เหรียญหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ(วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่)
วัดเจดีย์หลวงเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เคยจำพรรษาอยู่ในสมัยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(สิริจันโท) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง และอยู่ช่วยเจ้าอาวาสสร้างพระวิหารหลวงจนเสร็จใน พ.ศ.2473 พระอาจารย์มั่น จึงได้ออกจาริกธุดงค์ ณ ที่วัดดอนมูล อ.สันกำแพง
เมื่อปี พ.ศ.2471 ขนะที่พระอาจารย์มั่น ยังจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง ได้มีพระภิกษุมหายานนิกายองค์หนึ่งชื่อ “ แหวน สุจิณโณ ” ไปกราบนมัสการ ขอเป็นศิษย์ซึ่งพระอาจารย์มั่น ได้รับไว้ แต่เนื่องจากพระภิกษุแหวน สุจิณฺโณ ยังเป็นพระมหานิกายไม่สะดวกในการทำสังฆกรรมรวมกับพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต ดังนั้นพระภิกษุแหวน สุจิณฺโณ จึงได้ญัติเป็นนิกายธรรมยุต และได้รับถ่ายทอดวิชาจากพระอาจารย์มั่น ต่อมาในปี 2473 พระภิกษุแหวน ออกจาริกธุดงค์ไปอยู่ ณ สำนักสงฆ์บ้านปง แม่แตง
เมื่อเดือน มกราคม 2517 นายศักดิ์ ศิลปานนท์ คหบดีผู้มีความเลื่อมใสและเคารพนับถือพระอาจารย์มั่น ภูริฑตฺโต ได้เข้าพบ พระเทพสารเทวี เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง ในขณะนั้น แจ้งความประสงค์จะหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ขนาดเท่าองค์จริงจำนวน 10องค์เพื่อแจกจ่ายให้วัดต่างๆ ในสายพระอาจารย์มั่น และขอใช้สถานที่วัดเจดีย์หลวงเป็นสถานที่เททอง เพราะวัดเจดีย์หลวงเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น เคยจำพรรษาอยู่ นายศักดิ์ ศิลปานนท์ จึงได้กำหนดเตรียมการเททองหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ในเดือนเมษายน พ.ศ.2517 และกราบทูลสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร (รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช) เป็นประธานในการเททองครั้งนี้ ซึ่งสมเด็จฯท่านได้ทรงเมตตารับนิมนต์ เมื่อกำหนดวันทำพิธีเททองหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่นแล้ว พระเทพสารเวที เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง มีความคิดที่จะสร้างปูชนียวัตถุ เพื่อจุดประสงค์
1.เป็นที่ระลึกในการหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น
2.พระวิหารหลวงซึ่งพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(สิริจันโท) และพระอาจารย์มั่น ได้สร้างไว้ บัดนี้ช่อฟ้าได้ชำรุดมาก สมควรจะหาปัจจัยจำนวนหนึ่งมาดำเนินการเปลี่ยนช่อฟ้า และซ่อมแซมพระวิหารหลวงและจะสร้างห้องสมุดสำหรับวัดเจดีย์หลวง เพื่อให้ภิกษุสามเณรใช้ศึกษาปฏิบัติธรรม ในการนี้จะต้องใช้เงินประมาณ 3 – 4 แสนบาท
