|
พระหลวงพ่อคูณ หลัง ยันต์ใบพัด ออกวัดพันอ้น จังหวัดเชียงใหม่ ออกปี 2523
พระชุดนี้จัดสร้างขณะที่หลวงพ่อคูณจำพรรษาที่วัดพันอ้น จ.เชียงใหม่ ข้อมูลจากหนังสือสปิริต ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และหนังสืออริยเจ้าแห่งด่านขุนทด หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ของสำนักพิมพ์เพชรประกาย วัดพันอ้นสร้างประมาณ พ.ศ.๒๐๔๔ ในสมัยพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พระเมืองแก้ว) กษัตริย์ล้านนาองค์ที่๑๓ ล้านนาไทยยังเป็นอิสระอยู่ในราชวงศ์มังรายมหาราช “พันอ้น” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของผู้สร้างวัด สร้างถวายไว้กับพระพุทธศาสนา ผู้สร้างอาจเป็นทหารหรือขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์เป็น”พัน” คนในสมัยโบราณเมื่อประสบผลสำเร็จในชีวิตมักจะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ แล้วใช้ชื่อตัวเองตั้งเป็นชื่อวัดที่สร้างขึ้น วัดพันอ้นตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เรื่องพระหลวงพ่อคูณ วัดพันอ้น เขียนจากบันทึกและการสัมภาษณ์หนึ่งในสองผู้สร้าง คือคุณสัมฤทธิ สรรสวาสดิ์ ส่วนผู้แกะแม่พิมพ์คือคุณเกษม เลิศมโนกุลชัย เสียชีวิตไปแล้ว คุณสัมฤทธิได้บันทึกการสร้างพระไว้ละเอียด สร้างตามกรรมวิธีของคณาจารย์โบราณเพื่อแจก ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้เข้าพรรษาของปีนั้น หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดพันอ้น ตามคำกราบอาราธนานิมนต์ของพระครูศรีปริยัติยานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดพันอ้น คุณสัมฤทธิ์กับคุณเกษมจึงได้ขออนุญาตหลวงพ่อคูณหุงสีผึ้งและจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกที่หลวงพ่อคูณได้มาจำพรรษาที่เชียงใหม่ เมื่อได้รับอนุญาต คุณสัมฤทธิ์และคณะได้เดินทางไปเก็บกู้ว่านต่างๆในป่าของอำเภอแม่แตง รวมทั้งว่านวิเศษที่เลี้ยงไว้ในบ้านอีกส่วนหนึ่ง โดยว่านวิเศษต่างๆที่หามาได้นี้ ส่วนหนึ่งนำมาหุงเป็นสีผึ้ง อีกส่วนหนึ่งนำมาเป็นส่วนผสมเนื้อหามวลสารในการสร้างพระเครื่อง ซึ่งว่านวิเศษต่างๆเหล่านี้ประกอบด้วย ว่านสาวหลง ว่านเสน่ห์จันทร์มหาโพธิ์ ว่านเสน่ห์จันทร์แดง ว่านดอกไม้ทอง ว่านมหาอุด ว่านนางกวัก ว่านจูงนาง ว่านกระแจะจันทร์ ว่านดินสอฤๅษี ว่านมหาโชค ว่านเครือเถาวัลย์หลง ว่านเสน่ห์จันทร์ขาว ว่านขมิ้นขาว ว่านมหานิยม ว่านมหาจักพรรษดิ ว่านช้างผสมโขลง ว่านห้าร้อยนาง ว่านเทพรำลึก ว่านไก่แดง ว่านไพลขาว ว่านกุมารทอง ว่านเสน่ห์ขุนแผน ว่านม้าสีหมอก ว่านกระชายดำ นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของมวลสารยังได้นำมวลสารศักดิ์สิทธิ์อื่นๆมาเป็นส่วนผสม