่นในเมืองไทย สะพานพุทธ สถานีรถไฟ บางกอกน้อย สถานีรถไฟหัวลำโพง โรงไฟฟ้าวัดเลียบ สะพานพระรามหก ล้วนเป็นเป้าหมายในการทิ้งระเบิดจากฝูงบินบี 29 อย่างหนัก ที่สะพานพุทธระเบิดได้ลง วัดเลียบจนเสียหายเกือบหมด คงเหลือพระเจดีย์องค์เดียว ครั้งนั้นได้พบพระเนื้อชินตะกั่ว จำนวนหนึ่ง วัดเลียบเสียหายขนาดหนัก หลังสงครามแล้วทางราชการก็ยังไม่มีงบประมาณ ที่จะสร้างวัดเลียบใหม่ วัดเลียบจึงถูกยุบมารวมกับวัดสุทัศน์ที่อยู่ไม่ห่างกัน อยู่บนถนน ตีทองเดียวกัน
การลงแผ่นทองชนวนในการสร้างพระประจำวันปี 2483 นั้น พระครูอาคมสุนทร ได้ลงอักขระแผ่นทองไว้มาก การทำสูตรลบผงและการจารชนวนว่ากันเต็มตำรับตามที่ท่าน เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงกำชับ นั่นคือการทำสูตรลบผงจารชนวน 108 อัน ได้แก่ พระยันต์ประทุมจักร พระยันต์พระควัมบดี พระยันต์พระไตรสรณคม พระยันต์ว โลกุตรธรรม พระยันต์พระนรา พระยันจตุราริยสัตย์ พระยันต์รัตนตรัย พระยันต์จักรสิร โลก พระยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า พระยันต์พระบารมี 30 ทัศ พระยันต์สุกิตติมา พระยันต์ปถมัง พระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ พระยันต์องครักษ์ พระยันต์โสฬสมงคง พระยันต์พระพุทธคุณ พระยันต์นวภา พระยันต์พระชฎามหาพรหม พระยันต์จตุโร และยังมีนะปถมังอีก 14 นะ ดังนี้คือ นะบังสมุทร นะจาคบาสก์ นวชิราวุธ นะทน นะกำจาย นะปรีชาทุกทิศ นะครอบจักรวาล นะบังไตรภพ นะบังเมฆา นะสะท้านดินไหว นะกำจัด นะปิด นะปิดอากาศ นะล้อม
พระชุดประจำวันขนาดเล็กรุ่นนี้ ยังมีพระพิมพ์อื่นที่ไม่ใช่พระประจำวันด้วย ได้แก่ พิมพ์พระพุทธกวัก พิมพ์ห้าเหลี่ยมสมาธิอุ้มบาตร พิมพ์ปางห้ามสมุทร เป็นต้น เนื่องจากเป็นพระที่เทอย่างรีบเร่ง เพื่อให้ทันแจก เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองสุกงอม มาก กระแสเนื้อพระคราวนี้มีทั้งเหลือง และเหลืองเขียวผิวกลับน้ำตาล แต่ทุกกระแสผิวต้อง แห้งพระอายุการสร้างตกจนบัดนี้ถึง 60 ปี ผิวพระจึงย่อมสดไปไม่ได้เด็ดขาด นอกจากเป็นของเก๊เท ใหม่เท่านั้น ที่น่าสังเกตคือ ผิวพระโดยมากจะพรุนเป็นรูยิบ ๆ เป็นการหล่อแบบพื้นบ้านธรรมดา ไม่ใช่ใช้กรรมวิธีซับซ้อนสมัยใหม่อย่างใด ส่วนที่เป็นผิวไฟเดิมเคยแดงอ่อน ๆ กาลเวลาผ่านมาหลายสิปปี ผิวก็กลับสีน้ำตาลเข้มสวยงาม ท่านที่เคยเห็นของหล่อในยุคสงครามมามากพอสมควร เห็นปุ๊บสามารถบอกเก๊แท้ ได้ทันที การเล่นหาพระนี้จึงไม่ยาก
ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) ประเดิมสนองพระบัญชาท่านเจ้าประคุณสมเด็จเป็น แม่กองการสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 เริ่มแต่พระกริ่งหน้าอินเดีย และพระชัยน้ำเต้าเอียง, พ.ศ. 2483 พระกริ่งพระชัยฉลองพระสุพรรณบัฏ, พ.ศ. 25484 พระกริ่งพระพุทธนิมิตร หลังตอกฉัตร 3 ชั้น และพระชัยวัฒน์, พ.ศ. 2485 พระกริ่งประภามณฑลรุ่น 1-2-3-4 พระกริ่งรุ่นน้ำท่วม พระกริ่งเสาร์ห้า พระชินสีห์ และนางเสาร์ห้า, พ.ศ. 2486 พระกริ่งก้นถ้วยเล็ก พระกริ่งเชียงตุง, พ.ศ. 2487 พระกริ่งประภามณฑล รุ่น 5 พระชัยวัฒน์, พ.ศ. 2488 พระกริ่งบาเก็ง รุ่น 1 และ 2 พ.ศ. 2488 พระกริ่งบาเก็ง รุ่น 3, พ.ศ. 2489-2490 พระกริ่งบาเก็ง รุ่น 4 พระกริ่งจาตุรงคมุนี, พ.ศ. 2490 พระกริ่งบา เก็ง รุ่น 5 พระกริ่งนวโลกุตรญาณมุนี, พ.ศ. 2491 พระกริ่งก้นถ้วยใหญ่ พระกริ่งแบบหนองแส พิมพ์ใหญ่, พ.ศ. 2493 กริ่งหนองแสพิมพ์ใหญ่ หรือกริ่งใหญ่ รุ่นเทโว, พ.ศ. 2495 พระกริ่งทองทิพย์ อันเป็นกริ่งรุ่นสุดท้าย เพราะท่านมรณภาพหลัง พิธีเทพระกริ่งนี้ไม่ถึงเดือน
ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) เป็นศิษย์พระกราจารย์สองสำนัก คือ เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ท่านเป็นชาวอำเภอ พระพุทธบาท จ.สระบุรี ชาตะเมื่อ พ.ศ. 2446 เมื่ออายุได้ 11 ขวบ โยมมารดาของท่านได้พามาฝากอยู่ที่คณะ 15 วัดสุทัศน์ พ.ศ. 2458 อายุ 13 ปี บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสุทัศน์นั่นเอง ปีต่อมาได้เดินทางไปอยู่กับหลวงปู่บุญ ที่วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม อยู่ได้ปีเดียว และได้รับการสอนสั่งจากหลวงปู่บุญอย่าง เคร่งครัด ก็ลากลับวัดสุทัศน์ด้วยความอาลัยยิ่งของหลวงปู่บุญ พ.ศ. 2466 ได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดสุทัศน์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เป็นพระอุปัชฌาย์และจำพรรษา ณ วัดสุทัศน์ เรื่อยมา โดยเป็นศิษย์ก้นกุฏิในท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทำงานแทนท่านทุกอย่างตามที่ได้รับพระบัญชาด้วยความเรียบร้อยและถูกพระทัย เป็น อย่างมาก น่าเสียดายว่าท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) ถึงแก่มรณภาพเมื่ออายุได้เพียง 49 ปี เมื่อ พ.ศ. 2495 ด้วยอาการเจ็บป่วยอันเนื่องจากการตรากตรำทำงานหนักของท่าน ก่อนมรณภาพไม่นานวัน ท่านพูดเป็นนัยว่าเอ้า ใครจะเอาอะไรก็ขอซะนะ ป่วยคราวนี้คง อยู่ได้ไม่นาน เพราะร่างกายมันกระเสาะกระแสะเต็มที แล้วท่านก็จากไปตามที่ท่านได้พูด ทิ้งท้ายไว้
|