พระเทพสารเวที ได้ปรึกษากับศิษย์ของท่านคือนายชัชวาล ชุติมา (รองผู้จัดการบริษัทไทยเงินทุน เชียงใหม่) และนายนิยม อินถา (พนักงานธนาคารกสิการไทย สาขาท่าแพ) ตกลงว่าจะสร้างปูชนียวัตถุเป็นเหรียญรูปหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ และสร้างจำนวนไม่มาก กะจำนวนให้ใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ต้องการ
-การขออนุญาต หลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ
ก่อนที่จะกล่าวเรื่องต่อไป ขอสรุปประวัติย่อของ พระเทพสารเวที เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงองค์ปัจจุบัน เพราะมีความสัมพันธ์กับการขออนุญาตสร้างเหรียญต่อหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ อยู่บ้าง
พระเทพสารเวที มีนามเดิม “ ขันติ์ ” นามสกุล “ พรหมโคตร ” เกิดเมื่อวัที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2453 บ้านเดิมอยู่ที่ปราจีนบุรี บวชเป็นสามเณร ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯเมื่อพ.ศ.2469 ต่อมาได้ไปจำพรรษาทั้งที่ยังเป็นสามเณรที่วัดเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ.2471 และอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ.2473 ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพเวที เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2512 ในขณะที่สามเณรขันติ์ พรหมโคตร ย้ายจากวัดบรมนิวาส เมื่อพ.ศ.2471 ไปจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง เป็นจังหวะเดียวกับ หลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ เข้ามาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง สามเณรขันติ์ พรหมโคตร ได้รับใช้ปรนนิบัติหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ จนเป็นที่ชอบพอของหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ สามเณรขันติ์ พรหมโคตร เมื่อมีอายุครบบวช ได้บวชที่วัดเจดีย์หลวง เมื่อพ.ศ.2473 และจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงตลอดมาจนกระทั้งดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง และได้เลื่อนสมณศักดิ์ตลอดมา ครั้งสุดท้ายเป็นที่พระเทพสารเวที และเป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดเชียงใหม่,เชียงราย,ลำพูน,ลำปาง และแม่ฮ่องสอน
พระเทพสารเวทีได้ออกเดินทางไปวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2517 หลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ เมื่อทราบความประสงค์ของพระเทพสารเวทีแล้ว ด้วยความเมตตาปราณีต่อพระเทพสารเวที ท่านก็ไม่ปฏิเสธ ประจวบกับ หลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ มีอายุครบ 7รอบ ในพ.ศ.2517 พระเทพสารเวที จึงได้สร้างเหรียญเป็นที่ระลึก จัดเป็นรุ่นพิเศษในคราวเดียวกันกับการหล่อรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ที่วัดเจดีย์หลวง
