ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ "เหรียญพระมหาธาตุเจดีย์ 12 ราศี"
วงการพระเครื่องในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึง "เหรียญพระมหาธาตุเจดีย์ 12 ราศี" หลังยันต์ยอดพระคาถาไจยะเบงชร รุ่นแรก ผู้คนส่วนใหญ่จะนับเป็น เหรียญของ "หลวงปู่ครูบาเจ้าบุญปั๋น ธัมมปัญโญ" วัดร้องขุ้ม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว "หลวงปู่ครูบาเจ้าบุญปั๋น ธัมมปัญโญ ไม่ได้ปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้"
ก่อนอื่น...
อะไรทำให้คนเข้าใจว่าเป็นเหรียญหลวงปู่ครูบาบุญปั๋น
1. พระอาจารย์สิทธิพงษ์ (ท่านปุ้ย) เป็นคนลงอักขระ... ในครั้งนั้น ที่ผู้สร้าง คือคุณเนาว์ นรญาณ เดินสายกราบครูบาอาจารย์สายเหนือ ซึ่งรวมไปถึงครูบาบุญปั๋น วัดร้องขุ้ม จึงได้พบกับพระอาจารย์สิทธิพงษ์ พระอุปัฏฐากหลวงปู่ครูบาบุญปั๋น และได้เคยพูดคุยกันถึงเรื่อง "ยันต์ชินบัญชร" หรือ "ไจยะเบงชร" ของล้านนา ว่ามีรูปแบบหน้าตาเป็นอย่างไร ท่านปุ้ยจึงได้เขียนให้คุณเนาว์ดู พร้อมทั้งอธิบายกลวิธีการลงอักขระแบบม้าเต้น ที่ทำให้ได้พระยันต์ที่มีรูปแบบแปลกตา เป็นเอกลักษณ์ จนคุณเนาว์ตั้งใจที่จะนำมาใช้เป็นพระคาถาด้านหลังเหรียญ เมื่อมีโอกาส... ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นยันต์หลังเหรียญ 100 ปีครูบาอิน วัดทุ่งปุย และ "เหรียญพระมหาธาตุเจดีย์ 12 ราศี" รุ่นแรกนี้
2. ออกให้บูชาที่วัดร้องขุ้ม... หลังจากที่เหรียญนี้สร้างเสร็จ และผ่านพิธีพุทธาภิเษกจนเป็นที่พอใจของผู้สร้างแล้ว คุณเนาว์ นรญาณ ได้แบ่งเหรียญส่วนหนึ่งถวายวัดพระบาทห้วยต้ม และอีกส่วนหนึ่ง (ประมาณ 2,500 เหรียญ) ถวายไว้ที่วัดร้องขุ้ม เพื่อออกให้เช่าบูชาสมทบทุนสร้างวิหารรอบพระพุทธบาทสี่รอย ตามดำริของครูบาบุญปั๋น เมื่อครั้งที่ท่านได้ขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระบาทสี่รอยเป็นครั้งสุดท้าย ในปีพ.ศ. 2544 และเหรียญทุกเหรียญที่มีรอยจาร จะเป็นการจารอักขระ "อะระหัง" โดยพระอาจารย์สิทธิพงษ์เป็นผู้จารเหรียญทั้งหมด
3. พระอาจารย์สิทธิพงษ์ ร่วมสร้างเหรียญบรมครู... ประมาณ 3 ปีหลังจากที่ครูบาบุญปั๋นมรณภาพแล้ว พระอาจารย์สิทธิพงษ์ได้รับเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะนักศึกษาวิชาเอกดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในการจัดสร้างเหรียญบรมครู (ทางการดนตรี) ซึ่งเหรียญรุ่นนี้ ด้านหน้าเหรียญมีลักษณะการแกะพิมพ์ เป็นรูปซ้อนพระธาตุ พระพุทธรูป และรูปครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งคล้ายคลึงกับการลักษณะเหรียญพระธาตุเจดีย์ 12 ราศี ที่ซ้อนรูปพระธาตุกับพระพุทธรูป พระมหามัยมุนี... และด้วยลักษณะเหรียญที่คล้ายคลึงกันนี้ จึงทำให้มีผู้สรุปความเกี่ยวโยงกันจากเหรียญหนึ่งไปอีกเหรียญหนึ่ง (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพระอาจารย์สิทธิพงษ์เองก็มีส่วนช่วยในการออกแบบเหรียญทั้งสองรุ่น)
