ที่สุดของความหายาก เหรียญพระเจ้าเพชร รุ่นแรกเนื้อเงิน วัดหนองพันเงิน ปี 2540 เหรียญสุดยอดประสบการณ์ และเป็นที่หวงแหนของคนในพื้นที่อำเภอสันป่าตอง เนื้อเงินสร้างน้อยครับ หายากมากๆครับ นานๆจะเจอที สภาพเหรียญสวยแชมป์
ประวัติพระเจ้าเพชรวัดหนองพันเงิน
พระเจ้าเพชรวัดหนองพันเงิน เป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๙ นิ้ว เป็นศิลปะสมัยเชียงแสนสิงห์ ๑ ซึ่ง มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปอินเดีย โดยได้รับอิทธิพลแบบ ปาละ – เสนะ คือ มีลักษณะพระพักตร์กลม พระขนงเรียวโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม พระพักตร์คล้ายอมยิ้ม เม็ดพระศกค่อนข้างใหญ่เป็นต่อมกลมหรือรูปก้นหอย ไม่มีไรพระศก พระรัศมีเป็นต่อมกลมหรือรูปดอกบัวตูม พระองค์อวบ พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นพาดเหนือราวพระถัน ประทับท่านั่งขัดสมาธิเพชร ฐานพระมีบัวคว่ำบัวหงายรองรับและประดับด้วยแก้วอังวะหรือแก้วจืน สาเหตุที่ชื่อพระเจ้าเพชรเพราะองค์พระประทับนั่งท่าขัดสมาธิเพชร
จากหลักฐานทางศิลปะ สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๘๕ – ๒๐๖๘ ซึ่งเป็นสมัยของพระญาติโลกราช ถึง พระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นยุคทองของล้านนาทั้งทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและวรรณกรรมต่างๆ พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ในยุคนี้ บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น เป็นเหตุให้มีการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมรดกตกมาสู่ปัจจุบันอย่างมากมายทั้งในรูปวรรณกรรมและศิลปต่างๆ
พระเจ้าเพชรวัดหนองพันเงิน สันนิษฐานว่าคงจะสร้างโดยพระมหากษัตริย์ในยุคดังกล่าว เพราะจากการสำรวจจากองค์พระและหลักฐานอื่นๆ ทำให้เชื่อได้ว่า ต้องสร้างโดยพระมหากษัตริย์หรือผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เท่านั้น เพราะชาวบ้านธรรมดาคงไม่สามารถทำได้ เพราะองค์พระนั้นหล่อด้วยทองสำริดหนักทอง คือมีทองคำมากกว่าวัสดุอื่น และพุทธลักษณะนั้นงดงามเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปสำริด โบราณที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในล้านนา เพราะเมื่อ ๕๐๐ ถึง ๖๐๐ ปีก่อนหน้านี้วิวัฒนาการหรือเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่ทันสมัย แต่ช่างก็สามารถหล่อได้อย่างงดงามมากและเป็นฝีมือของช่างหลวง เพราะความงดงามจับใจจึงมักมีตำนานเปรียบเทียบว่า ขณะที่ทำการหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ อาจจะมีเทวดาลงมาช่วยหล่อเหมือนประวัติของพระพุทธรูปสำคัญองค์อื่นๆ เช่น หลวงพ่อพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ที่มี ตาปะขาวมาช่วยหล่อ จึงทำให้ได้พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่งดงามและศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ที่มีอายุมากกว่า ๘๐ ปีขึ้นไป ทำให้ทราบว่าพระเจ้าเพชรนี้เดิมอยู่ที่วัดป่าไม้แดง (ซึ่งตอนนี้เป็นวัดร้าง แต่ยังมีซากอุโบสถ เจดีย์เก่าปรักหักพัง ต้นโพธิ์และพระวิหาร ให้เห็นร่องรอยว่าเป็นวัดโบราณ) ต่อมาเมื่อวัดนี้ร้างลงก็มีต้นไม้ ต้นไผ่ และเถาวัลย์ต่างๆ ขึ้นเต็มบริเวณ ไม่มีผู้คนสนใจ ถาวรวัตถุต่างๆ ก็เสื่อมโทรมไป ในเวลาต่อมาได้มีชาวบ้านพร้อมพระภิกษุไปแผ้วถางที่วัดร้างนั้นก็ได้พบพระพุทธรูป ๒ องค์ องค์ที่ ๑ เป็นพระพุทธรูปสำริด คาดว่าเป็นพระสิงห์ ๓ เพราะองค์พระค่อนข้างบางคล้ายพระสุโขทัยและพระโมลีเป็นเปลว ชาวบ้านได้อาราธนาไปไว้ที่ วัดป่าอ้อย ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงประดิษฐานอยู่ภายในวัดป่าอ้อย ส่วนองค์ที่ ๒ เป็นพระปูนลักษณะไม่งดงามชาวบ้านป่าอ้อยได้ยกให้วัดศรีปันเงิน เมื่อพระและฆราวาสวัดศรีปันเงินได้พระพุทธรูปองค์นี้มาก็ได้อาราธนาใส่แพ (เอาไม้ไผ่มาตีเป็นแพแล้วใส่กงล้อ) ลากมาตามถนนข้ามน้ำแม่ขาน สมัยนั้นยังไม่มีสะพาน จุดที่ข้ามสันนิษฐานว่าคงเป็นบริเวณที่สร้างสะพานคอนกรีตปัจจุบัน ในระหว่างเคลื่อนย้ายทำให้ตัวองค์พระโยกคลอนไปมา พอมาถึงที่วัดปรากฏว่าปูนที่หุ้มองค์พระกะเทาะออก เมื่อช่วยกันกะเทาะเอาปูนออกจึงได้เห็นองค์พระที่แท้จริงเป็นสีทองเหลืองอร่าม ทั้งพระและชาวบ้านจึงช่วยกันเอาน้ำขมิ้นส้มป่อย คันธของหอมต่างๆ บูชาสักการะเป็นอเนกแล้ว ยกยอเอาเป็นพระประธานในวิหารสืบมา
ต่อมาวัดศรีปันเงินร้างลง เนื่องจากไม่มีศรัทธาอุปถัมภ์และตั้งอยู่ไกลบ้านคน พระสุวรรณ (พ่ออุ้ยหนานดี อายุ ๑๐๒ ปี), พระป๊อก โปธา (พ่ออุ้ยหลวงป๊อก) จึงได้ชักชวนศรัทธาไปอาราธนาพระเจ้าเพชรพร้อมทั้งของมีค่าทั้งหลาย เช่น พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน เครื่องไม้วิหาร ธรรมมาสเอก สัตตภัณภ์ หีบธรรมและของอื่นๆ มาไว้ที่วัดหนองพันเงินปัจจุบัน ซึ่งวัดหนองพันเงินที่เคลื่อนย้ายมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ นั้น น่าจะมาตั้งบนวัดร้างเดิม เพราะจากการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ได้บอกตรงกันว่า แต่เดิมตอนย้ายวัดมาใหม่ก็ได้มีต้นสลี (ต้นโพธิ์) และซากอิฐโบราณอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ว่าวัดหนองพันเงินปัจจุบันได้ตั้งทับวัดร้างเดิม และ ในขณะที่มีการเคลื่อนย้ายพระเจ้าเพชรมา ได้มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น ปรากฏว่าแพที่ใช้อาราธนาพระเจ้าเพชรมานั้นแพเกิดหักและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ถึง ๘ ครั้ง ทั้งพระและคณะศรัทธาต้องโปรยข้าวตอกและใช้ขันข้าวตอกดอกไม้อาราธนาบอกองค์พระเจ้าว่า “ขอหื้อพระเจ้าไปอยู่ที่อารามใหม่ เพื่อผู้ข้าทั้งหลายจะได้ดูแลอุปัฏฐากอุปถัมภ์ เพราะวัดเดิมตั้งอยู่ไกลผู้คน กลัวขโมยจะมาลักเอาองค์พระเจ้าไป” แพที่ใช้บรรทุกจึงจะสามารถเคลื่อนที่ได้แต่ก็ต้องอาราธนาถึง ๘ ครั้ง กว่าจะถึงที่ตั้งของวัดปัจจุบันได้
เมื่อพระเจ้าเพชรได้มาประดิษฐานอยู่ที่วัดหนองพันเงิน คณะศรัทธาก็ได้ช่วยกันสร้างพระวิหารหลังเล็กๆ เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้า แล้วช่วยกันอุปัฏฐากตามกำลังศรัทธาของตน ต่อมาได้มีโจรใจบาปมาแอบขโมยพระเจ้าเพชรองค์นี้หลายครั้งหลายคราว แต่ก็ไม่สำเร็จ ทุกครั้งพระเจ้าเพชรก็ได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ขโมยได้ประจักษ์จนต้องล้มเลิกความตั้งใจไป เช่น ครั้งแรก มีโจรมาขโมยองค์พระเจ้าไปขณะที่กำลังนำออกไปจากบริเวณวัด ก็ปรากฏว่าโจรหลงทาง ไม่สามารถหาทางออกจากบริเวณวัดได้ บันดาลให้มีแต่ป่าไม้ทำให้ต้องหามพระเจ้ากลับไปกลับมาจนใกล้รุ่งสาง ในที่สุดก็ต้องล้มเลิกความตั้งใจ ทิ้งองค์พระเจ้าแล้วหนีเอาตัวรอดไปก่อนที่ชาวบ้านจะมาพบ ต่อมามีคนมาขโมยอีกแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ครั้งล่าสุด