ตะกรุด กระทิงโทน
ครูบาขันแก้ว
วัดสันพระเจ้าแดง จ.ลำพูน
ข้อมูลดีๆจากคุณธันชนก อักษรธรรม มาให้อ่าน ครับ
ชื่อตะกรุดลูกนี้ฟังดูเข้มแข็ง แข็งแรง เหมือนดุดัน ไม่เกรงกลัวใครทั้งสิ้น เมื่อก่อนตอนได้ตะกรุดลูกนี้มาใหม่ๆก็ไม่สนใจความหมายเท่าที่ควร เขาว่าครูบาขันแก้วทำแจกให้ ตอนที่มีชีวิต ก็เออ..ออกับเขาไป ได้มาก็ เก็บๆๆๆๆ ไว้ วันหนึ่งชักสนใจยันต์ที่ชื่อว่ากระทิงโทนนี้ขึ้นมา ตั้งแต่เขียนเรื่องยันต์ของครูบาขันแก้ว ที่ท่านเคยเขียนมา ตำหรับ ตำราที่ครูบาท่านมาลงเป็นตะกรุด เสาะหามาตลอด ทั้ง ความหมาย ทั้งที่มาแบบเชิงลึก เจอมาหมด เพียงแค่ว่า ตำราที่ครูบาขันแก้วท่านเรียกกระทิงโทน ไม่มีแฮะ... เอาละวะ ชักสนุกสิทีนี้
เมื่อหาที่มาที่ไปไม่ได้เลย ขออนุญาตแกะยันต์ที่ม้วนออกมา อ่าน เจาะไปตามอักขระตัวยันต์เลยว่า คำว่า กระทิงโทน ยันต์ที่ท่านลงเขียนเป็นยังไงกันแน่
ตะกรุดกระทิงโทนนี้ เป็นตะกรุดชนิดเดียวที่ครูบาขันแก้วทำแจกมากที่สุด จากการสอบถามข้อมูลของ พระอาจารย์ในคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ผู้ที่เป็นอาจารย์ของผม( ธันชนก) และพระอาจารย์ท่านนี้ คอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับครูบาขันแก้วมาตลอดแม้กระทั่งเรื่องยันต์ของครูบาขันแก้ว ท่านบอกว่า ตำรายันต์กระทิงโทนที่ครูบาขันแก้วท่านได้เขียนเป็นตะกรุดที่ได้ทำแจกไปนั้นนั้นเป็นตำราที่สืบทอดมาจาก โยมปู่ปินตา มียันต์ชื่อ กระทิงโทนนี้อยู่จริง แม้กระทั่งตอนที่พระอาจารย์ในคณะศิษย์รัศมีพรหม ได้บวชและได้อยู่รับใช้ครูบาขันแก้วเมื่อปี พ.ศ2524-2526 จนกระทั่งครูบาขันแก้ว มรณภาพ ท่านว่ายังเคยเห็นปั๊บสาโบราณ ที่เป็นของโยมปู่ปินตาตกสืบทอดมายังตัวครูบาขันแก้วท่าน ครูบาขันแก้วท่านยังให้ดูอีกว่ายันต์ลูกนี้ชื่อว่าอะไรด้วย และเคยมีรุ่นพี่ท่านหนึ่งขออนุญาตครูบาขันแก้วท่านเอาตำราเก่าเล่มนี้ไปถ่ายเอกสาร(พี่ชายที่อยู่ในกลุ่มคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก) เมื่อถ่ายเอกสารเสร็จแล้วก็ได้คืนตำราเล่มนั้นให้ครูบาขันแก้วไป แต่ปัจจุบันหลังจากครูบาขันแก้วท่านมรณภาพลงไม่รู้ว่าปั๊บสา ตำรายันต์นี้หายไป ณ ที่ใด ก็ยังคงที่จะสืบหากันต่อไป
ตัวยันต์ที่ครูบาขันแก้วเขียนในแผ่นโลหะ อักขระจะมีเพียงแค่ 3 คำจะขีดเป็นตารางอยู่9ช่อง
ช่องที่1. อ่านว่า ฆะ นะ ขา
ช่องที่2. อ่านว่า ขา นะ ฆะ
ช่องที่3. อ่านว่า ขา ฆะ นะ
เลยมานั่งหาความหมายว่าเป็นยันต์อะไรกันแน่ เมื่อรู้ถึงตัวยันต์แล้วว่าคือตัวอักขระอะไร ก็เลยตามหายันต์ที่เขียนแบบนี้ ไปเจอตำราหนึ่งเข้าจนได้ที่คล้ายๆกัน ตำรานี้เขียน เป็นตารางยันต์9ช่อง และเป็นอักขระเขียนแบบเดียวกันกับ ยันต์กระทิงโทนครูบาขันแก้ว แต่จะเพี้ยนกันเล็กน้อย แต่จะเขียนยันต์แบบนี้ผูกกัน 3 ตารางยันต์
