|
เหรียญครูบาชุ่ม โพธิโก รุ่นแรกเนื้อทองแดงบล็อคสองตานิยม มาในซองเดิมๆ
ครูบาชุ่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (วังมุย) เป็นชาวลำพูนโดยกำเนิด เกิดในตระกูล “นันตละ” ณ บ้านวังมุย ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อวันอังคาร เดือน ๕ เหนือ ปีกุน ขึ้น ๗ ค่ำ พ.ศ.๒๔๔๑ โยมบิดาชื่อ “บุญ” โยมมารดาชื่อ “ลุน” บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๒ ปี ณ วัดวังมุย โดยมีครูบาอินตา วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานไม่ฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่บัดนั้น
ในระหว่างเป็นสามเณรได้ศึกษาปริยัติธรรม โดยเดินทางไปศึกษาในสำนักวัดผ้าขาว จ.เชียงใหม่ จากนั้นไปศึกษาต่อที่วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวง ฯลฯ จนมีความรู้สามารถแปลหนังสือและพระไตรปิฎกได้อย่างแตกฉาน ต่อมาได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดวังมุย ตามเดิม
เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท โดยมีครูบาอินตา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาสนาจารย์ ได้ฉายาว่า “โพธิโก”
หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนักวัดท้าวศรีบุญเรือง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โดยมีครูบาสุริยะเป็นพระอาจารย์ และได้ศึกษากับครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่งซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมอันมีชื่อเสียงในสมัยนั้นอีก ๒ ปี จากนั้นได้ไปศึกษาต่อกับครูบาแสน วัดหนองหมู อีก ๒ ปี
จนมีความรู้ความสามารถอย่างครบถ้วน จึงเริ่มออกเดินธุดงค์ ลัดเลาะไปตามริมน้ำปิง สู่ดินแดนภูเขาเขต อ.ลี้ อ.ฮอด ได้บูรณะพระธาตุดอยเกิ้ง อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
เสร็จแล้วได้เดินทางต่อไปยัง จ.แพร่ เพื่อศึกษาวิชาเพิ่มจาก พระมหาเมธังกร พระผู้ทรงวิทยาคุณชื่อดังในสมัยนั้น
ต่อมาได้มอบตัวเป็นศิษย์ท่าน ครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมกับร่วมงานสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ นอกจากนี้ยังได้รับการเรียนรู้วิธีปฏิบัติธรรมจากท่านครูบาเจ้าอีกด้วย
ครูบาชุ่ม เป็นผู้เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติมาก มีจิตที่แน่วแน่มั่นคง มีพลังจิตและญาณอันแกร่งกล้า ทั้งเชี่ยวชาญในอักขระวิธี พระเวท พระสูตร จนสามารถผูกอักขระเลขยันต์และพระคาถาอาคมต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
เกียรติประวัติอันสำคัญยิ่งของครูบาชุ่ม โพธิโก ในฐานะเป็นศิษย์ของ ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย คือ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เก็บรักษา พัดหางนกยูง และ ไม้เท้า ของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย...(ครูบาชุ่ม มรณภาพ ๑๐ กันยายน ๒๕๑๙)
สำหรับวัตถุมงคลที่ครูบาชุ่ม ได้สร้างขึ้นในยุคแรกๆ คือ ยันต์ตะกรุดเสื้อ ยันต์ตะกรุดหนังลูกควายตายพราย ทำจากหนังลูกควายเผือกตายพราย (ตายในท้อง) หุ้มด้วยครั่งพุทรา โดดเด่นทางมหาอุดและแคล้วคลาด ตำรานี้ท่านได้รับการถ่ายทอดมาจาก พระมหาเมธังกร เจ้าอาวาสวัดน้ำคือ อ.เมือง จ.แพร่ (ต่อมาตำรานี้ได้ตกทอดสู่ ครูบาขันแก้ว วัดป่ายาง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นสหธรรมิกกับครูบาชุ่ม)
วัตถุมงคลอีกอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อของครูบาชุ่ม คือ ตะกรุดปรอท ใช้ในทางป้องกันคุณไสย และตะกรุดต่างๆ อีกหลายอย่าง รวมทั้งผ้ายันต์