-การดำเนินงาน
พระเทพสารเวทีได้ปรึกษากับสานุศิษย์ตกลงดำเนินการสร้างเหรียญกลม ขนาดเท่าเหรียญบาท(ปี2505) และเหรียญกลมขนาดเล็กเท่ากับเหรียญสิบสตางค์ และเหรียญรูปไข่ โดยมอบให้นายชัชวาล ชุติมาและนายนิยม อินถา เป็นผู้ดำเนินงานจัดทำและควบคุมการปั้มเหรียญอย่างใกล้ชิด โดยให้ขอแม่พิมพ์กลับมาทำลายและมีมติให้ทำตรา “จล”(เจดีย์หลวง) สำหรับตอกเหรียญทุกเหรียญ โดยทำการตอกที่วัดเจดีย์หลวงด้วย
นายชัชวาล ชุติมา , นายนิยม อินถาและนายเกษม เลิศมโนกุลชัย จึงได้มากรุงเทพฯและติดต่อกับนายช่างเกษม มงคลเจริญ ดำเนินการออกแบบและแกะแม่พิมพ์ นายช่างเกษมฯได้ทุ่มเทความคิดและฝีมือความประณีตในการจัดทำแม่พิมพ์ให้เป็นพิเศษ ส่วนเหรียญรูปไข่เป็นฝีมือแกะพิมพ์ของนายประหยัด ลออสกุลพันธ์(ช่างอ๊อด)
เมื่อแม่พิมพ์เสร็จเรียบร้อยนายชัชวาล ชุติมา ได้จัดให้นายนิยม อินถาและนายเกษม เลิศมโนกุลชัย เป็นผู้ควบคุมการปั๊มเหรียญและเฝ้าดูการปั๊มตลอดเวลา เมื่อเลิกปั๊มในแต่ละวัน ผู้ควบคุมการปั๊มจะเป็นผู้เก็บแม่พิมพ์ไว้ทุกครั้ง รุ่งเช้าวันใหม่จึงจะใส่แม่พิมพ์ใหม่ทุกวัน ดังนั้นการปั๊มเหรียญเกินจำนวนจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน ส่วนเหรียญที่เสียเป็นต้นว่ารูเจาะขาด เหรียญบิดเบี้ยว พิมพ์ติดไม่คมชัด นายนิยม อินถา ได้รวบรวมไว้จำนวน 173เหรียญ และได้ทุบทำลายและขอซื้อเศษโลหะกลับ ได้น้ำหนักเหรียญเสียประมาณ 4กิโลกรัม ทางร้านคิดกิโลกรัมละ 45บาท นายนิยม อินถา ได้จ่ายเงินให้ทางร้าน 180บาท การปั๊มเหรียญได้ดำเนินการอยู่ 3วัน จึงเสร็จเรียบร้อย ได้เหรียญรูปหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ สวยงามและมีความประณีตมาก
-การปลุกเสกเหรียญและพิธีพุทธาภิเษก
เหรียญที่สร้างแล้วทั้งหมด คณะกรรมการได้นำมาถึงวัดเจดีย์หลวงเมื่อวันที่ 6เมษายน พ.ศ.2517เวลา 05.00น.คณะกรรมการได้นำเหรียญทั้งหมดตอกโค๊ด “จล” และตรวจนับจำนวนเหรียญได้ถูกต้องกับจำนวนที่กำหนด แล้วพระเทพสารเวทีได้นำเหรียญทั้งหมดขึ้นรถไปวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการและศิษย์ประมาณ 10คน ถึงวัดดอยแม่ปั๋ง ประมาณ 18.00น.และรอฤกษ์ปลุกเสก ซึ่งกำหนดไว้เวลา 20.46น.ของวันที่ 6เมษายน 2517 ซึ่งเป็นวันจักรี ก่อนถึงฤกษ์พระเทพสารเวที ให้คณะกรรมการนำเหรียญทั้งหมดสู่ปะรำพิธีที่จัดไว้ ครั้นถึงฤกษ์กำหนดหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ ได้ขึ้นสู่ปะรำพิธีดำเนินการปลุกเสกจนเสร็จพิธี แล้วกลับถึงวัดเจดีย์หลวงเวลาประมาณ 24.00น. เมื่อถึงวัดได้ทำประทักษิณพระธาตุและพระประธาน 3รอบ