ยันต์ลูกแรก เขียนว่า ยันต์ลูกที่2 เขียนว่า ยันต์ลูกที่3 เขียนว่า
ช่องที่1. ฆะ นะ ขา 1. ขา ฆะ นะ 1. นะ ฆะ ขา
ช่องที่2. ขา นะ ฆะ 2. ฆะ ฆะ ฆะ 2. นะ ฆะ ฆะ
ช่องที่3. ขา นะ ขา 3. ฆะ นะ ฆะ 3. ฆะ ฆะ ฆะ
มานั่งดูเหรียญของพระเกจิท่านใดบ้างที่เขียนยันต์นี้ หาตั้งนานก็มาเจอจนได้ครับอักขระยันต์ตัวนี้แหละ อยู่ที่หลังเหรียญของ
- ครูบาสม วัดเมืองราม รุ่นแรกปี พ.ศ.2525 เป็นยันต์ที่อยู่ใต้ฐานพระพุทธ ของด้านหลังเหรียญ
-เหรียญครูบาบุญทา วัดสันป่าเหียง จ.ลำพูน เหรียญนี้ออกเมื่อปี พ.ศ. 2527(ครูบาบุญทา วัดสันป่าเหียงท่านนี้ ว่ากันว่า ท่านเป็นผู้ถ่ายทอดวิชายันต์นาคคอคำให้กับ ครูบาหล้าตาทิพย์)
-เหรียญครูบา คำตัน วัดสันทรายหลวง เมื่อปี พ.ศ.2513
-เหรียญครูบาหล้า(ตาทิพย์) จันโทภาโส เหรียญบางรุ่นใช้ยันต์นี้ด้วยเช่นกัน
และอีกหลายๆที่ครับยันต์แบบนี้ในตำราท่านเรียกยันต์นี้มีชื่อว่า “กำลังพระเจ้า” ในปั๊บสาท่านกล่าวเอาไว้ว่า “ข่ามนักแก” แปลว่า ของมีคม ปืน ผาหน้าไม้ ทำอันตรายไม่ได้ แม้ปีน ผาหน้าไม้ยิงมาดุจห่าฝน ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ ให้ใช้สักอักขระยันต์ลงที่ร่างกายก็ดี เขียนลงผ้าโพกหัวก็ดี เขียนลงในแผ่นทองแดงเป็นยันต์ผูกที่เอว ที่แขนก็ดี ข่ามนัก คงทนอาวุธ ทั้งปวง
แต่เมื่อมาถึงครูบาขันแก้วแล้ว ด้วยการสืบทอดมาของแต่ละตำรา แต่ละพื้นที่ของแดนล้านนาจะแตกต่างกันบ้างก็จริง แต่ก็เห็นถึงคุณภาพที่โยมปู่ ปินตา ที่ท่านทำให้ เหล่าบรรดาลูกบ้าน สันพระเจ้าแดงแต่กาลก่อนเคยใช้ได้ผลมาแล้วในกาลก่อน จนยันต์นี้สืบมาถึงครูบาขันแก้ว ที่ท่านทำให้เหล่าบรรดาลูกศิษย์ของท่านไว้ใช้กัน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2521-2526 เพราะท่านมั่นใจในยันต์นี้มาก “ว่าดีจริง” ดั่งตำรากล่าว
และคำว่า กระทิงโทน น่าจะเป็นคำพูดที่เรียกว่า ยันต์โตน หรือยันต์โทน ของผู้ที่เคยได้ใช้บูชากันเมื่อเวลาออกรบก็ไม่ได้รับอันตราย ทำให้มีกำลังสู้ดุจ วัวกระทิง เลยเป็นการตั้งชื่อยันต์นี้ขึ้นมาใหม่ว่า ยันต์กระทิงโทน ยันต์ข่าม ยันต์คงกระพัน ทั้งหลายที่เคยเห็นและผ่านตามา หลายๆเล่ม ท่านจะเขียนอักขระแค่ไม่กี่ตัว และก็จะคล้ายๆกัน เช่นตะกรุดยันต์หนังครูบาชุ่ม ที่สืบมาจาก พระมหาเมธังกร(ครูบาหมา)วัดน้ำคือ จ.แพร่ จะเขียนว่า “พุทธังอัด ธัมมังอัดฯลฯ.....ฆะ ขา ขา ขา ฯ” จะมีคำว่า ฆะ ขา ขา ซึ่งก็แปลกมาก แม้ว่าจะอยู่คนละที่กัน การสื่อสารคมนาคมสมัยนั้นไม่สะดวก แต่การลงอักขระ ในยันต์คงกระพัน มีส่วนคล้ายกันน่าแปลกกว่านั้นคือ พุทธคุณ ได้ผลดั่งที่ตำราท่านโบราณคณาจารย์แต่กาลก่อนกล่าวไว้ไม่ผิดเพี้ยน
