ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท
วัดสระกำแพงใหญ่
ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ
๏ อัตโนประวัติ
“หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท” หรือ “พระมงคลวุฒ” อดีต เจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ และอดีตพระเกจิชื่อดัง-พระนักพัฒนาที่ชาวอีสานใต้ต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธา กันเป็นอย่างดียิ่ง ด้วยความเป็นพระเถระที่มีเมตตาธรรมขั้นสูง เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เข้มขลังในวิทยาคมศักดิ์สิทธิ์ด้านเมตตามหานิยม เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจแก่ผู้ประสบทุกข์ร้อนเดือดร้อนทั้งหลาย
หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท มีนามเดิมว่า เครื่อง ประถมบุตร เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2453 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ ณ บ้านค้อกำแพง (ปัจจุบันคือ บ้านหนองแปน) หมู่ที่ 3 ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายสอน และนางยม ประถมบุตร ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ฐานะค่อนข้างยากจน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 14 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 แต่พี่น้องเสียชีวิตไปในวัยเยาว์ 6 คน คงเหลืออยู่เพียง 8 คน ซึ่งมีรายชื่อตามลำดับดังนี้
1. หลวงตาสุ สุปญโญ
2. นายเถ้า ประถมบุตร
3. หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท
4. นายนิล ประถมบุตร
5. นายสา ประถมบุตร
6. นางบุญจันทร์ ชูกำแพง
7. นายบัวทอง ประถมบุตร (สันทัสถ์)
ป.ธ. 5 ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด
8. ไม่ปรากฏนาม
๏ การศึกษาเบื้องต้น
สมัยนั้นการศึกษาเล่าเรียนยังไม่เจริญเท่าที่ควร ในวัยเด็กเมื่อท่านอายุได้ 8 ปี ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ประถม ก. กา อยู่กับลุงเกษ ประถมบุตร ซึ่งเป็นครูสอนอยู่กับบ้านตอนเย็นหรือตอนกลางคืนเวลาว่างๆ เท่านั้น จึงทำให้การเรียนของท่านพออ่านออกเขียนได้
ครั้นต่อมาท่านอายุได้ 15 ปี เมื่อปี พ.ศ.2467 ได้เข้าโรงเรียนรัฐบาลที่วัดสระกำแพงใหญ่ มีพี่น้องเข้าโรงเรียนพร้อมกันทั้ง 3 คน เพราะไม่มีใครช่วยพ่อแม่ทำงานเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ โยมพ่อของท่านตั้งกติกาให้เปลี่ยนกันไปโรงเรียนคนละ 7 วัน ทั้งนี้ทำให้หลวงปู่เครื่อง เรียนหนังสือไม่ได้เต็มที่เสียเวลาเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน
ครั้นเวลาผ่านไป ทางราชการและครูไม่ยอมให้เปลี่ยนกันเรียน แต่ก็ต้องเปลี่ยนกันเรียนอยู่นั่นเอง เพราะเหตุดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อหลวงปู่เครื่องมาโรงเรียนวันไหนจึงต้องถูกครูตีทุกวันเพราะเป็นการผิด กฎโรงเรียน จำเป็นก็ต้องทนอยู่ในสภาพนั้น ในเวลานั้นหลวงปู่เครื่องท่านเล่าว่าไม่รู้จะเชื่อฟังใครดี
ผลที่สุด หลวงปู่ท่านก็ต้องหาอุบายแอบหนีญาติมาโรงเรียนคนเดียว ก็ทำให้มีความรู้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งระยะนั้นท่านกำลังสนใจในการศึกษาเล่าเรียนหาความรู้เพิ่มเติมด้วยดี กอปรด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่งนัก ท่านเรียนได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เรียนได้ครึ่งปี ทางราชการมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ ผู้มีอายุได้ 18 ปี ให้เสียค่าเล่าเรียนประถมศึกษาคนละ 4 บาท เงิน 4 บาทสมัยนั้นมีค่ามากนัก ด้วยความจำเป็น ท่านจึงต้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ต่อมาก็ได้อยู่ช่วยทำกิจการงานครอบครัวอย่างหนักเอาเบาสู้ ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ รับผิดชอบในหน้าที่ของผู้หญิงทุกอย่าง ตักน้ำตำข้าว เก็บผักหักฟืน หุงต้มเก็บหม่อนป้อนไหม ถอนกล้า ไถนา ปักดำ ทุกแขนงจนเกิดความเบื่อหน่าย จะไปเที่ยวเล่นตามเพื่อนบ้านก็ไม่มีเวลา
๏ การบรรพชาและอุปสมบท