ก่อนจะนำเหรียญออกแจกจ่ายให้ประชาชน พระเทพสารเวทีได้นำเหรียญซึ่งหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ ปลุกเสกแล้วเข้าพิธีพุทธภิเษกอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 10 เมษายน 2517 ณ ที่พระวิหารหลวงพิธีเริ่มเมื่อเวลา 12.45น.โดยพราหมณ์ 3ท่านประกอบพิธีทางไสยศาสตร์และบวงสรวงปวงเทพยดาให้ดลบันดาลเหรียญที่สร้างมีความศักดิ์สิทธิ์ ครั้นเวลา 19.00น. พระสงฆ์ 9รูป เจริญพระพุทธมนต์ และมีพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาทิ เช่น หลวงปู่คำมี , หลวงพ่อคำแสน , หลวงพ่อพรหม , หลวงพ่อสิม และอาจารย์หนู สุจิตฺโต นั่งปรก ปลุกเสกจนกระทั่งเวลา 24.15น. หลวงปู่คำมี แห่งถ้ำคูหาสวรรค์ จ.ลพบุรี เป็นผู้ดับเทียนชัย จึงเสร็จพิธี
-จำนวนเหรียญหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ ที่สร้าง
เหรียญหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ ที่สร้างครั้งนี้มีจำนวนจำกัดเท่าที่อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการเท่านั้น เมื่อปั้มเหรียญครบจำนวน ช่างเกษม มงคลเจริญ ได้นำแม่พิมพ์ทุกแบบไปกรอด้วยหินแกรไนต์ทำลายทุกพิมพ์ ต่อหน้าผู้ควบคุมการสร้างเหรียญ แม้ช่างเกษมฯ จะต้องการเหรียญไว้บูชาก็ต้องสั่งจองจากวัดเจดีย์หลวง ซึ่งพระเทพสารเวที , นายชัชวาล ชุติมา และนายนิยม อินถา ให้คำมั่นสัญญาว่าไม่มีเหรียญที่ปั้มเกินแม้แต่เหรียญเดียว ชนิดของเหรียญและจำนวนที่สร้างมี ดังนี้
1.เหรียญกลมใหญ่เนื้อตะกั่ว (ลองพิมพ์ไม่ให้บูชา) มีจำนวน 6 เหรียญ
2.เหรียญกลมใหญ่เนื้อทองคำ เหรียญละ2,500บาท มีจำนวน 19 เหรียญ
3.เหรียญกลมใหญ่เนื้อเงิน เหรียญละ 100บาท มีจำนวน 600 เหรียญ
4.เหรียญกลมใหญ่เนื้อนวโลหะ เหรียญละ 50บาท มีจำนวน 1,200 เหรียญ
5.เหรียญกลมใหญ่เนื้อทองแดง เหรียญละ 30บาท มีจำนวน 9,000 เหรียญ
6.เหรียญกลมเล็กเนื้อเงิน เหรียญละ 50บาท มีจำนวน 600 เหรียญ
7.เหรียญกลมเล็กเนื้อทองแดง เหรียญละ 20บาท มีจำนวน 2,000 เหรียญ
8.เหรียญรูปไข่เนื้อเงิน เหรียญละ 100บาท มีจำนวน 500 เหรียญ
9.เหรียญรูปไข่เนื้อนวโลหะ เหรียญละ 50บาท มีจำนวน 400 เหรียญ
10.เหรียญรูปไข่เนื้อทองแดง เหรียญละ 30บาท มีจำนวน 2,517 เหรียญ
รวมทุกชนิด 16,842 เหรียญ
ทุกเหรียญตีตรา จ.ล. ประทับ ณ ที่วัดเจดีย์หลวง
-การตีตรา “ จ.ล.” (เจดีย์หลวง) ประจำทุกเหรียญ
ในการสร้างเหรียญหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ ครั้งนี้ วัดเจดีย์หลวง ได้ทำตราตีลงในเหรียญ ทั้งนี้เพื่อทำให้ปลอมแปลงได้ยาก และเป็นที่สังเกตชนิดของเหรียญแต่ละชนิด โดยทำตราเป็น 2แบบคือ
ก.ตรา “จล” แบบมีวงกลมล้อมรอบ
ข.ตรา “จล” แบบไม่มีวงกลมล้อมรอบ
การใช้ตราตีแต่ละแบบ ได้แยกตีตราตามชนิดของเหรียญ คือ