ต่อมาเมื่อปี ๒๕๑๗ คณะศิษย์ได้กราบเรียนขออนุญาตสร้างเหรียญรูปเหมือนของท่านเพื่อไว้บูชาเป็น ที่ระลึก เป็นขวัญและกำลังใจ ท่านได้อนุญาตให้ศิษย์ของท่านคือ ครูทองใบ สายพรหมา ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ (ภายหลังได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ นามว่า หลวงพ่อทองใบ โชติปัญโญ) ท่านได้ปรึกษากับ อ.ยุทธ เดชคำรณ ขณะดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์เขต ๘ ท่านเป็นนักเขียนอิสระในหนังสือ “ของดีเมืองเหนือ” และนิตยสาร “ลานโพธิ์”, ม.ร.ว.เอี่ยมศักดิ์ จรูญโรจน์ และคุณอิศรา เทพหัสดิน ณ อยุธยา เจ้าของโรงพิมพ์ช้างคลาน จ.เชียงใหม่
คุณอิศราได้ออกแบบเหรียญและนำไปให้ครูบาชุ่ม พิจารณา ท่านครูบาได้อนุญาตให้จัดสร้างได้ โดยท่านได้ลงอักขระเลขยันต์ในแผ่นทองเพื่อเป็นชนวนในการผสมเนื้อโลหะสำหรับ การจัดสร้างเหรียญรุ่นนี้ ซึ่งถือเป็น “รุ่นแรก”
เมื่อเหรียญปั๊มเสร็จเรียบร้อยแล้วได้มีการฉลองสมโภช เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๗ โดยนิมนต์เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ร่วมนั่งปรกบริกรรมแผ่เมตตาอธิษฐานจิตตลอดคืน พอใกล้รุ่งของวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๗ ได้มีการสวดเบิกพระเนตร และสวดมงคลสูตรต่างๆ จนเสร็จพิธีแล้วก็มีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
จำนวนเหรียญที่จัดสร้าง...๑.เหรียญทองคำ รูปไข่ใหญ่ ๓๐ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๒,๕๐๐ บาท (ในสมัยนั้น)...๒.เหรียญทองคำ รูปไข่เล็ก ๑๙ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๑,๘๐๐ บาท...๓.เหรียญเงิน รูปไข่ใหญ่ ๙๙๙ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๑๕๐ บาท...๔.เหรียญเงิน รูปไข่เล็ก ๔๙๙ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๑๐๐ บาท...๕.เหรียญนวโลหะ รูปไข่ใหญ่ ๙๙๙ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๕๐ บาท...๖.เหรียญนวโลหะ รูปไข่เล็ก ๔๙๙ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๓๐ บาท...๗.เหรียญทองแดง รูปไข่ใหญ่ ๑๓,๖๒๙ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๒๕ บาท...๘.เหรียญทองแดง รูปไข่เล็ก ๑,๕๙๙ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๒๕ บาท...๙.เหรียญโภคทรัพย์ เนื้อเงิน ๒๗๗ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๑๐๐ บาท...๑๐.เหรียญโภคทรัพย์ เนื้อทองแดง ๑,๕๐๐ เหรียญ บูชาเหรียญละ ๒๐ บาท...๑๑.ล็อกเกตรูปเหมือน หลังอุดผงพุทธคุณ ๓๒๗ อัน บูชาอันละ ๑๕๐ บาท...๑๒.พระสังกัจจายน์ เนื้อผง พิมพ์ซุ้มเล็บมือ ด้านหลังยันต์ขวัญถุงโภคทรัพย์ ๑,๐๗๗ องค์ บูชาองค์ละ ๓๐ บาท
ในการนี้ได้จัดรวมชุดวัตถุมงคลเป็นชุดกรรมการ จำนวน ๑๐๐ ชุด บูชาชุดละ ๕๕๐ บาท
การตอกโค้ด...เหรียญชุดกรรมการ ตอกโค้ด “ชุ่ม” ที่สังฆาฏิ ทุกองค์ ราคาค่านิยมในปัจจุบัน เหรียญทองคำทั้งรูปไข่ใหญ่ และรูปไข่เล็ก ราคาหลักแสนขึ้น แต่ไม่มีของหมุนเวียนในท้องตลาด
เหรียญเงิน รูปไข่ใหญ่ ราคา ๒-๓ บาทขึ้นไป, เหรียญเงิน รูปไข่เล็ก ราคาหลักหมื่นต้น ถึงหลักหมื่นกลาง, เหรียญโภคทรัพย์ เนื้อเงิน หลักหมื่นกลาง ถึงหมื่นปลาย, เหรียญนวโลหะ รูปไข่ใหญ่ หลักหมื่นต้น, รูปไข่เล็ก หลักพันปลายถึงหลักหมื่นต้น, เหรียญทองแดง รูปไข่ใหญ่ หลักพันกลาง, รูปไข่เล็ก หลักพันต้น, ล็อกเกตรูปเหมือน ๒-๓ หมื่นบาทขึ้นไป
นับได้ว่า เหรียญครูบาชุ่ม โพธิโก ชุดนี้มีประวัติการจัดสร้างที่ชัดเจน น่าเก็บไว้สักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง
(ขอขอบพระคุณ...ข้อมูลจาก หนังสือ “วังมุยแห่งหริภุญไชย” โดย...พ.ต.อ.พิเศษ อรรณพ กอวัฒนา และสมาชิก “อินทราพงษ์” พิมพ์ที่ ส.ไพบูลย์การพิมพ์ ถนนสี่พระยา เขตบางรัก พ.ศ.๒๕๓๗ และ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ “สยาม” พิมพ์ที่โรงพิมพ์ช้างเผือกการพิมพ์ นายอิศรา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา พ.ศ.๒๕๑๗)
|
|