ผมเคยถามพระอาจารย์ในคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ว่า ยันต์กระทิงโทนนี้มีพุทธคุณยังไง ท่านก็ตอบว่า “เมื่อก่อนท่านก็เคยถามครูบาขันแก้วเหมือนกัน ว่าตะกรุดนี้มีพุทธคุณอย่างไร ครูบาขันแก้วท่านตอบว่า เป็นยันต์ข่าม มหาอุตย์ คงกระพัน ชนิดแมลงวันไม่ได้กินเลือด คงทนต่ออาวุธทั้งหลาย มีกำลังต่อสู้เวลาคับขันเพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายได้เป็นอย่างดีไปไหนก็แคล้วคลาดปลดภัย ไม่ต้องกลัวใครมาดักปล้นยิง ชิงทรัพย์ เป็นที่เมตตาแก่คนทั้งหลาย(มีด้วยแฮะ)”นั่นเป็นคำพูดที่ครูบาขันแก้วพูดกับพระอาจารย์ในคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก เมื่อปี พ.ศ.2524
ปัจจุบัน ยันต์นี้ก็เกือบสูญหายไปกับกาลเวลา และเมื่อจบจากครูบาขันแก้ว ก็ไม่มีใครได้สืบทอดต่อวิชายันต์กระทิงโทนจากท่าน และก็อีกหลายๆที่ที่เขาเคยทำและสร้างยันต์นี้มาก่อน ก็เกือบจะสูญหายไปหมด ทั้งที่ครูบาขันแก้วยกย่องว่า “ข่าม” หรือหนังเหนียว ที่สุด และก็ด้วยอำนาจจิตของครูบาขันแก้วที่ปลุกเสกตะกรุดนี้เป็นที่ประจักษ์ของเหล่าบรรดาลูกศิษย์ ว่าท่านทำอย่างตั้งใจให้ลูกศิษย์ ไม่ได้สุกเอาเผากินเพื่อจะได้เงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ตะกรุดลูกนี้ที่ชื่อว่ากระทิงโทน ท่านแจกอย่างเดียว นี่แหละครับ พระที่ชื่อว่า “พระผู้อุดมด้วยวิชชา และวิมุตฺติ” ที่เจตนาสร้างเพื่อสืบทอดตำราจากโยมปู่ท่านมาเป็นอย่างดี
บางคนมีตะกรุดของครูบาขันแก้ว หรือตะกรุดอะไรก็ได้ที่มีลักษณะเหมือนของครูบาขันแก้วท่านก็ตียัดว่า เป็นตะกรุด สรี๋กัญชัยด้ามแก้ว ไปซะอย่างงั้น ทั้งที่จริงนั่นอาจเป็นตะกรุดที่ชื่อว่า “กระทิงโทน”ก็ได้ครับ
ปล. ลองไปถามเจ้าอาวาสของวัดหัวลำโพง(คนปัจจุบัน)ที่กรุงเทพฯดู ว่าทุกวันนี้ท่านก็ยังพกตะกรุดของครูบาขันแก้ว ที่ชื่อว่ากระทิงโทนอยู่เพราะอะไร ? ท่านคนหนึ่งละที่ศรัทธาครูบาขันแก้ว สุดหัวใจเช่นกันครับ เพราะประสบการณ์จากตะกรุดกระทิงโทนที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเองครับ เมื่อปี พ.ศ.2525
ผมต้องขอขอบพระคุณคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก พระอาจารย์แห่งคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโกที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างของครูบาขันแก้วให้ผมฟัง ที่มาที่ไปเกี่ยวกับยันต์ต่าง เรื่องราวของครูบาขันแก้ว ณ ขณะตอนที่ท่านยังดำรงขันธ์อยู่ ท่านผู้รู้เรื่องยันต์ล้านนาพ่อหนานหลายๆท่าน เจ้าของปั๊บสาเก่าๆที่เอามาให้ชมและอธิบายว่า ยันต์นี้ตำรานี้สำนักนี้ มีจริง และแตกต่างกันอย่างไร กระผม ธันชนก ต้องขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่สละเวลามานั่งอ่านเรื่องยันต์ที่ผมเขียนลงไปให้ความรู้กัน อาจมมีข้อผิดพลาดบางประการต้องขอภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ขอบพระคุณทุกท่านครับ
ขอบคุณข้อมูลจากใจ คุณธันชนก อักษรธรรม มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
|