1.เหรียญกลมใหญ่ เนื้อตะกั่ว ได้ตีตรา“จล” แบบมีวงกลมล้อมรอบไว้ที่ด้านหลังของเหรียญ ตรงใต้บัวคว่ำบัวหงาย
2.เหรียญกลมใหญ่ เนื้อทองคำ ได้ตีตรา“จล” แบบไม่มีวงกลมล้อมรอบไว้ที่ด้านหลังของเหรียญข้างซ้าย
3.เหรียญกลมใหญ่ เนื้อเงิน ได้ตีตรา“จล” แบบไม่มีวงกลมล้อมรอบไว้ที่ด้านหลังของเหรียญข้างซ้าย(ที่เดียวกับเหรียญ ทองคำ)
4.เหรียญกลมใหญ่ เนื้อนวโลหะ ได้ตีตรา“จล” แบบไม่มีวงกลมล้อมรอบไว้ที่ด้านหลังของเหรียญ ตรงใต้บัวคว่ำบัวหงาย
5.เหรียญกลมใหญ่ เนื้อทองแดง ได้ตีตรา“จล” แบบมีวงกลมล้อมรอบไว้ที่ด้านหลังของเหรียญข้างซ้าย
6.เหรียญกลมเล็ก เนื้อเงิน ได้ตีตรา“จล” แบบไม่มีวงกลมล้อมรอบไว้ที่ด้านหลังของเหรียญข้างซ้าย
7.เหรียญกลมเล็ก เนื้อทองแดง ได้ตีตรา“จล” แบบมีวงกลมล้อมรอบไว้ที่ด้านหลังของเหรียญข้างซ้าย
8.เหรียญรูปไข่ เนื้อเงิน ได้ตีตรา“จล” แบบไม่มีวงกลมล้อมรอบไว้ที่ใกล้หัวเข่าข้างขวาของรูปหลวงพ่อแหวน
9.เหรียญรูปไข่ เนื้อนวโลหะ ได้ตีตรา“จล” แบบไม่มีวงกลม ล้อมรอบไว้ที่ใกล้หัวเข่าข้างซ้ายของรูปหลวงพ่อแหวน
10.เหรียญรูปไข่ เนื้อทองแดง ได้ตีตรา“จล” แบบไม่มีวงกลมไว้ที่ใต้เลข 17
-การสร้างพระผงปลุกเสกโดยหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ
เนื่องจากการสร้างเหรียญหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ ทางคณะกรรมการได้กำหนดให้เช่าบูชาเพื่อหารายได้ซ่อมแซมวิหารหลวงและสร้างห้องสมุด ดังนั้นคณะกรรมการ โดยนายชัชวาล ชุติมา , นายสัมฤทธิ์ สรรสวาสดิ์ , นายนิยม อินถา และนายประสงค์ อินถานะ(อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวานิชบำรุงเชียงใหม่) จึงคิดสร้างพระผงปลุกเสกในพิธีเดียวกันกับเหรียญที่สร้างขึ้นครั้งนี้ เพื่อมอบให้พระเทพสารเวทีได้แจกสานุศิษย์ที่มาอวยพร รดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ และแจกให้คณะกรรมการและผู้ติดต่อขอมาโดยไม่มีการจำหน่าย โดยสร้างพระผงเป็น 2แบบ ดังนี้
1.พระสังกัจจายน์ ด้านหลังเป็นรูปยันต์หลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ แบ่งเป็น 3ชนิด
ก.พระสังกัจจายน์ ผงรูปโลห์ ชนิดฝังเม็ดพระธาตุที่ท้องพระสังกัจจายน์ มีหมายเลขตอกด้านหลังตั้งแต่ เลข1 ถึง 227 (สร้างจำนวน 227องค์) ผู้ได้รับแจกจะได้รับประกาศนียบัตรกำกับหมายเลขประจำพระทุกองค์
ข.พระสังกัจจายน์ ผงรูปโลห์ ไม่มีเม็ดพระธาตุ ไม่มีหมายเลขสร้างจำนวน 137องค์
ค.พระสังกัจจายน์ ผงกลม ชนิดฝังเม็ดพระธาตุที่ท้องพระสังกัจจายน์ ไม่มีหมายเลข สร้างจำนวน 57องค์
2.พระปิดตา ด้านหลังเป็นรูปยันต์หลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ แบ่งเป็น 3ชนิด
ก.พระปิดตา ผงรูปโลห์ ชนิดฝังเม็ดพระธาตุที่ท้องพระปิดตา มีหมายเลขตอกด้านหลังตั้งแต่ เลข1 ถึง 227 (สร้างจำนวน 227องค์) ผู้ได้รับแจกจะได้รับประกาศนียบัตรกำกับหมายเลขประจำพระทุกองค์