ได้แก่ เกศาหลวงพ่อคูณ ยาฉุนและก้นบุหรี่ที่หลวงพ่อคูณเสกให้ เกสรดอกไม้ มีดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกบัว ดอกว่านต่างๆ ดิน๗พระธาตุ ชิ้นส่วนพระสกุลลำพูนที่แตกหักชำรุด เช่น พระคง พระสาม พระป๋วย พระสิบสอง พระลือ เป็นต้น พระเนื้อผงที่แตกชำรุด เช่น พระกรุวัดสามปลื้ม พระกรุวัดใหม่อมตรส พระกรุวัดเงินคลองเตย เป็นต้น พระเนื้อดินที่แตกหักชำรุด เช่น พระขุนแผนวัดบ้านกร่าง ผงหลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร เกสรดอกไม้มงคล ๑๐๘ เช่น ยอดเกสรดอกรักซ้อน ยอดเกสรดอกมะลิฉัตร ยอดเกสรดอกมะลิซ้อน เป็นต้น กาฝากยอดไม้มงคลต่าง เช่น กาฝากยอดไม้รัก กาฝากยอดไม้มะยม กาฝากยอดไม้ชัยพฤกษ์ เป็นต้น ขี้เถ้าของธนบัตรเก่าที่เผาด้วยเตโชธาตุโดยพระครูศรีปริยัติยานุรักษ์ ตัวประสานที่ใช้ในการผสมรวมของเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการกดพิมพ์ประกอบด้วย น้ำพระพุทธมนต์ของหลวงพ่อคูณ กล้วยน้ำว้าบดละเอียดทั้งลูก น้ำผึ้งหลวงเดือนห้า ดินสอพองจากลพบุรี ปูนขาวจากสระบุรี น้ำว่านบีบจากหัวสดๆ และกากว่านที่บดละเอียด ผงใบลานของวัดพันอ้นและวัดเชียงมั่น จากส่วนผสมของเนื้อหามวลสารต่างๆทำให้พระชุดนี้มีสีต่างกันดังนี้ ถ้าสีพระออกเหลืองจะมีส่วนผสมของเกสรดอกไม้กับว่านอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าสีพระออกแดงจะมีส่วนผสมของเนื้อดินของพระสกุลลำพูนและพระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่างอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าสีพระออกดำจะมีส่วนผสมของใบลานเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าสีพระออกเทาจะมีส่วนผสมของขี้เถ้าของธนบัตรเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อกดพิมพ์พระเครื่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อคูณได้เริ่มปลุกเสกตั้งแต่วันจันทร์ ซึ่งทางเหนือถือว่าเป็นวันมหาเสน่ห์ หลวงพ่อคูณทำการปลุกเสกทุกเช้าหลังเวลาบิณฑบาตรและเวลากลางคืนก่อนจะเข้าจำวัด จนกระทั่งวันออกพรรษา ใช้เวลาสร้างและเสก ๑ไตรมาส หลวงพ่อคูณได้นำออกแจกฟรีให้กับบรรดาลูกศิษย์สายเชียงใหม่ และนำมาแจกอีกครั้งเมื่อมีงานทอดผ้าป่าที่วัดพันอ้น พระที่สร้างมี ๑๒ พิมพ์ดังนี้ ๑. พิมพ์รูปไข่ครึ่งองค์ ยันต์ลอย ถอดพิมพ์จากเหรียญปีพ.