เหรียญรุ่นแรกครูบากฤษดา (พระโพธิญาณ) "เหรียญแห่งการรอคอย" ถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ผมเคยปรารถกับท่านครูบาท่านว่า "ครูบาน่าจะสร้างเหรียญรุ่นแรกที่เป็นเหรียญรูปครูบานะครับ" ณ เวลานั้น ครูบาท่านตอบผมว่า "ยังไม่ถึงเวลา และยังไม่มีวาระของเราที่จะสร้างเหรียญที่มีรูปเหมือนเรา อยู่บนเหรียญ" ผมถามต่อด้วยความสงสัยว่า "แล้วเมื่อไหร่หละครับที่จะถึงเวลานั้น" ท่านครูบาก็ตอบผมว่า "เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้กำหนด เมื่อถึงเวลาแล้ว เราจะบอกเธอเอง เราต้องทำวัดนี้ให้ดี เพราะต่อไปภายหน้าจะมีคนมาทำบุญกันมาก มีคนมากราบขอพรกับพระเจ้าแดงมาก" นั่นคือคำพูดที่ครูบาท่านบอกผมไว้เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน..และผมก็ไม่เคยถามท่านเรื่องเหรียญรุ่นแรกอีกเลย จนกระทั่งเดือนกันยายน พ.ศ 2555 ผมได้มีโอกาสขึ้นไปกราบท่านที่วัดสันพระเจ้าแดง และถามท่านอีกครั้งว่า "ไม่ทราบว่าถึงเวลา และวาระที่จะสร้างเหรียญรุ่นแรกของครูบา หรือยังครับ" คราวนี้ท่านตอบผมว่า "ถึงเวลา และเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านให้สร้างได้แล้ว เราและวัดจะเป็นผู้จัดสร้างและออกทุนเหรียญนี้เอง เธอช่วยเราดำเนินการก็พอนะ" ผมรู้สึกปลาบปลื้มและยินดีเป็นอย่างที่สุดที่จะได้ช่วยเหลือท่านในการครี้งนี้ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ผมเริ่มติดต่อหาช่างฝีมือดี ที่จะมาทำงานนี้ให้ครูบาท่าน แน่นอนว่าชื่อนายช่างเกษม มงคลเจริญ นายช่างชั้นครูฝีมือขั้นเทพ มีอยู่ในความคิดของผมที่จะให้ท่านมาช่วยงานเหรียญรุ่นแรกของครูบาท่าน แต่ผมมาทราบภายหลังว่า ด้วยวัยกว่า 80 ปีทำให้นายช่างเกษม ได้วางมือจากการทำงานเหรียญไปเสียแล้ว ผมจึงต้องแสะหาช่างฝีมือดีท่านอื่นที่จะมารับงานนี้ ผมได้ชื่อนายช่างมาทั้งหมด 3 ท่าน จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในการสร้างเหรียญ หนึ่งในนั้น คือ ช่างประหยัด ลออพันธ์สกุล (ช่างอ๊อด) ศิษย์ผู้น้องของช่างเกษม มงคลเจริญ ณ เวลานั้นผมเองไม่รู้จักนายช่างท่านใดเลย ผมได้นำชื่อของนายช่างทั้ง 3 ท่าน นี้มาให้ครูบาท่านเลือกว่าจะให้ใครทำงานเหรียญรุ่นแรกนี้ให้กับท่านครูบา พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ผมได้รับมากับครูบาว่า ช่าง 2 ท่านแรกที่ไม่ใช่นายช่างประหยัด กำลังโด่งดังมากในเวลานี้ เป็นช่างหนุ่มไฟแรง สายตาดี ทำงานเร็ว เร่งเวลาได้ แต่ส่วนนายช่างประหยัด อายุมากแล้ว ทำงานช้ามาก เร่งงานก็ไม่ได้ ผมได้นำข้อมูลทั้งหมดให้ครูบาท่านรับทราบเพื่อตัดสินใจ และเพื่อที่ผมจะได้ทำการติดต่อนายช่างที่ครูบาท่านได้เลือกไว้ เวลาผ่านไป 1 คืน ครูบาท่านตอบผมกลับมาว่า "ฉันเลือกนายช่างประหยัดทำงานนี้" ด้วยความสงสัย ผมจึงถามหาเหตุผลจากท่านครูบาว่า ทำไมถึงเลือกนายช่างประหยัด ท่านตอบเพียงว่า "เราชอบชื่อนี้ ไม่รู้จักเค้าหรอก เห็นว่าชื่อประหยัด ก็น่าจะช่วยเราประหยัดปัจจัยในการสร้างเหรียญรุ่นนี้ได้บ้าง" ผมจึงเริ่มติดต่อนายช่างประหยัด ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ 2555 เป็นต้นมา หลังจากที่ครูบาท่านได้พิจารณาเลือกนายช่างประหยัด(ช่างอ๊อด) ทำงานเหรียญรุ่นแรกนี้ให้กับท่าน ผมก็ได้พยายามติดต่อช่างอ๊อด โดยเริ่มติดต่อกับช่างอ็อด ทางโทรศัพท์ ซึ่งในตอนนั้น ช่างอ๊อด ไม่ยอมรับงานนี้ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีเวลาเพียงพอ และไม่รู้จักท่านครูบากฤษดา สุเมโธ ผมได้พยายามติดต่อกลับไปที่ช่างอ็อด อีกหลายครั้ง แต่ผลก็เหมือนเดิม คือ ช่างอ็อด ยังไม่ยอมรับงานนี้ และไม่ยินดีที่จะให้ผมได้เข้าพบ ผมได้นำเรื่องทั้งหมดนี้แจ้งให้ครูบาท่านรับทราบ แต่ดูเหมือนท่านไม่ได้วิตกกังกลใดๆ ท่านได้แต่ยิ้ม และบอกผมว่า “เทวดา ท่านได้กำหนดไว้แล้ว อีกไม่นานเธอจะได้พบเจอกับนายช่างคนนี้” และนี่ก็เป็นคำพูดของครูบาท่าน ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกได้ว่าท่านคงหยั่งรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหน้าไว้แล้ว และผมก็ได้ประจักษ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2555 ช่างอ็อด ได้โทรเข้ามาหาติดต่อผม และเรียกให้ผมเข้าไปพบ เพื่อพูดคุยในรายละเอียดของงานเหรียญรุ่นแรกของครูบากฤษดา สุเมโธ ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสพบกับช่างอ็อด ผมได้นำรูปถ่ายของครูบาท่านติดตัวไปให้ช่างอ๊อดได้ชมด้วย ประโยคแรกที่ช่างอ็อด เอ่ยพูดออกมาหลังจากได้เห็นภาพของครูบาแล้ว คือ “ครูบากฤษดา ท่านเป็นพระหนุ่มหรือนี่...ดูท่านคล้ายคล้ายกับหลวงพ่อลี วัดอโศการาม มากเลย...โดยเฉพาะโครงรูปหน้ายิ่งเหมือนมาก...ผมเกรงว่าแกะพิมพ์ออกมาแล้วจะไปเหมือนหลวงพ่อลี แล้วหละซิ” ผมได้แต่นั่งอมยิ้ม เพราะนึกถึงคำพูดของครูบาที่เคยบอกผมก่อนหน้านี้ไว้ว่า”หลวงพ่อลี แห่งวัดอโศการาม นี้ คือ พระอรหันต์อีกรูปหนึ่ง ที่ฉันเคารพนับถือมาก ท่านคือพระเจ้าอโศกมหาราช กลับชาติมาเกิด ท่านละสังขารเร็ว เพราะท่านปรารถนา และหลวงพ่อลีท่านก็เป็นพระสายเดียวกับเรา คือ สายพระอุปคุต” ในที่สุดช่างอ๊อดก็ตกลงรับคำที่จะทำงานเหรียญรุ่นแรกนี้ให้กับท่านครูบากฤษดา แต่ก็ย้ำเน้นว่า “อย่าเร่งงานผมนะครับ งานผมเป็นงานแกะสดด้วยมือ ผมทำงานคนเดียวทุกขั้นตอน ผมรับปากไม่ได้ว่างานนี้จะเริ่มได้เมื่อไหร่ และจะเสร็จเมื่อไหร่ ผมมีงานที่ยังไม่แล้วเสร็จอีกหลายชิ้น” แต่อย่างน้อยการตกปากรับคำของช่างอ็อด ก็ทำให้ผมสบายใจขึ้นมาได้บ้าง แม้ว่าจะยังไม่มีวี่แวววันกำหนดเสร็จของเหรียญรุ่นนี้ก็ตาม ผมได้แจ้งเรื่องราวทั้งหมดให้ครูบาท่านรับทราบอีกครั้ง พร้อมทั้งนำคำถามที่ช่างอ็อดต้องการทราบในเรื่องของรูปแบบ และรายละเอียดของเหรียญที่ครูบาท่านต้องการมาปรึกษาหารือกับท่านหลังจากนั้น “ฉันชอบเหรียญแบบครูบาศรีวิชัย