โจรใจบาปหวังที่จะขโมยพระเจ้าให้ได้ จึงลงมือโดยใช้ยาพิษผสมอาหารให้สุนัขและแมวกินในตอนหัวค่ำ จนสุนัขและแมวตายหมด พอตกดึกจึงลงมือใช้แก๊สเป่าเหล็กประตูวิหาร ซี่กรงและทุบฐานพระเจ้า ใช้ชะแลงงัดองค์พระ หวังจะยกเอาพระเจ้าไป แต่ท่านก็ได้แสดงปาฏิหาริย์อีกครั้ง ทำให้โจรไม่สามารถยกองค์พระขึ้นได้ จนหมดความสามารถ จึงได้ละทิ้งความพยายาม แต่กระนั้นก็ได้นำเอาพระบริวารอื่นๆ ไป เช่น พระทองคำหนักกิโลครึ่ง ๑ องค์ พระเงิน ๒๓ องค์ พระทรงเครื่องและของมีค่าต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งความเสียหายในครั้งนี้ไม่สามารถประเมินค่าเป็นเงินตราได้
พระเจ้าเพชร เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธานุภาพเด่นในด้านยืนยงคงกระพันและแคล้วคลาดปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่ได้ประสบด้วยตนเอง โดยมีเรื่องเล่าว่า เคยมีคนเอาปืนมายิงนกที่เกาะอยู่บนหลังคาพระวิหาร แต่ยิงปืนไม่ออกแม้จะพยายามอย่างไรก็ตาม บางครั้งก็มีการลองโดยการเอาปืนยิงเข้าภายในวัดก่อน ปืนก็ยิงไม่ออก แต่หากยิงไปทางอื่น ปรากฏว่าปืนก็ยิงได้เป็นปกติ ในส่วนของวัตถุมงคลที่เป็นสารูปของพระเจ้าเพชรนั้นสร้างมา ๔ รุ่น ทุกรุ่นนั้นทรงพุทธานุภาพเหมือนกันหมด คนที่บูชาเอาติดตัวไปต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าท่านศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ชาวบ้านที่ประสบด้วยตนเองต่างก็เชื่อในพุทธานุภาพของพระเจ้าเพชร ซึ่งมีทั้งทหาร ตำรวจและบุคคลทั่วไป ต่างได้ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้น พระเจ้าเพชรท่านยังประทานพรให้กับสาธุชนที่มากราบไหว้ท่านจนเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ การบันดาลให้ลูกแก่คนที่มีลูกยากจนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ สังเกตได้จากการนำเสื้อผ้าเด็กมาแก้บนเป็นจำนวนมาก ก็เนื่องด้วยคนเหล่านั้นมาขอลูกแล้วได้สมปรารถนา มีคนมาแก้บนกับองค์ท่านจนบางครั้งไม่มีที่เก็บ ต้องนำเอาไปแจกจ่ายแก่เด็กทั่วไป ในเรื่องอื่นๆ เช่น หน้าที่การงาน การเรียน การค้าขายต่างๆ พระเจ้าเพชรก็ประทานพรให้เช่นกัน
เคยมีชาวบ้านพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และเชื่อกันว่าเกี่ยวกับองค์พระเจ้าเพชรเป็นแน่ เนื่องจากในองค์พระเจ้าเพชรได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๙ เม็ด ดังนั้นในวันศีลใหญ่หรือวันสำคัญทางศาสนา จะมีดวงไฟลอยออกจากองค์ท่านไป หรือบางครั้งก็ลอยเข้ามาสู่องค์ท่าน ซึ่งชาวบ้านก็เชื่อว่าเป็นพระธาตุเสด็จไปเที่ยว บางครั้งก็มีลำแสงพุ่งตรงมาจากท้องฟ้าลงมาสู่วิหารที่ประดิษฐานพระเจ้า ผู้คนเชื่อว่าเป็นเทวดาที่มาทำหน้าที่ปกปักรักษาองค์พระเจ้าให้อยู่คู่กับสถานที่นี้ตลอดไปตราบ ๕,๐๐๐ ปี เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะแก่คนและเทวดาทั้งหลาย และเพื่อป้องปรามคนใจบาปที่จ้องจะมาขโมยพระเจ้าไปจากวัดนี้
จากคำเล่าลือของชาวบ้าน เรื่องการได้พบเห็นการแผ่บารมีของพระเจ้าเพชร เป็นแสงไฟให้ชาวบ้านได้พบเห็นดังกล่าวนั้น ทำให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธาในองค์พระเจ้ามาก และเกิดความเชื่อมั่นว่า ท่านสามารถประทานพรได้จริง ท่านจึงเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญของผู้ศรัทธาจากต่างถิ่น และชาวบ้านในละแวกนั้นเสมอมา
|