ศ. ๒๕๑๗ ด้านหน้ามีอักขระว่า ”ยา นะ ยา” มียันต์อุข้างละตัวและตรงสังฆาฏิ ด้านหลังมีสองแบบ คือยันต์ใบพัดและพระปิดตา จำนวนสร้าง ๗๐๐องค์ ๒. พิมพ์รูปไข่ครึ่งองค์ ยันต์จม ด้านหน้ามีอักขระ ๓ตัว “ยา นะ ยา” ด้านหลังมีสองแบบ คือยันต์ใบพัดและพระปิดตา จำนวนสร้าง ๕๐๐องค์ ๓. พิมพ์สี่เหลี่ยมครึ่งองค์ เหมือนพิมพ์รูปไข่ครึ่งองค์แต่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม หลังยันต์และฝังตะกรุด ๔. พิมพ์พระประธานพร นั่งบนฐานบัวหงายในซุ้มโค้ง มีพิมพ์สี่เหลี่ยมและพิมพ์ตัดขอบโค้ง หลังแบบเดียวกับพิมพ์สี่เหลี่ยมครึ่งองค์ ฝังตะกรุด จำนวนสร้าง ๑๐๐กว่าองค์ ๕. พิมพ์สมเด็จหลังยันต์ ด้านหน้าเป็นพระสมเด็จสามชั้น ด้านหลังเหมือนพิมพ์พระประธานพร องค์ ฝังตะกรุด จำนวนสร้าง ๑๐๐กว่าองค์ ๖. พิมพ์สี่เหลี่ยมรูปเหมือนนั่งสมาธิ ฐานมีชื่อหลวงพ่อคูณ พื้นองค์พระเรียบ หลังพระปิดตา จำนวนสร้าง ๑,๐๐๐องค์ ๗. พิมพ์สี่เหลี่ยมรูปเหมือนนั่งสมาธิ ฐานมีชื่อหลวงพ่อคูณ ด้านหน้ามีอักขระยันต์รอบองค์หลวงพ่อ หลังพระปิดตา จำนวนสร้าง ๕๐๐องค์ ๘. พิมพ์สี่เหลี่ยมรูปเหมือนนั่งยองสูบบุหรี่ ฐานมีชื่อหลวงพ่อคูณ แต่ช่างแกะตัวหนังสือกลับข้าง หลังพระปิดตา จำนวนสร้าง ๑,๐๐๐องค์ ๙. พิมพ์สี่เหลี่ยมรูปเหมือนนั่งยองสูบบุหรี่ ฐานมีอักขระยันต์ “ยา นะ ยา” ด้านหน้ามีอักขระยันต์รอบองค์หลวงพ่อ หลังพระปิดตา จำนวนสร้าง ๕๐๐องค์ ๑๐. พิมพ์พระขุนแผน ถอดพิมพ์จากพระขุนแผนบ้านกร่าง หลังมีหลายแบบ หลังยันต์ใบพัด หลังพระปิดตา หลังเรียบ ส่วนใหญ่ฝังตะกรุดเงิน จำนวนสร้าง ๒๐๐องค์ ๑๑. พิมพ์พระปิดตาจัมโบ้ ด้านหลังมีสองแบบ คือหลังพระปิดตาและหลังยันต์ “มะ อะ อุ” ในรูปสามเหลี่ยม จำนวนสร้าง ๗๐๐องค์ ๑๒. พระปิดตาลอยองค์พิมพ์วัดหนัง นอกจากนี้ยังมีลูกประคำและลูกอมสอดตะกรุดเงิน ครั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ คุณสัมฤทธิ์ ได้นำพระเครื่องวัดพันอ้นที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ จำนวนหนึ่ง มาให้หลวงพ่อคูณปลุกเสกในพิธีเสาร์ห้าอีกครั้งหนึ่งที่วัดบ้านไร่ และได้ถวายพระเครื่องบางส่วนให้กับหลวงพ่อคูณ เพื่อสำหรับแจกให้กับผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยสมทบทุนในการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ของวัดบ้านไร่ และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน คณะกรรมการจึงนำปากกาเคมีมาเขียนที่ขอบด้านข้างขององค์พระเครื่องที่มีการปลุกเสกซ้ำในพิธีเสาร์ห้าปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ว่า “เสาร์๕ ปี ๒๕๓๓” ดังนั้นพระเครื่องชุดวัดพันอ้นที่คุณสัมฤทธิ์และคณะจัดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ นั้น จัดเป็นพระเครื่องที่สร้างจากมวลสารส่วนผสมต่างๆที่เป็นมงคลดังที่กล่าวนำเสนอข้างต้นแล้ว การปลุกเสกก็เป็นการปลุกเสกเดี่ยวในปีพรรษา ๒๕๒๓ และยังมีพระเครื่องชุดวัดพันอ้นบางส่วนที่พิเศษกว่า คือได้เข้าพิธีปลุกเสกในวันเสาร์ห้าอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๓๓
พระดีน่าใช้ครับ
|
|