หลวงปู่ทวด วัดพระสิงห์ พิมพ์ใหญ่ ฐานรอยพระบาท
พระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ ปี 2506 เป็นพระเนื้อว่านผสมดินละเอียดและเกสรดอกไม้ ตามเทคนิคการสร้างพระของเมืองใต้ สีขององค์พระขึ้นอยู่กับปริมาณว่านที่ใช้ผสม ถ้าผสมว่านและกากยายักษ์มาก องค์พระก็จะออกสีดำ แต่ถ้าผสมดินและผงมากกว่าว่าน สีก็จะออกเป็นสีเทาดำ สีน้ำตาลก็มีแต่จำนวนไม่มากนัก มีพิมพ์ทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ
พิมพ์ใหญ่ ฐานรอยพระบาท ลักษณะองค์หลวงพ่อทวดจะคล้ายกับ ‘พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ รุ่นลอยน้ำ ปี 2502 – 2508’ นั่งบนฐาน ประทับด้วยรอยพระบาท พิมพ์นี้ถือว่าออกแบบได้อย่างสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำพิมพ์กับพระหลวงพ่อทวดที่สร้างจากวัดไหนเลย ถือเป็น ‘พิมพ์นิยม’ แบ่งย่อยออกได้ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าธรรมดาและพิมพ์หน้าผากมีขีด มีทั้ง สีดำ สีเทาดำ และสีน้ำตาล
พิมพ์ใหญ่ ฐานบัว ลักษณะเดียวกับ ‘พิมพ์ฐานรอยพระบาท’ แต่ที่ฐานจะเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย แบ่งย่อยออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ลึกและพิมพ์ตื้น พิมพ์ตื้นมีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ลึกเล็กน้อย มีทั้ง สีดำ สีเทาดำ และสีน้ำตาล
พิมพ์กลาง ลักษณะเหมือน ‘พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดใหญ่’ อาจเป็นการถอดพิมพ์มา พิมพ์นี้มีจำนวนน้อย เนื้อองค์พระมีสีดำและสีเทา
พิมพ์เล็ก ลักษณะเหมือนกับ ‘พระหลวงพ่อทวด พิมพ์หลังเตารีดเล็ก หลังตัวหนังสือ’ ซึ่งน่าจะถอดพิมพ์มาเช่นกัน องค์พระส่วนใหญ่จะสวยและคมชัด ด้านหลังเรียบ มีสีดำและสีเทา
พิมพ์จิ๋ว น่าจะเป็นการแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ องค์พระมีขนาดเล็กกว่าทุกพิมพ์ รวมทั้งความสวยงามและรายละเอียดขององค์พระค่อนข้างน้อยกว่าพิมพ์อื่น
พระหลวงพ่อทวด วัดพระสิงห์ ปี 2506 นี้ นอกเหนือจากการเป็นพระหลวงพ่อทวดที่พระอาจารย์ทิมปลุกเสกแล้ว ในปี พ.ศ.2512 ทางวัดพระสิงห์ยังได้นำเข้าร่วมในพิธีพุทธาภิเษก ‘พระกริ่งนเรศวร เมืองงาย’ อีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นจากทั่วประเทศกว่า 60 รูป รวมทั้งพระอาจารย์ทิม มาร่วมอธิษฐานจิต สร้างให้เป็นที่นิยมสะสมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสนนราคาก็ขยับสูงขึ้นตาม
|