หลวงปู่เอี่ยมท่านสร้างพระปิดตาเนื้อสัมฤทธิ์ในจำนวนที่ไม่มากนัก น้อยกว่าพระชัยวัฒน์ แต่ก็มีการสร้างอยู่หลายครั้งเช่นกัน แบบพิมพ์นั้นจะเป็นพระปิดทวารมียันต์วางเป็นเส้นสายเกือบทั้งองค์พระ นิยมเรียกกันว่า พิมพ์ยันต์ยุ่ง ในส่วนที่บริเวณหัวเข่าถ้าเป็นยันต์ตัวนะ ก็มักจะเรียกกันว่าพิมพ์นะหัวเข่า เป็นต้น การวางยันต์ขององค์พระ ช่างจะปั้นเทียนเป็นเส้นลักษณะคล้ายเส้นขนมจีน แล้วจึงนำมาวางเป็นรูปยันต์ตามกำหนดของหลวงปู่เอี่ยมอีกทีหนึ่ง เมื่อเป็นหุ่นเทียนสมบูรณ์ แล้วจึงนำไปเข้าเบ้าหลอมเทโลหะอีกครั้งดังนั้นเส้นสายของยันต์จึงจะไม่เหมือนกันเป๊ะทุกองค์เลยทีเดียวเนื่องจากวางยันต์ทีละองค์นั่นเอง
หลวงปู่เอี่ยมท่านได้สร้างพระปิดตาไว้ หลายเนื้อเช่นเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อตะกั่ว เนื้อผงใบลาน เนื้อผงหัวบานเย็น และเนื้อไม้แกะ พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยมท่านสร้างพระปิดตาเนื้อผง และพระปิดตาเนื้อไม้แกะขึ้นก่อน ต่อมาจึงได้สร้างพระปิดตาเนื้อตะกั่ว และเนื้อสัมฤทธิ์ จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าในปีพ.ศ.2436 เมื่อเรือรบของฝรั่งเศสเข้ามาปิดอ่าวสยาม ทหารหาญและชาวบ้านได้เข้ามาขอรับพระจากหลวงปู่เอี่ยมจนล้นหลาม หลวงปู่เอี่ยมท่านได้แจกพระปิดตาเนื้อตะกั่วที่สร้างไว้ก่อนหน้าไปจนหมด หลวงปู่จึงให้พระภิกษุ สามเณรและสานุศิษย์ช่วยกันเทหล่อพระเนื้อตะกั่วติดต่อกันอีก หลังจากนั้น จึงได้มีการสร้างพระปิดตาเนื้อสัมฤทธิ์ ซึ่งท่านคงสร้างมาตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ.2441 ตอนที่ท่านได้มาครองที่วัด หนังแล้ว และเมื่อคราวบูรณะเขื่อนที่หน้าวัดหนัง ปีพ.ศ.2463 ก็มีการเทพระชัยวัฒน์และพระปิดตาเนื้อสัมฤทธิ์ เพื่อสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงินช่วยเหลือในครั้งนั้นด้วย
|