มวลสารที่ใช้สร้างประกอบด้วย ดอกไม้อุโบสถส่วนหนึ่ง ธรรมใบลานเก่าและพับหนังสา ส่วนหนึ่ง ใบสรี หรือใบโพ ที่เก็บได้จากต้นโพ จำนวน 108 ต้น ส่วนหนึ่ง นำมวลสารเหล่านี้มาสับให้เป็นชิ้น ๆ ตากให้แห้ง แล้วคั่วในกระทะใบใหญ่จนกรอบมีสีดำ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะผงถ่านนำมาผสมกับยางรักที่กรองแล้วคลุกเคล้าจนเหนียวพอปั้นเป็นองค์ได้ แม่พิมพ์ปั้นจากดินเหนียวเผาไฟจนแกร่ง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะขัดราชวัตรแวดล้อมพร้อมตั้งเครื่องบวงสรวงพลีกรรมตามธรรมเนียมอย่างล้านนา เทเส้นเกสาครูบาเจ้าลงบนผ้าขาว แล้วปั้นสมุกคลุกรักให้พอองค์ นำมาแตะกับเส้นเกศาแล้วกดเป็นรูปพระตามแบบพิมพ์ ด้านหลังประทับตราเป็นรูปยันต์ฟ้าล้นหรือยันต์ฟ้าลั่นซึ่งผ้าขาวดวงต๋าเล่าว่า เป็นยันต์ที่ครูบาเจ้าฯนิยมใช้ เมื่อเสร็จแล้วนำพระเกศาทั้งหมดผึ่งลมจนแห้งสนิทเป็นเวลาเดือนครึ่ง ก่อนจะนำเข้าพิธีปลุกเสกร่วมกับวัตถุมงคลของท่านครูบาน้อยแห่งวัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ในปีเดียวกัน แล้วแบ่งพระเกศาที่สร้างในครั้งนี้ออกเป็นสามส่วนเท่า ๆ กัน ตนเองเก็บไว้เพียงส่วนเดียวเพื่อไว้แจกแก่ผู้ที่นับถือครูบาเจ้าฯ
วิธีการสร้างพระเกศา ตามที่ผู้เขียนได้เขียนเล่ามานี้ คงพอประมาณได้ว่าการสร้างพระเกศาในอดีตนั้นเป็นอย่างไร อาจไม่ตรงเสียทั้งหมด จึงได้ใช้คำว่า ประมาณเอา ส่วนการสร้างพระเกศารุ่นนี้อาจจะแปลกจากรุ่นอื่น ๆ ในอดีต กล่าวคือได้พระเกศาพิมพ์เดียวกันเป็นจำนวนมาก เพราะพระเกศาครูบาเจ้าฯในยุคต้นที่เราท่านพบส่วนมากไม่ซ้ำพิมพ์กัน
คำไหว้
อะยัง วุจจะติ สิริวิชะโย นามะ มหาเถโร อุตตะมะสีโล นะระเทเวหิ ปูชิโต โส ระโห ปัจจะยาทีนัง มะหะลาภา ภะวันตุ เม อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะโส สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิฯ
จากหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์
โดย วิลักษณ์ ศรีป่าซาง