พอท่านอายุได้ 18 ปี ได้กราบลาบุพการีเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร แต่โยมบิดา-โยมมารดาของท่านไม่อนุญาต ครั้นมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ได้กราบลาบุพการีและญาติพี่น้องเพื่ออุปสมบท ครั้งนี้โยมบิดาไม่ขัดใจ แต่โยมมารดายังป่วยเป็นโรคปอดบวม อาการหนักอยู่มาก ซึ่งป่วยมาได้ ๓ ปีแล้ว
ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสำโรงน้อย หมู่ 6 ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โดยมีพระครูเทวราชกวีวรญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ใบฎีกาชม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พรหมมา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุภัทโท” ซึ่งแปลว่า “ผู้ประพฤติงาม”
หลังเข้าพิธีอุปสมบทเพียง 2 สัปดาห์ โยมมารดาซึ่งล้มป่วยหนักได้เสียชีวิตลง ทำให้ท่านต้องช่วยเป็นธุระจัดการงานศพมารดาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนไปอยู่จำพรรษาวัดบ้านค้อ ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย ผ่านพ้นวันออกพรรษา บรรดาญาติพี่น้องได้มาเกลี้ยกล่อมให้ท่านลาสิกขาเพื่อมาเลี้ยงน้อง แต่ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตปุถุชน ตั้งใจอุทิศชีวิตให้บวรพระพุทธศาสนา แสวงหาทางหลุดพ้นทุกข์
ก่อนหน้านั้นท่านได้ไปปรึกษาหารือกับคุณปู่ของท่าน คุณปู่ให้ข้อคิดว่า ถ้าท่านจะสึกออกมาเลี้ยงน้องนั้นไม่ดี ช่วยเขาไม่ได้หรอก แสวงหาทางพ้นทุกข์ดีกว่า คงเป็นทางช่วยตัวเองได้ คุณปู่ท่านให้ข้อคิดดังนี้ ฟังแล้วมีเหตุมีผลดี ท่านจึงตัดสินใจปฏิบัติตาม
๏ การศึกษามูลกัจจายน์และพระปริยัติธรรม
ต่อมา ท่านตัดสินใจเดินทางไปวัดทุ่งไชย เพื่อจุดประสงค์ว่าจะไปศึกษาเล่าเรียนคำภีร์มูลกัจจายน์ ไปอยู่ได้ 2 เดือน เข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านบอกว่าในระยะนี้ไม่ได้สอน เลิกทำการสอนมานานแล้ว เพราะนักเรียนน้อย ไม่มีพระเณรสนใจเรียนมูลเดิม จึงนมัสการลากลับวัดเดิมอีก
ครั้นต่อมา คุณอาของหลวงปู่เครื่อง ก็นำพาเดินทางไปวัดท้องหล่มใหญ่ จ.มหาสารคาม พอไปถึงเจ้าอาวาสก็ลาสิกขาไปเสียแล้ว เพราะหาพระเณรที่สนใจศึกษาไม่มี ท่านจึงได้เดินทางต่อไปที่วัดบ้านยางใหญ่ ต.เมืองแคน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอุปัชฌาย์สาย เจ้าอาวาส เพื่อขอเรียนบาลีและคัมภีร์มูลกัจจายน์ พระอุปัชฌาย์สาย เอ็นดูลูกศิษย์คนนี้มาก ด้วยผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ ท่านเรียนได้ดี ทั้งในการแปลภาษาบาลีเป็นประโยคคล่องแคล่วและใส่สัมพันธ์ด้วย เริ่มตั้งแต่การสนธิ เป็นต้นไป นานๆ เข้าพระอุปัชฌาย์สาย ปล่อยให้ท่านแปลด้วยตนเองเป็นประโยคๆ ไป
ครั้นกาลต่อมา สหธรรมมิกที่เรียนด้วยกันปรึกษาหารือกันว่า การเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์สมัยนี้เขาไม่นิยมเสียแล้ว หลวงปู่บอกว่าตอนนี้กิเลสเป็นเจ้าเรือนมากระซิบให้หลงงมงายไปเสียอีก ท่านจึงได้พิจารณาใคร่ครวญดูเหตุผลแล้ว จึงกราบนมัสการลาพระอุปัชฌาย์สาย ไปเรียนบาลีไวยากรณ์ หวังเอาพระเปรียญกับเขาบ้าง
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2477 ท่านจึงได้ออกเดินทางไปอยู่วัดหลวงเมืองอุบล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อเข้าศึกษาบาลีไวยากรณ์ และนักธรรม
พ.ศ.2479 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ.2480 สอบได้นักธรรมชั้นโท
พอสอบได้เสร็จก็ป่วยเป็นโรคเหน็บชา ในตอนนั้นท่านได้นัดหมายกันกับเพื่อนพระองค์หนึ่ง คือท่านมหาบุญมา แสนทวีสุข เป็นเพื่อนรักกันมากที่สุด นัดหมายกันว่าจะย้ายไปเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ ท่านว่าเหมือนมีพญามารมาตัดรอนท่าน คือเจ้ากรรมนายเวร กิเลสมาพันผูก คือ บรรดาญาติพี่น้องห้ามไม่ให้ไป โดยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคมาขัดขวางไม่ให้ไปศึกษา ท่านว่าคงจะเนื่องด้วยผลกรรมของท่านสร้างมาจึงเสียผลที่ท่านควรไป
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2481 ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านพงพรต ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นเวลา 11 ปี บ้านพงพรตอยู่ทางทิศเหนือของบ้านหนองแปน บ้านเกิดหลวงปู่เครื่อง 1.5 กิโลเมตร และห่างจากวัดสระกำแพงใหญ่ 4 กิโลเมตร ในระหว่างนั้น พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
|