เป็นรูปไข่แอ่งกระทะ ครึ่งตัว ส่วนยันต์และอักขระก็เอาตามเหรียญครูบาศรีวิชัย ส่วนอื่นๆ ก็แล้วแต่นายช่างประหยัด ก็แล้วกัน” ผมได้นำความทั้งหมดนี้แจ้งกลับไปที่ช่างอ๊อด พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับครูบาท่านให้ช่างอ๊อดได้ฟัง เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบเหรียญเบื้องต้น และด้วยความที่ช่างอ็อดอยากให้เหรียญนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของครูบาท่านเอง ไม่อยากให้เหรียญรุ่นแรกนี้ไปเหมือนกับเหรียญครูบาศรีวิชัยจนเกินไป ช่างอ็อดจึงได้เขียนแบบเหรียญออกมาดังภาพที่ได้ปรากฏแก่สายตาทุกท่านไปแล้ว ซึ่งก็เป็นที่พอใจแก่ครูบาท่านด้วยเช่นกัน โดยรายละเอียดที่ปรากฏบนเหรียญรุ่นแรกนี้ ครูบาท่านเมตตานำมงคลอันสูงสุดมาไว้ให้แก่เหล่าบรรดาลูกศิษย์และผู้ที่มีจิตศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นยันต์อักขระขอมทั้ง 4 แนว ที่ช่างอ๊อดได้จัดเรียงใหม่ให้อยู่บริเวณขอบด้านหลังเหรียญ ขั้นด้วยดอกบัว 4 ดอก ซึ่งดอกบัวนี้ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งท่านพระอุปคุต และท่านครูบากฤษดา อักขระขอมทั้ง 4 แนว ที่ว่านี้ เป็นคาถาให้พร มีความหมายว่า สพฺพพุทฺธานุภาเวน ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง สพฺพธมฺมานุภาเวน ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง สพฺพสงฺฆานุภาเวน ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทั้งหลาย นอกจากนี้ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ก็เป็นพระยันต์อันสุดยอดของมหายันต์ต่างๆ “นะ โม พุท ธา ยะ” ที่ประกอบกันเป็นคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ หรือเรียกว่า แม่ธาตุใหญ่” ซึ่งมีพุทธคุณเหนือยันต์ทั้งปวง รวมทั้งความเชื่อสืบต่อกันว่า “ผู้ใดที่ท่องหรือบริกรรมพระคาถาบทนี้ด้วยจิตอันสงบและมั่นคงแล้ว จะมีพุทธคุณคุ้มครองครอบจักรวาล” นะ หมายถึง พระกุกกุสันโธ ใช้เขียนแทน ธาตุน้ำ ซึ่งเรียกว่าอาโปธาตุ มีกำลัง 12 โม หมายถึง พระโกนาคม ใช้เขียนแทน ธาตุดิน ซึ่งเรียกว่า ปฐวีธาตุ มีกำลัง 21 พุท หมายถึง พระกัสสป ใช้เขียนแทน ธาตุไฟซึ่งเรียกว่า เดโชธาตุ มีกำลัง 6 ธา หมายถึง พระสมณะโคดม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ใช้เขียนแทน ธาตุลม ซึ่งเรียกว่า วาโยธาตุ มีกำลัง 7 ยะ หมายถึง พระศรีอารยเมตไตรย (พระพุทธเจ้าองค์ถัดไป หลัง พ.ศ.5000) ใช้เขียนแทน อากาศธาตุ มีกำลัง 10 อีกทั้งครูบาท่านยังเมตตาให้เพิ่มยันต์ “ยันต์พระภควัม” หรือ “ยันต์น้ำเต้า” ใส่ซ้อนในยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านนับถือ ไม่ว่าจะเป็นพระคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ธมมวิตักโก ภิกขุ) หรือในอีกนามที่เรียกกันสั้นๆว่า "ท่านเจ้าคุณนร" และหลวงปู่พิศดู ที่จารึกยันต์นี้ไว้ในเหรียญรุ่นแรกของท่านไว้ด้วยเช่นกัน