4. หนังสือ "ธรรมปัญญานุสรณ์" หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ครูบาเจ้าบุญปั๋น ในหน้าสีประมวลวัตถุมงคล มีภาพของเหรียญรุ่นนี้ พร้อมทั้งมีข้อความว่า "เหรียญพระเจดีย์ ๑๒ ราศี สร้าง พ.ศ.๒๕๓๕ ด้านหน้า (ด้านหลัง)" ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ว่าเป็นเหรียญของหลวงปู่ครูบาบุญปั๋น อีกทั้งการระบุปีสร้างเป็นปี พ.ศ. 2535 ซึ่งอาจจะเป็นความผิดพลาดในการพิมพ์ โดยควรจะเป็น พ.ศ.2545 ยิ่งทำให้ถูกมองว่าเหรียญนี้ "ทัน" ครูบาเจ้าบุญปั๋น
ข้อเท็จจริงก็คือ
1. เหรียญรุ่นนี้ ผู้เป็นต้นคิดสร้าง คือคุณเนาว์ นรญาณ ครั้งที่ยังเป็นนักเขียนให้กับนิตยสารพระเครื่องพุทธคุณ เป็นผู้ออกแบบ แล้วทำการติดต่อให้ช่างพิ (ช่างพิรินบูลย์) เป็นผู้แกะแบบ โดยเปิดให้จอง ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2545" ก่อนจะปั๊มเหรียญออกมา แล้วนำไปตระเวณขอบารมีครูบาอาจารย์หลายรูป อธิษฐานจิตปลุกเสก เริ่มต้นปลุกเสกครั้งแรกโดย หลวงปู่ชื้น พุทธสโร วัดญาณเสน พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 (วันที่ 6 ปลุกเสกเดี่ยวตามลำดับคือ ครูบาจันทร์ วัดสันเจดีย์ริมปิง, ครูบาอิน วัดทุ่งปุย, ครูบาคำ สำนักสุสานไตรลักษณ์, หลวงพ่อประสิทธิ์ วัดป่าหมู่ใหม่... วันที่ 7 ปลุกเสกเดี่ยว โดย ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี, ครูบาตั๋น สำนักม่อนปู่อิน และ หลวงปู่ทองดำ วัดท่าทอง... หลังจากนั้นนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกหลายวาระ) จะเห็นได้ว่า เหรียญรุ่นนี้สร้างเจร็จ "หลังจาก" ที่หลวงปู่ครูบาเจ้าบุญปั๋น วัดร้องขุ้ม ได้มรณะภาพแล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2545 (เวลา 18.09 น.) เหรียญนี้จึงไม่ทันท่านปลุกเสกแน่นอน
2. ผู้สร้าง คือคุณเนาว์ นรญาณ ได้สร้างเหรียญรุ่นนี้ขึ้นด้วยความเคารพศรัทธา ในพระคาถาชินบัญชร และรู้สึกประทับใจที่ "ล้านนา" มีกลวิธีการผูกพระคาถา (บทสุดท้าย) ไจยะเบงชร ได้อย่างแยบยล และไม่เคยปรากฎที่ไหนมาก่อน จึงได้นำมาเป็นยันต์หลังเหรียญ "หลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท" รุ่นไจยะเบงชร และในวาระไล่เลี่ยกันนั้น จึงได้สร้างเหรียญพระมหาธาตุเจดีย์ 12 ราศีนี้ขึ้นมาอีกพิมพ์หนึ่ง โดยปรับปรุงด้านหลังเหรียญจากแบบเดิมที่ทำถวายหลวงปู่ครูบาอิน ด้วยเหตุนี้ หากจะพิจารณาถึงความเกี่ยวเนื่องแล้ว เหรียญพระมาหธาตุเจดีย์ 12 ราศีนี้ จึงน่ามีความเกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่ครูบาอิน มากกว่าที่จะถูกนับเป็นเหรียญของหลวงปู่ครูบาบุญปั๋น... และจากการพูดคุยกับคุณเนาว์ ผู้สร้างเหรียญ ก็ยืนยันว่า ตนเองเจตนาให้เหรียญนี้ เป็นการสร้างเพื่อบูชาคุณครูบาอินมากกว่า...