ข.พระปิดตา ผงรูปโลห์ ไม่มีเม็ดพระธาตุ ไม่มีหมายเลขสร้างจำนวน 103องค์
ค.พระปิดตา ผงกลม ชนิดฝังเม็ดพระธาตุที่ท้องพระปิดตา ไม่มีหมายเลข สร้างจำนวน 58องค์
แม่พิมพ์สำหรับสร้างพระผงให้ทำลายแล้วเช่นกัน
-การให้เช่าบูชาเหรียญหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ
เหรียญทุกชนิดเก็บที่พระเทพสารเวที คณะกรรมการโดยนายชัชวาล ชุติมา จะเป็นผู้เบิกและส่งยอดรายได้ให้พระเทพสารเวที ส่วนเงินที่ได้รับทุกบาททุกสตางค์ ฝากไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าแพ ในนามของวัดเจดีย์หลวง และมีนายวสุชลักษณ์ เสียมภักดี เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน
การจ่ายเหรียญ ปรากฏว่ามีผู้สั่งจองมากกว่าครึ่งจำนวนที่ได้สร้างไว้ และวัดเจดีย์หลวงได้เปิดให้ประชาชนเช่าบูชาเหรียญหลวงพ่อแหวน สุจิณฺโณ ในวันที่ 11 เมษายน 2517 ตั้งแต่เวลา 8.00น.จนถึงเวลา 11.30น. จึงได้หยุดจำหน่าย เพราะปรากฏว่ามีพ่อค้าหมุนเวียนเช่าเหรียญไปเก็บไว้ แล้วนำออกมาจำหน่ายในราคาสูง (และปรากฏว่ามีการซื้อขายใบจองเหรียญในราคาสูงด้วย)
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2517 เวลา 18.30น. พระเทพสารเวทีได้โทรศัพท์ทางไกลจากเชียงใหม่ ถึงผู้เขียน (อยู่กรุงเทพ) แจ้งว่าคณะกรรมการจัดสร้างเหรียญและพระเทพสารเวที มีมติว่าควรจะแจกจ่ายเหรียญที่มีอยู่ให้หมดสิ้น เพื่อที่จะนำเงินมาสร้างหอสมุด แหวนสุจิณฺโณ ให้สมบูรณ์และดีขึ้น จึงได้กำหนดสมนาคุณเหรียญแก่ผู้บริจาคเงินดังนี้
1.ผู้บริจาคเงินตั้งแต่ 1,000บาทขึ้นไปวัดเจดีย์หลวง จะสมนาคุณเหรียญรูปไข่เนื้อเงิน 1เหรียญ (มีเหรียญเหลือประมาณ 90เหรียญ)
2.ผู้บริจาคเงินตั้งแต่ 500บาทขึ้นไปวัดเจดีย์หลวง จะสมนาคุณเหรียญรูปไข่เนื้อนวโลหะ 1เหรียญ (มีเหรียญเหลือประมาณ 60เหรียญ)
3.ผู้บริจาคเงินตั้งแต่ 400บาทขึ้นไปวัดเจดีย์หลวง จะสมนาคุณเหรียญกลมใหญ่ เนื้อทองแดง 1เหรียญ (มีเหรียญเหลือประมาณ 250เหรียญ)
4.ผู้บริจาคเงินตั้งแต่ 300บาทขึ้นไปวัดเจดีย์หลวง จะสมนาคุณเหรียญกลมเล็ก เนื้อทองแดง หรือเหรียญรูปไข่เนื้อทองแดง 1เหรียญ (มีเหรียญกลมเล็ก เนื้อทองแดง เหลือ 70เหรียญ/เหรียญรูปไข่เนื้อทองแดง เหลือ 50เหรียญ)
เหรียญนอกจากที่ระบุไว้ข้างบนนี้ได้หมดแล้ว ผู้มีจิตศรัทธาจะร่วมการกุศล โดยสมทบทุนสร้างหอสมุดแหวนสุจิณฺโณ ซึ่งจะสร้างไว้ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ โปรดติดต่อที่ พระเทพสารเวที วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หมายเหต คัดลอกจากหนังสือ อภินิหารและพระเครื่อง ฉบับที่ 23 ประจำเดือนพฤษภาคม 2517
ตราที่ใช้ตีทั้ง 2แบบ ทางวัดเจดีย์หลวงใช้ตะไบถูทำลายตัวอักษรทั้ง 2ตรา แล้วโดยนายนิตย์ พงษ์ลดา เป็นผู้ทำลายตรา
|