พระปิดตาหลังนางกวักงาแกะ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเลื่องลือในด้านวิทยาอาคมแกร่งกล้าและเข้มขลังของจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับการยกย่องให้เป็น "เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว" เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะชาว จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันยังคงแวะเวียนไปกราบนมัสการพระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิมขนาดเท่าองค์จริงที่ประดิษฐาน ณ มณฑปวัดหนองโพ อยู่เป็นเนืองนิจ อัตโนประวัติหลวงพ่อเดิม ท่านเกิดในสกุล ภู่มณี เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2403 โยมบิดาชื่อ นายเนียม ภู่มณี โยมมารดาชื่อ นางภู่ ภู่มณี ประกอบอาชีพทำนา ตอนเด็กๆ ร่ำเรียนเขียนอ่านที่วัดหนองโพ จนอายุครบบวชในปี พ.ศ.2423 จึงอุปสมบท ณ วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ โดย หลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พุทธสโร" หลังจากนั้นเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองโพ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและท่องพระคัมภีร์วินัย ท่านได้ศึกษาวิทยาคมกับนายพัน ชูพันธ์ ผู้ทรงวิทยาคุณแห่งบ้านหนองโพ และหลวงพ่อมี วัดบ้านบน จ.นครสวรรค์ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาด้านวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง จ.นครสวรรค์ จนมีความเชี่ยวชาญและแตกฉานหลวงพ่อเดิมได้สร้างวัตถุมงคลมากมายหลายรุ่น ซึ่งปรากฏความเข้มขลังเป็นที่เลื่องลือ ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อขจรไกล ชาวบ้าน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล พากันไปเข้าไปกราบนมัสการฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ขอให้รดน้ำมนต์ และขอวัตถุมงคลไว้ติดตัวมากมาย หลวงพ่อเดิมยังเป็นพระนักพัฒนา ท่านสร้างถาวรวัตถุภายในวัดมากมาย อีกทั้งก่อสร้างถาวรวัตถุและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ใน จ.นครสวรรค์ ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมา จนเมื่อชราภาพคณะสงฆ์จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ท่านเปรียบเสมือนร่มโพธิ์และร่มไทรที่มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปอย่างไพศาล เป็นที่พึ่งพาอาศัยของพุทธศาสนิกชนไม่เลือกชั้นวรรณะ ท่านมรณภาพอย่างสงบในปี พ.ศ.2494 ท่ามกลางความโศกเศร้าของลูกศิษย์ลูกหาและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย สิริอายุรวม 92 ปี 71 พรรษา ปัจจุบันวัตถุมงคลที่ท่านสร้างรวมทั้งเครื่องรางของขลัง ล้วนเป็นที่นิยมอย่างสูงทั้งสิ้น และส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง อาทิ มีดหมอ งาแกะสิงหราช ฯลฯ ท่านจะสร้างโดยใช้ “งาช้าง” ทั้งสิ้น จากหลักฐานตามหนังสือ “กิตติคุณหลวงพ่อเดิม พระครูนิวาสธรรมขันธ์ วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์” ซึ่งเรียบเรียงโดย ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงอุปนิสัยของหลวงพ่อเดิมสรุปได้ว่า …ท่านชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะโดยเฉพาะช้างและม้า เพื่ออาศัยในการบรรทุกหรือลากเข็นสัมภาระต่างๆ ในช่วงที่ท่านชราภาพท่านก็ได้อาศัยขี่หลังช้างอีกด้วย เมื่อช้างตายลงหลวงพ่อเดิมก็จะเก็บงาช้างเอาไว้ บางทีลูกศิษย์ลูกหาก็หามาฝาก หรือบางทีก็มีผู้นำมาขาย ท่านก็จะเก็บรักษาไว้ เมื่อมีเวลาว่างก็จะนำมาแกะเป็นรูปองค์พระบ้าง นางกวักบ้าง หรือเครื่องรางของขลังต่างๆ อาจสืบเนื่องจาก “งาช้าง” นอกจากจะมีคุณวิเศษเฉพาะตัวแล้ว ยังสามารถใช้ทดสอบพิษในอาหารได้ด้วย พระเกจิคณาจารย์หลายๆ รูปจึงมักนิยมนำมาแกะเป็นองค์พระ และเครื่องรางของขลังต่างๆ …งาแกะ หลวงพ่อเดิม ที่แกะเป็นองค์พระจะมี พระปิดตา นางกวัก พระประจำวัน ฯลฯ ส่วนเครื่องรางของขลังที่นับว่ามีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมสูงเห็นจะเป็น “มีดหมอหลวงพ่อเดิม” หลวงพ่อเดิม สร้าง “มีดหมอ” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2470 เพื่อแจกลูกศิษย์ที่อยู่ห่างไกลด้วยห่วงว่าจะได้รับอันตรายของคุณไสยหรือพวกอันธพาล การสร้างครั้งแรกนี้ขนาดของมีดหมอค่อนข้างใหญ่ เพื่อให้ควาญช้างได้เหน็บพกติดกาย เรียกกันว่า “มีดควาญช้าง” ต่อมาลดขนาดลงมาเป็นขนาดกลางและขนาดเล็กที่เรียกกันว่า “มีดหมอขนาดปากกา”การสร้าง “มีดหมอ” ของหลวงพ่อเดิมนั้น มีองค์ประกอบคือ ด้ามจะทำจากไม้และงาช้าง, ฝักมีดทำจากไม้และงาช้าง รัดด้วยแหวนคาดฝักซึ่งอาจทำจากเงิน หรือเป็นแบบสามกษัตริย์ คือ ทองคำ เงิน และนาก, ใบมีดและกั่นมีด, แผ่นประกับกั่นมีด 2 แผ่น เป็นเงินและนาก สุดท้ายคือตะกรุด หลวงพ่อเดิมยังได้ใส่ผงวิเศษในด้ามมีดพร้อมลงพระคาถานานัปการ อาทิ คาถาหัวใจอิติปิโส คาถาพระเจ้าห้าพระองค์ คาถาอาวุธ 5 ประการ ฯลฯ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณวิเศษของ “มีดหมอหลวงพ่อเดิม” จะครบเครื่องครบครันขนาดไหน แต่ก็มีข้อห้ามเช่นกัน คือถ้าไม่ใช่คนดี คุณวิเศษก็ไม่ประสิทธิผล ถัดมาก็ “งาแกะสิงหราช” ซึ่งมี 2 แบบ คือ แบบสิงหราชธรรมดา จะมีลวดลายก้นหอยตามตัว ขาทั้งสี่วางบนพื้นราบ กับ แบบสิงหราชคำรณ ซึ่งแตกต่างกันตรงขาหน้าขาหนึ่งจะยกเท้าขึ้นในลักษณะกางเล็บออกตะครุบเหยื่อการพิจารณางาแกะ หลวงพ่อเดิม เรียกได้ว่ายากเอาการอยู่ เนื่องด้วยการแกะนั้นเป็นงานฝีมือทำการแกะทีละตัวจึงไม่มีรูปแบบมาตรฐานเป็นที่แน่ชัด หลักเบื้องต้นในการพิจารณาคือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นงาแท้ๆ ก่อน โดยสังเกตจากธรรมชาติของงาคือ จะมีสีเหลืองกลมกลืนกันทั้งผิวและเนื้องา เมื่องามีอายุเก่าแก่มากๆ ก็จะ “แตกลายงา” ซึ่งจะแตกจากเนื้อในออกมา.
|