3. จำนวนการสร้าง
- เนื้อทองคำ 2 เหรียญ
- เนื้อเงิน ประมาณ 10 เหรียญ
- เนื้อนวโลหะ จำนวน 60 เหรียญ
- เนื้อทองจังโก๋ จำนวน 5,000 เหรียญ
- เนื้อตะกั่วเถื่อน จำนวน 1,000 เหรียญ
- เนื้อทองแดง ผิวไฟ 900 เหรียญ
(เนื่องจากเนื้อเงินเป็นการสร้างแจกเฉพาะกรรมการ ไม่มีให้บูชา จึงไม่ได้มีการบันทึกจำนวนไว้)
4. เหรียญพระมหาธาตุเจดีย์ 12 ราศี รุ่นแรก สร้างโดยคุณเนาว์ นรญาณ รุ่น 2-3 สร้างโดยคุณสุธันย์ สุนทรเสวี มีลักษณะด้านหน้าและด้านหลังแตกต่างกันชัดเจน (รุ่น2-3 ไม่ทันครูบาบุญปั๋นและไม่ทันครูบาอิน)
5. พระผงพระมหาธาตุเจดีย์ 12 ราศี มีการสร้างออกมานับสิบรุ่น ส่วนใหญ่จะใช้บล็อกด้านหน้าเดิม แล้วเปลี่ยนแปลงด้านหลัง ซึ่งทุกรุ่น "ไม่ทันครูบาบุญปั๋น" (และไม่ทันครูบาอิน) ปลุกเสก
6. ในตู้โชว์วัตถุมงคลหลวงปู่ครูบาเจ้าบุญปั๋น บนกุฏิเก่าของหลวงปู่ มีข้อความระบุชัดเจนว่า เหรียญรุ่นนี้ไม่ทันหลวงปู่ครูบาบุญปั๋น แต่ถ้าหากผู้อ่านไม่ได้ไป "เห็น" ข้อความนี้ที่วัดร้องขุ้ม หรือไม่เคยมีใครบอกเล่าให้ฟัง ย่อมจะไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้แน่นอน
การนำเสนอข้อมูลข้างต้นนี้ ไม่ได้มีเจตนาเพื่อจะลดทอนคุณค่าของเหรียญพระมหาธาตุเจดีย์ 12 ราศีแต่อย่างใด ทั้งนี้ เหรียญรุ่นแรก และรุ่นต่อๆ มา รวมทั้งพระผง ล้วนมีประวัติการสร้างที่ชัดเจน มีเจตนาในการสร้างอันเป็นกุศล ผ่านการปลุกเสกจากครูบาอาจารย์ชั้นนำในยุคนั้น อีกทั้งมีรูปแบบที่สวยงาม แปลกตา สอดคล้องกับคติความเชื่อเรื่องพระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดของชาวล้านนา ผู้ที่สนใจควรที่จะมีไว้สักการะบูชา แต่ทว่า เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงควรบันทึกที่มาที่ไปและประวัติการปลุกเสก "ตามความเป็นจริง" ย่อมจะเป็นผลดีต่อผู้นิยมสะสมต่อไป
หมายเหตุ: ที่มาของข้อมูล
1. จากการสัมภาษณ์คุณเนาว์ นรญาณ ผู้สร้างเหรียญรุ่นแรก
2. เอกสารประกอบเหรียญรุ่น 2-3 โดยคุณสุธันย์ สุนทรเสวี ผู้สร้าง
3. จากนิตยสารพระเครื่อง ดังต่อไปนี้
- พุทธคุณ ปีที่ 7 ฉบับที่ 84 เดือนธันวาคม 2544 (ข้อมูลแบบร่าง และยันต์ไจยะเบงชร)
- พุทธคุณ ปีที่ 8 ฉบับที่ 93 เดือนกันยายน 2545 (ข้อมูลพระธาตุประจำปีเกิด การออกแบบเหรียญ)
- พุทธคุณ ปีที่ 9 ฉบับที่ 105 เดือนกันยายน 2545 (ข้อมูลลำดับพิธีปลุกเสก)
- พระเครื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 52 ปักษ์หลัง กันยายน 2545 (ข้อมูล 12 ราศี)
- พระเครื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 53 ปักษ์หลัง ตุลาคม 2545 (ข้อมูลรูปแบบเหรียญและการปลุกเสก)
- พระเครื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 54 ปักษ์หลัง พฤศจิกายน 2545 (ข้อมูลการสร้างและอธิษฐานจิต)
4. หนังสือ "ธรรมปัญญานุสรณ์" หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ครูบาเจ้าบุญปั๋น ธมฺมปญฺโญ วันที่ 16-22 มกราคม 2548
5. ข้อมูลจากตู้โชว์วัตถุมงคล ในวัดร้องขุ้ม
|