ยันต์น้ำเต้าประกอบด้วยอักขระขอม 6 ตัว บรรจุอยู่ภายในวงกรอบ เรียงซ้อนกันสามชั้น ลดหลั่นตามลำดับ เมื่อมองดูรูปทรงสัณฐานวงนอกแล้ว ก็จะเห็นคล้ายกับพระภควัมบดี หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “พระสังกัจจายน์” พระอรหันต์สาวกที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล ตัวอักขระขอมทั้งหมด ที่บรรจุอยู่ใน “ยันต์พระภควัมบดี” นั้น แต่ละตัวมีความหมายพอจะกล่าวได้ดังต่อไปนี้ 1. อักษรตัวบนสุด อันนับเป็นแถวแรกนั้น ก็คือ “อะ” ย่อมาจากคำเต็มว่า “อรหัง” อันหมายถึง องค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 2. อักษรแถวกลาง หรือแถวที่สองนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ตัว คือ “อุ” กับ “มะ” “อุ” นั้น ย่อมาจากคำเต็มว่า “อุตตมธรรม” อันหมายถึง พระธรรมอันยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบ แล้วทรงนำมาเผยแผ่ให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก ส่วน “มะ” นั้น ย่อมาจากคำเต็มว่า “มหาสังฆะ” ได้แก่ พระสงฆ์หมู่ใหญ่ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธองค์ เจริญรอยพระยุคลบาท ดำรงพระศาสนา สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ 3. ส่วนอักขระแถวล่างสุดคือแถวที่สาม ในยันต์นั้นมีอยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ “พะ” “ฆะ” และ “อะ” “พะ” ย่อมาจากคำเต็มว่า “พุทธ” “ฆะ” ย่อมาจากคำเต็มว่า “โฆษะ” “อะ” ย่อมาจากคำเต็มว่า “อาจารย์” เมื่อรวมอักขระแถวล่างสุดด้วยกันทั้งหมดแล้ว ก็จะเป็นคำเต็มที่ว่า “พุทธโฆษาจารย์” อันเป็นราชทินนามตามสมณศักดิ์ ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเจ้าคุณนรฯ นั่นเอง รวมความว่า “ยันต์พระภควัม” หรือ “ยันต์น้ำเต้า” นี้ ได้รวมเอาสัญลักษณ์ของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์พระรัตนตรัย นอกจากนี้รูปพระภควัมบดีนั้นเป็นที่รวมไว้ซึ่งสิ่งอันประเสริฐสุด ทั้งยังเป็นเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้โชคดี มีโชคลาภ และมีลาภเพิ่มพูนอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ครูบากฤษดา ท่านได้พิจารณาแล้วว่าเป็นมงคลอันประเสริฐสูงสุดที่จะมอบให้แก่เหล่าบรรดาลูกศิษย์สืบไป และพวกเราเหล่าบรรดาลูกศิษย์ขอให้ภาคภูมิใจเถอะว่า เหรียญรุ่นแรกพระโพธิญาณนี้ ครูบาท่านตั้งใจและคิดพิจารณาไว้อย่างดีครบถ้วนทุกประการแล้ว หลังจากที่ได้รูปแบบเหรียญ และทราบถึงความหมายของอักขระแต่ละตัวบนเหรียญรุ่นแรกกันไปแล้ว ผมก็ขอเล่าถึงที่มาของคำว่า “พระโพธิญาณ” สักหน่อย เดิมทีนั้น เหรียญรุ่นแรก(พระโพธิญาณ) นี้ได้ถูกตั้งชื่อไว้มากมายหลายชื่อ ทั้งจากทางผม และลูกศิษย์ท่านอื่นๆ ซึ่งพวกเราล้วนแต่ตั้งชื่อตามกิเลสที่เรามีอยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคำว่า รวย