|
พระขุนแผนพิมพ์ใหญ่ สองโค้ด อ.ชุม ไชยคีรี วัดพระบรมธาตุ ปี 2497
พระผงบารมีพระธาตุ วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช องค์นี้เป็นพระขุนแผนเรือนแก้วพิมพ์ใหญ่ หลังยันต์นะเข้าหา นิยมเสาะหากันมาก สำหรับพิมพ์ขุนแผนเรือนแก้วนี้มีทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ จำนวนสร้างเพียง 2,000 องค์ ปัจจุบันหายากมากแล้วครับ
ท่านว่า ทำเป็นพระพิเศษพร้อมกับพระ 84,000 องค์ แต่หนักไปในทางเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ เพิ่มผงอาจารย์ คง อาจารย์ขุนแผนเมืองสุพรรณบุรี
วิธีทำและปลุกเสก อาจารย์คงได้เข้าทรงบอกวิธีให้คาถาประจำตามตำราของท่าน เสกแล้วทดลองนำพระลงสรงในน้ำมันหอมแล้วเอาน้ำมันทาหนูกับแมว สุนัขกับแมว จนสัตว์ทั้งสองที่เคยเป็นศัตรูกันมา กลับเป็นมิตรดีต่อกันต่อหน้าประชาชน
นอกจากนั้นก็ยังเป็นพระที่ทรงคุณทางเลิกรบ เลิกเบียดเบียน กันอาวุธทุกชนิดด้วย เมื่อจะใช้ให้ภาวนาคาถานี้
นะร้องให้ๆ นะมาเข้าหา นะจิตตัง มานิมามา จิตังมานิมามา 3 จบ ทุกครั้ง
แล้วทำความปรารถนาเอาเองได้ทุกอย่าง แต่ขออย่านำไปใช้ในทางทุจริตผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม และห้ามทดลองทำเป็นเล่นขาดความเคารพ จะเกิดโทษนานาชนิด
พระเครื่องจากวัดพระบรมธาตุ จ. นครศรีธรรมราช รุ่นที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.2497 ในพิธีเดียวกันนี้จริงๆ แล้วมีด้วยกันหลายพิมพ์ แต่อาจารย์ชุม ไชยคีรีและท่านขุนพันธ์ ได้นำพิมพ์พระนางตราและท่าเรือขนาดใหญ่-เล็ก หลังรูปเจดีย์พระบรมธาตุ ซึ่งเป็นพิมพ์หลัก นำขึ้นถวายเป็นสมบัติพระบรมธาตุ 84,000 ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ ที่เหลือนำออกแจกประชาชนด้วยตัวท่านเอง พระมีจำนวนมาก หลังพิธีเสร็จสิ้นท่านจึงได้นำบรรจุเก็บไว้ในถัง ต่อมาปลวกมาทำรัง พระที่พบจึงมีทั้งแบบมีคราบปลวกและที่ไม่มีคราบ
มวลสารที่รวบรวมมามีพระกรุสุดยอดพระเครื่องจากทั่วประเทศ มาดำเนินการสร้างพระนี้ จากการรวบรวมปรากฎว่าได้พระกรุมากว่า 108 กรุ ว่านยาอีก 108 ชนิด รวมทั้งผงวิเศษ อาทิเช่น พระกรุนางตรา-ท่าเรือ, กรุท้าวโคตร, สมเด็จวัดระฆัง, สมเด็จบางขุนพรหม, พระผงสุพรรณ, ผงดำผงแดงหุ่นพยนต์, หลวงพ่อเกตุ วัดขวิด, ขุนแผนวัดพระรูปและวัดบ้านกร่าง, พระนางพญาวัดนางพญาและวัดต้นจันทร์ สุพรรณบุรี, พระกรุต่าง ๆ ในกำแพงเพชร, พระกรุต่าง ๆ ในสุโขทัย, หูยานลพบุรี, ท่ากระดานหูไห กาญจนบุรี, พระกรุวัดท่ามะปราง, พระวัดชินราช พิษณุโลก, พระหลวงพ่อจุก, พระจุฬามณี พิษณุโลก, พระรอด พระคง พระเปิม-ลำพูน, มหาว่านวัดเขาอ้อ-พัทลุง, และพระกรุศรีวิชัยฯลฯ
การประกอบพิธีพุทธาภิเษก จัดให้มีขึ้นตลอดพรรษา ณ วิหารวัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช
ได้ฤกษ์พิมพ์องค์พระในวันที่ 2 สิงหาคม 2497
ครบ 84,000 องค์ วันที่ 1 กันยายน 2497
ทำพิธีปลุกเสกวันที่ 14 กันยายน 2497
ออกพิธีวันที่ 12 ตุลาคม 2497 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา
โดยพิธีนี้ได้นิมนต์พระเถราจารย์ ผู้เรืองเวทวิทยาคม 108 รูป มาร่วมประกอบพิธี มีท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ สำหรับพระคณาจารย์ที่ปลุกเสกขอยกมาเป็นบางส่วน ได้แก่ หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน จันดี, หลวงพ่อโอภาสี บางมด ธนบุรี, หลวงพ่อเขียว วัดหรงบน, หลวงพ่อเมือง วัดท่าพญา, หลวงพ่อคง วัดคลองน้อย, หลวงพ่อมุ่ย วัดป่าระกำ ปากพนัง, หลวงพ่อแดง วัดโท ท่าศาลา, หลวงพ่อคลิ้ง วัดถลุงทอง ร่อนพิบูลย์, หลวงพ่อแดง วัดเขาหลัก ทุ่งใหญ่, หลวงพ่อตุด วัดทุ่งกง กระบี่, หลวงพ่อวัน มะนะโส วัดประสิทธิชัย, หลวงพ่อแสง วัดคลองน้ำเจ็ด ตรัง, หลวงพ่อปาล วัดเขาอ้อ, หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน, หลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ. หลวงพ่อเจ็ก วัดเขาแดงตะวันตก, หลวงพ่อหมุน วัดเขาแดง ตะวันออก พัทลุง, หลวงพ่อพัว วัดเขาราหู (วัดบางเดือน). หลวงพ่อแดง วัดคลองไทร, หลวงพ่อวิรัช วัดกะเปา คีรีรัฐนิคม สุราษฎร์ธานี, หลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน, หลวงพ่อสงฆ์ วัดศาลาลอย, หลวงพ่อจีด วัดถ้ำเขาพลู, หลวงพ่อรุ่ง วัดบางแหวน ชุมพร, หลวงพ่อท้วม วัดเขาโบสถ์ บางสะพาน, หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์, หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง เพชรบุรี, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม นครปฐม ฯลฯ อาจารย์ที่เป็นฆราวาสได้แก่ อ.ชุม ไชยคีรี, อ.นำ แก้วจันทร์, พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ ราชเดช
การปลุกเสกเน้นเด่นเฉพาะทาง แบ่งออกเป็นช่วง ช่วงละ 7 วัน เช่น ปลุกเสกเน้นด้านคงกระพันชาตรี 7 วัน มหาอุด 7 วัน ป้องกันสัตว์ร้ายและโจรร้าย 7 วัน ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและภูตผีปีศาจ 7 วัน เมตตามหานิยม 7 วัน เนรมิตกายกำราบศัตรูให้เห็นเราคนเดียวเป็นหลายคน ดังนี้เป็นต้น
|
|