ปี 2512 คณะกรรมการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชานุสรณ์ ได้จัดสร้างพระบูชา พระเครื่องขึ้น เพื่อหาทุนในการก่อสร้างดังกล่าว สำหรับวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นครั้งนี้ประกอบด้วย
- พระพุทธรูปบูชาแบบพระเชียงแสนและพระสิงห์
- พระกริ่งนเรศวรเมืองงาย
- พระชัยวัฒน์นเรศวรเมืองงาย
- เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- พระร่วงยืนหลังรางปืน
- บาตรน้ำพระพุทธมนต์รมดำ
- พระพุทธรูปบูชาแบบเชียงแสน
สำหรับพระพุทธรูปบูชาแบบเชียงแสน ได้จำลองแบบจากพระเชียงแสนของวัดดับภัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และสำคัญยิ่งองค์หนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ได้สร้างขึ้นขนาดเดียวคือ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว เนื้อสามกษัตริย์
ส่วนพระพุทธรูปบูชาแบบพระสิงห์ ได้จำลองมาจากพระพุทธสิหิงค์(พระสิงห์) ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่มาก ได้สร้างขึ้น 4 ขนาดคือ ชนาดหน้าตัก 5, 7, 9 และ 12 นิ้ว เป็นเนื้อสามกษัตริย์และรมดำ โดยมีนายแม้น บัวแดง เป็นช่างผู้จำลองแบบ และการเททองหล่อพระพุทธรูบูชาในครั้งนี้
พระกริ่งนเรศวรเมืองงาย มีขนาดฐานกว้าง 1.9 ซม. สูง 3.3 ซม. สร้างขึ้นจำนวน2512 องค์ ให้บูชาในขณะนั้นองค์ละ 300 บาท
ส่วนพระชัยวัฒน์นเรศวรเมืองงายมีขนาดฐานกว้าง 1.3 ซม. สูง 2.2 ซม. สร้างขึ้นจำนวน 2512 องค์เท่ากับปี พ.ศ.2512 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดสร้างขึ้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างพระกริ่งนเรศวรเมืองงายพิเศษขึ้นอีกด้วย โดยสร้างขึ้นเป็นพระคะแนนของพระกริ่งนเรศวรเมืองงายจำนวน 9 องค์
เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.7 ซม. สร้างขึ้น จำนวน 100,000 เหรียญ ให้บูชา เหรียญละ 5 บาท
บาตรน้ำพระพุทธมนต์รมดำ มีฝาครอบบาตร 2 แบบ คือ ชนิดมีพระพุทธรูปและชนิดดอกบัวตูม
พระร่วงยืนหลังรางปืน มีขนาดกว้าง 1.6 ซม. สูง 5.6 ซม. ให้เช่าบูชาองค์ละ 10 บาท ได้มีการสร้าง 2 แบบ คือ ชนิดหลังรางปืน สร้างจำนวน 98,000 องค์ และหลังแบบ อีกจำนวน 2,000 องค์ รวมเป็น 100,000 องค์
ด้วยพิมพ์พระร่วงหลังรางปืนมีศิลปะของขอมลพบุรี ด้วนหน้าองค์พระเป็นรูปพระพุทธทรงจักรพรรดิมาลา ที่เรียกกันทั่วไปว่า ทรงเทริด มีความอลังการวิภูษิตากรณ์ อยู่ในอิริยาบถประทับยืน ปางอภัยมุทธรา(ปางประทานอภัย) องค์พระพุทธปฏิมาเป็นรูปนูนสูงลอยเด่น ทรงเครื่องราชาภรณ์มีมงกุฏและเครื่องทรงประดับนานาลังการ อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว มีลวดลายแผ่วเบาแต่งดงามยิ่ง เสริมให้องค์พระเด่นสง่างามยิ่งขึ้น ดุจดังองค์จอมจักรพรรดิ แสดงออกถึงอำนาจบารมีความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ด้วยประการทั้งปวง เฉกเช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้านหลัง เป็นร่องคล้ายรางปืน ส่วนอีกแบบเป็นหลังแบบรูปพระเหมือนด้านหน้า แต่จมลึกลงไป
พิธีพุทธาษิเษก พระกริ่งนเรศวรเมืองงายครั้งนั้น ได้จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2512 ณ.วิหารวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในพิธีพุทธาษิเษกครั้งนี้ พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ประธานคณะกรรมการจัดสร้างฯ ได้กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสร็จทรงเป็นประธานในพิธีเททองพระพุทธสิหิงค์และนมัสการสมเด็จพระวันรัตเป็นประธานในพิธีเททองพระกริ่งนเรศวรเมืองงายและพระร่วงหลังรางปืน
|