Phrasomdej Wat Rakang in Academic Perspective
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
Asst. Prof. Dr.Natdhnond Sippaphakul
D.A. ( Arts and Culture Research)
การศึกษาพระพิมพ์เนื้อผงสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้น จำเป็นจะต้องศึกษาให้ครบทุกด้านทั้งเรื่อง วัฒนธรรมและความเชื่อ (Culture and Belief) ประวัติศาสตร์ (History) มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Humanities and Social Sciences) พุทธศิลป์ (Amulet Art) วิทยาศาสตร์ (Science) และพลังพุทธานุภาพ (Power of mind) เพื่อให้เข้าใจและมีความรู้ที่ถูกต้อง เปิดใจให้กว้าง อย่าเชื่อจากคำบอกเล่า อย่าเชื่อเซียน อย่าเชื่อหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใด หรือแม้กระทั่งบทความของผู้เขียนที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี่ก็ตาม เพราะหากมีองค์ความรู้ที่สืบค้นได้ใหม่ มันจะมาทดแทนความรู้เก่าในภายหลัง นี่คือความจริงทางด้านวิชาการที่สากลยอมรับ บทความนี้จึงเป็นการเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป แม้จะยังมิใช่ข้อสรุป แต่ก็พอจะเป็นแนวทางสำหรับผู้ศึกษามือใหม่ได้เข้าใจมากขึ้น
อนึ่ง ผู้เขียนขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านให้ตรงกันว่า การศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังนั้น เป็นการศึกษาจากสิ่งของที่เป็นรูปธรรมคือ ตัวขององค์พระพิมพ์ เพื่อไปอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมคือ ความเชื่อว่าแท้และศักดิ์สิทธิ์ มันจึงเป็นการยากที่จะสรุปว่า ข้อเขียนของผู้ใดถูกต้องและน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะแม้แต่ข้อเขียนของเซียนโบราณที่ผ่านมา ก็เชื่อถือได้เป็นบางส่วน เนื่องจากเป็นเพียงการสรุปความคิดเห็นเท่าที่เขาเคยมีและประสบมาเท่านั้น เหตุใดผู้คนในยุคปัจจุบัน จึงยังคงเชื่อแค่คำบอกเล่าหรือจากภาพเก่าๆ ที่ตีพิมพ์ซ้ำซาก แถมบางคนยังจำกัดความว่า พระสมเด็จมีอยู่แค่นั้นแค่นี้ ทั้งที่จริงยังมีพระสมเด็จวัดระฆังที่อยู่กับชาวบ้านหรือผู้มีบุญ (ขอย้ำผู้มีบุญ) อีกจำนวนมาก มีหลายพิมพ์ หลายเนื้อ หลายสภาพ แถมยังมีความสมบูรณ์และสวยงามมากอีกด้วย อย่าลืมว่า แม้แต่เซียนโบราณเองก็เกิดไม่ทันองค์สมเด็จโต