มั่นคง รุ่งเรือง โชคลาภ ปลอดภัย หรืออะไรทำนองนี้ ผมได้รวบรวมชื่อทั้งหมดให้ครูบาท่านพิจารณา ท่านตอบว่า “ชื่อทั้งหมดที่ตั้งกันมานี้ ไม่ใช่วิถีทางของเรา เราไม่อยากให้ผู้ใดงมงาย หรือยึดติดสิ่งเหล่านี้ มันไม่ใช่ธรรมะ แม้แต่คำว่ารุ่นแรก เราก็ไม่อยากใส่ไว้บนเหรียญ คนจะได้ไม่ยึดติด” ผมเรียนถามท่านต่อว่า “แล้วจะให้ชื่อว่าอะไรดีหละครับ” ท่านตอบว่า “เราขอตั้งชื่อเหรียญรุ่นแรกนี้ว่า “พระโพธิญาณ” เพราะนี่คือทางของเรา” ผมนิ่งไปชั่วขณะ อิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก เวลาต่อมาผมได้นำชื่อเหรียญรุ่นแรกนี้แจ้งให้นายช่างประหยัด หรือช่างอ็อดทราบ เพื่อที่จะได้เพิ่มคำว่า “พระโพธิญาณ” ลงบนเหรียญ และหลังจากที่ผมได้แจ้งช่างอ็อดแล้ว ช่างอ็อดพูดในวินาทีนั้นว่า “ผมขนลุกไปหมดเลย คุณเชื่อไหม ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมยังไม่เคยแกะคำว่า พระโพธิญาณ ให้กับหลวงพ่อท่านไหนเลย คำนี้เป็นคำที่สูงมากนะครับ ถ้าจะให้ผมแกะคำนี้ ผมขอใส่ไว้ด้านหน้าเหรียญนะครับ” เวลานั้นผมรู้สึกได้ว่าช่างอ็อดมีอาการนิ่งไปชั่วขณะ อิ่มเอมใจ ซึ่งเป็นอาการเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับผมมาแล้ว - เหรียญเนื้อทองแดง ใช้ทองแดงบริสุทธ ิ์ ผสมแผ่นโลหะทองแดง 9 แผ่น ซึ่งจารและอธิฐานจิตโดยพระเกจิ 9 ท่าน ที่ครูบาท่านได้เลือก ครูบาท่านยังให้ผสมก้อนชนวนมงคลเพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วย พระเกจิที่ครูบาท่านได้ให้อธิฐานจิต และจารแผ่นโลหะชนวน ทั้ง 9 ท่าน ประกอบด้วย 1. หลวงปู่สังข์ วัดป่าอาจารย์ตื้อ 2. ครูบาดวงดี วัดบ้านฟ่อน 3. ครูบาครอง วัดท่ามะเกว๋น 4. หลวงปู่ลี วัดภูผาแดง 5. หลวงปู่สนั่น วัดป่าคลองกุ้ง 6. หลวงปู่ท่อน วัดศรีอภัยวัน 7. หลวงพ่อสิริ วัดตาล 8. หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน 9. หลวงปู่แผ้ว ปวโร วัดประชาราษฎร์บำรุง (วัดรางหมัน) จัดสร้างขึ้นตามดำริของครูบากฤษดา สุเมโธ ในวาระที่ท่านอายุครบ 38 ปี ในปี พ.ศ. 2557 เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างกุฏิสงฆ์ และกำแพงวัดป่ายาง (สันพระเจ้าแดง) โดยมอบหมายให้นายช่างประหยัด ลออพันธ์สกุล (ช่างอ็อด) เป็นผู้ออกแบบ แกะพิมพ์ และปั๊มเหรียญทั้งหมด ซึ่งเหรียญทั้งหมดจะตอกโค๊ด และตอกหมายหมายเลข ยกเว้นเหรียญเนื้อนวะเต็มสูตร ชนวนมงคลไร้ห่วง ฝาบาตร และทองแดงแจกทาน จะตอกเพียงโค๊ดอย่างเดียว โดยช่างได้ทำเหรียญสำรองเผื่อเสียไว้บางส่วน ซึ่งเหรียญสำรองเผื่อเสียนี้จะตอกโค๊ด แต่ไม่ได้ตอกหมายเลข เหรียญทั้งหมดเข้าพิธีปลุกเสกตลอดไตรมาส (3 เดือน) ในปี พ.ศ. 2557
(องค์นี้เนื้อทองแดงมีเลข 3160 พร้อมจารหมึกทองตัวนะลายมือครูบากฤษดา เหรียญออกแบบได้สวยงาม พิธีใหญ่ เป็นเหรียญหลักของครูบาที่หน้าเก็บครับ)
เข้าชมรายการพระร้านกร สารภี เพิ่มเติมได้..คลิก กร สารภี ด้านล่างครับ
|