ประวัติหลวงพ่อเพชร
หลวงพ่อเพชร
ที่มา : (โดยสุเทพ สอนทิม)
หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน หล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาฏิหยักเป็นเขี้ยวตะขาบสั้นเหนือพระอุระ เกตุบัวตูม ขนาดหน้าตัก กว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว (1.40 เมตร) สูง 3 ศอก 3 นิ้ว (1.60 เมตร) ประทับนั่งบนฐานดอกบัวบานหงายรองรับ ต่อจากฐานโลหะเป็นแท่นชุกชี หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งคือฐานชุกชี มีลวดลายปิดทอง ประดับกระจก ผู้ชำนาญการได้ตรวจสอบแล้วหลายท่านได้ให้ความเห็นตรงกันว่า องค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก จัดสร้างขึ้นในระหว่างปีพ.ศ. 1660 ถึงปี พ.ศ. 1800(นับอายุการสร้างจนถึงปัจจุบันนี้ประมาณ 890 ปี)
ประวัติการสร้างและความเป็นมาขององค์หลวงพ่อเพชร ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดแน่นอน เพียงแต่มีตำนานเล่าขานกันสืบมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลว่า เดิมหลวงพ่อเพชรประดิษฐานอยู่ที่วัดจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยกทัพไปปราบหัวเมืองเหนือ ขณะเสด็จ พระราชดำเนินผ่านเมืองพิจิตร ทางเจ้าเมืองพิจิตรให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี สร้างความพอพระทัยให้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างยิ่ง และก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตรได้กราบบังคมทูลว่าตนนั้นต้องการพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม เพื่อนำมาเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองสักองค์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ หลังจากนั้น ก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากเชียงใหม่จึงทรงอันเชิญหลวงพ่อเพชรล่องแพมาทางลำน้ำปิง แล้วอันเชิญประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรก่อน และทรง แจ้งให้เจ้าเมืองพิจิตรทราบ เจ้าเมืองพิจิตรพร้อมชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมากได้ไปเมืองกำแพงเพชรเพื่อทำการสักการะ แล้วอันเชิญหลวงพ่อเพชรจากเมืองกำแพงเพชรแห่แหนมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถวัดนครชุม เมืองพิจิตร (เก่า)
พระอุโบสถวัดนครชุม เมืองพิจิตร (เก่า)
ที่มา : (วัดนครชุม, ม.ป.ป.)
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตร มีพระราชประสงค์จะอันเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ชาวเมืองพิษณุโลกพากันเศร้าโศกไปทั้งเมือง พระองค์จึงมี พระบรมราชโองการให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามไปแทนพระพุทธชินราช เจ้าพระยาศรีสุริยศักดิ์ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ทราบว่าหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรมีพุทธลักษณะงดงาม จึงแจ้งให้พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตรทราบ พร้อมทั้งให้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรขึ้นไปที่เมืองพิษณุโลก
ชาวเมืองพิจิตรเมื่อได้ทราบข่าวก็เกิดการหวงแหน ได้นำหลวงพ่อเพชร ไปซ่อนไว้ตามป่า แต่คณะกรรมการเมืองก็ได้ติดตามกลับคืนมาได้และอันเชิญ หลวงพ่อเพชรมาไว้ที่วัดท่าหลวง เมืองพิจิตร (ใหม่) เพื่อรอการอันเชิญไปประดิษฐานที่เมืองพิษณุโลกต่อไป เหตุการณ์ครั้งนั้นยังความเศร้าโศกเสียใจให้กับชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยชาวเมืองพิษณุโลกและชาวเมืองพิจิตร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ระงับการนำพระพุทธชินราชและหลวงพ่อเพชรไปกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้หล่อ พระพุทธชินราชจำลอง เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรแทน หลวงพ่อเพชรจึงไม่ต้องถูกนำไปเมืองพิษณุโลก
ชาวเมืองพิจิตรพากันแสดงความยินดี มีมหรสพสมโภชเป็นการใหญ่เมื่อเสร็จการสมโภชแล้วชาวเมืองพิจิตร (เก่า) ก็เตรียมการที่จะแห่แหนหลวงพ่อเพชรกลับคืนไปประดิษฐานที่วัดนครชุมตามเดิม แต่ชาวเมืองพิจิตร (ใหม่) ก็มีความเห็นว่าสมควรที่จะประดิษฐานที่วัดท่าหลวง เพราะเมืองพิจิตรได้ย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่แล้ว ไม่ยอมให้ชาวเมืองพิจิตร (เก่า) นำหลวงพ่อเพชรคืนไป จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต เจ้าคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้นได้เข้าทำการห้ามปรามระงับเหตุได้ทัน โดยให้ทำการหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองขนาดเท่าองค์เดิมไปประดิษฐานที่วัดนครชุม เมืองพิจิตร (เก่า) แทน และนับตั้งแต่นั้นมาหลวงพ่อเพชรก็ประดิษฐานเป็น พระประธานอยู่ ณ พระอุโบสถวัดท่าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มาจนถึงปัจจุบัน
องค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปสวยงามที่ทรงไว้ซึ่งพุทธลักษณะและ ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของประเทศไทย ดังจะเห็นได้ในงานเทศกาลประจำปีที่เคยจัดในเดือนธันวาคม - เดือนมกราคม หรือในเดือนเมษายน จะมีประชาชนพากันมานมัสการกันอย่างล้นหลามแน่นพระอุโบสถ บางวันเกือบจะเข้าออกกันไม่ค่อยได้ แม้วันปกติธรรมดาก็มีประชาชนเข้ามานมัสการบูชากันทุกวัดมิได้ขาดส่วนในงานประเพณีการแข่งขันเรือยาวของจังหวัดพิจิตร ที่จัดแข่งขันหน้าวัดท่าหลวง ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในฤดูน้ำหลาก ทุกเสาร์แรกของต้นเดือนกันยายนของทุกปี ก็จะมีประชาชนทุกสารทิศมานมัสการองค์หลวงพ่อเพชร และชมงานแข่งเรือยาวกันเป็นจำนวนมาก นับได้ว่าองค์หลวงพ่อเพชรนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร และเมื่อวันที่ 9 เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2514 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จราชดำเนินทรงนมัสการองค์หลวงพ่อเพชรและทรงประกอบพิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชารอบพระอุโบสถหลวงพ่อเพชร
|