รูปหล่อบูชารุ่นแรก ครูบาอินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง
พระครูภาวนาภิรัต หรือที่เราเรียกกันว่า “ครูบาอินทจักร” วัดน้ำบ่อหลวง จ.เชียงใหม่ องค์นี้สร้างเป็นรุ่นแรก ปี16 ใต้ฐานดินไทยเทปูนขาวทับ พระสร้างน้อยหายากครับ
พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) วัดน้ำบ่อหลวง เชียงใหม่
ข้อมูลประวัติ พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) วัดน้ำบ่อหลวง เชียงใหม่
ชาติภูมิ
พระสุธรรมยานเถร(ครูบาอินทจักรรักษา) มีนามเดิมว่า อินถา นามสกุล พิมสาร เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๙ ตรงกับแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ บ้านป่าแพ่ง ตำบลแม่แรง อำเภอปากบ่อง (คืออำเภอป่าซางในปัจจุบัน) จังหวัดลำพูน
บิดาชื่อ นายเป็ง นามสกุล พิมสาร มารดาชื่อ นางบัวถา นามสกุล พิมสาร มีอาชีพทำนาทำไร่ เป็นครอบครัวที่เป็นสัมมาปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อนบ้านและลูกหลานรุ่น
ต่อ ๆ มา ท่านมีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน ทั้งหมด ๑๓ คน
โยมบิดาพ่อเป็ง พิมสาร เมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจใฝ่ในทางพุทธศาสนา มุ่งศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ดังนั้นครอบครัวพิมสารจึงเป็นพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนตามหลักการและอุดมการณ์ของชาวพุทธที่ดีเสมอมา ดังเช่นการไปทำบุญตักบาตรทุกวันพระ รักษาศีล ๕ และรักษาอุโบสถศีลในช่วงเข้าพรรษา เป็นต้น
ส่วนโยมมารดาคือ แม่บัวถา พิมสาร เมื่อครั้งอยู่ครองเรือนก็ได้ปฏิบัติเฉกเช่นสามี คือ บ้านถูกจัดระเบียบให้มีกิจกรรมภายในไม่ต่างไปจากวัด หลังจากท่านได้สละบ้านเรือนออกบวชเป็นชี ระเบียบนี้ก็คงปฏิบัติกันต่อ ๆ มา มิได้ขาด แม่บัวถา พิมสาร ท่านถึงแก่กรรมในท่านั่งสมาธิ ซึ่งถือได้ว่า เป็นชาวพุทธตัวอย่างที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก จนเป็นที่รู้จักของประชาชนในหมู่บ้าน ป่าแพ่งตราบถึงปัจจุบัน
ชีวิตก่อนออกบวช
ท่านครูบาอินทจักรรักษา เมื่อครั้งยังเยาว์วัยเป็นเด็กที่มีอุปนิสัย ขยัน รักสงบ มีความกตัญญูกตเวที ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของบิดามารดา เช่น ช่วยทำงานในไร่นาที่พอจะช่วยได้ทุกอย่าง เลิกงานจากทำนาก็จะเข้าสวน พรวนดิน เลี้ยงวัวควาย งานบ้านที่ทำส่วนมากได้แก่การตักน้ำตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตของชาวชนบทในอดีต หลังจากนั้นก็จะกวาดบ้านถูบ้านดูแลน้อง ๆ เพราะพี่ที่โตกว่าต้องทำงานช่วยพ่อแม่
ครั้นเมื่อเติบโตถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนก็ได้รับศึกษาเล่าเรียน โดยในระยะแรกได้ศึกษาเล่าเรียนจากพี่ชายของตนเอง ซึ่งเคยบวชเรียนมาก่อนเวลานั้น พี่ชายได้ลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสจึงได้เอาความรู้ในขณะที่บวชเรียนมาอบรมสั่งสอนน้องต่อ
หลังจากที่มีการเปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้น สามเณรอินถาจึงเกิดความคิดที่จะเรียนต่อ ได้เข้าไปเรียนพระอุปัชฌาย์ให้ทราบ พระอุปัชฌาย์เห็นความเจริญก้าวหน้าจึงอนุญาต จึงได้เข้าเรียนเพิ่มเติมจนจบชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๓ ซึ่งเทียบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปัจจุบัน โดยได้เดินทางมาเรียนที่วัดดอนแคร (วัดจีน) ปัจจุบันเป็นโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เรียนวิชาสามัญพื้นฐานเพิ่มเติมด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ บัญชี ลูกคิด เป็นต้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ การศึกษาในโรงเรียนขณะนั้น เป็นการศึกษาเล่าเรียนที่ค่อนข้างลำบากยากเข็ญ เพราะขณะนั้นมีครูสอนในโรงเรียนน้อย การสอนจึงไม่ทั่วถึงแก่ทุกคน ประกอบกับอุปกรณ์ในการเรียนการสอนก็มีไม่เพียงพอ ถ้านักเรียนไม่มีความอุตสาหะ เพียกเพียรพยายาม ย่อมไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้
การอุปสมบท
เมื่อท่านครูบาอายุครบ ๒๐ ปี เกิดความคิดขึ้นว่า “ในบัดนี้อายุกาลของเราครบบวชแล้ว ควรจะเดินทางกลับไปอุปสมบทที่ภูมิลำเนาเดิม ณ วัดป่าเหียง ต.แม่แรง เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๙ ปีมะโรง (พ.ศ.๒๔๕๗ – ๒๔๖๑ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑) โดยมี พระอธิการแก้ว ขตฺติโย (พระขัตติยะคณะวงษา) เจ้าอาวาสวัดป่าเหียงเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระฮอม โพธาโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ มีพระสม สุรินฺโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ทั้งสองรูปนี้อยู่วัดป่าเหียงเช่นกัน ได้ฉายาว่า อินฺทจกฺโก
หลังจากอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ท่านครูบาได้ช่วยทำงานและเป็นธุระในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพระอุปัชฌาย์หลายประการ ทั้งนี้เพราะท่านครูบามีความรู้ทั้งทางคดีโลกและทางคดีธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติ
เมื่อท่านครูบาอินทจักรรักษา ปฏิบัติธรรมจนเกิดดำริในการออกเดินธุดงค์แล้วก็บังเกิดความปลื้มปิติขึ้นมา ท่านครูบาจึงน้อมจิตไปในการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อตนเอง เป็นขณะเดียวที่พระน้องชาย คือ ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก ก็ได้ออกธุดงค์อยู่ในเขตอำเภอป่าซาง และอำเภอจอมทอง ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ซึ่งขณะนั้นท่านมีพรรษาได้ ๓ พรรษา ท่านครูบาได้ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ออกเดินธุดงค์กับพระน้องชาย ซึ่งพระอุปัชฌาย์ได้อนุโมทนาพร้อมทั้งอนุญาตให้ออกเดินธุดงค์
ชีวิตในบั้นปลาย
ครูบาอินทจักรรักษา ได้เห็นสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิตโดยพิจารณาว่า “เออ เราเป็นคนหลงรักตัวตนมาตั้งหลายสิบปี หลงอยู่สารพัดแท้ จริงมันก็เป็นสิ่งน่ากลัวทั้งสิ้น” ท่านครูบาได้ดำเนินงานในฐานะเจ้าอาวาสวัดน้ำบ่อหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗ – ๒๕๒๐ รวมทั้งสิ้น ๔๔ ปี
๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ท่าครูบาเกิดอาพาธอย่างกะทันหันคืนนั้นท่านรู้สึกชาที่แขนและขาเบื้องซ้าย แพทย์ตรวจดูอาการและวินิจฉัยว่า เป็นโรคกระดูกสันหลังตรงบั้นเอวอักเสบ ต้องทำการผ่าตัด ขณะที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลท่านมีโรคแทรกซ้อนคือ ท้องร่วงอย่างรุนแรง แพทย์ให้ยาอย่างไรก็ไม่หาย ในที่สุดท้องร่วงก็ทุเลาลงเพราะฉันข้าวเหนียวปิ้ง ท่านป่วยอยู่เช่นนี้จนอาการทรุดหนักในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๑๔ นายแพทย์ผู้ตรวจรักษาลงความเห็นว่า ท่านจะสิ้นใจในเวลาตีสองของคืนนี้ จึงได้ถอดสายช่วยหายใจออก โดยได้วินิจฉัยว่าท่านครูบาอาพาธด้วยโรค
๑) โรคกระดูกสันหลังอักเสบ
๒) โรคอัมพาต
๓) โรคมะเร็งในสมอง
๔) โรคเส้นประสาทสันหลังอักเสบ
๕) โรคสันนิบาต
หลังจากแพทย์ได้กลับไป บรรดาศรัทธาประชาชนที่อุปฐากท่านจะเริ่มทยอยกันกลับ เพราะแน่ใจว่าท่านครูบาคงสิ้นใจในคืนนี้ ครั้นถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๔ อาการป่วยของท่านก็ทรงตัวแต่ท่านไม่ได้มรณภาพตามที่แพทย์วินิจฉัย แต่กลับหายป่วยในเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์แก่เถรานุเถระที่มาเฝ้าดูอาการ ตลอดเวลาที่ท่านครูบานอนป่วย ไม่มีลูกศิษย์คนใดเคยเห็นท่านร้องครวญคราง สังเกตเห็นเพียงอาการที่ท่านครูบานอนนิ่งกัดกรามพร้อมกับขมวดคิ้ว และหลับตาลงเท่านั้น
หลังจากท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ในตำแหน่ง พระสุธรรมยานเถร พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่านก็เกิดอาพาธอีกครั้งด้วยโรคประจำตัวที่ท่านเคยอาพาธเมื่อครั้งแรก ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน เพราะโรคร้ายกำเริบหนักประกอบกับในเวลานั้นท่านได้ชราภาพมากแล้ว ในคืนวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ เวลา ๒๒.๒๐ น. ท่านครูบาได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกสงฆ์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๒ พรรษา
อีก ๓ ปีต่อมา ศิษยานุศิษย์ได้ขอพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔ โดยมี พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานรัฐสภาเป็นผู้อัญเชิญไฟพระราชทานและเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ทอดถวายผ้าไตรพระราชทาน โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดสุทัศเทพวราราม เป็นองค์พิจารณาผ้าไตรบังสุกุล และจุดไฟพระราชทานโดยมีพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนทั่วไปนับหมื่นมาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพในครั้งนั้น
ขอบพระคุณข้อมูลทั้งหมดจากเว็บไซต์ ทรูอมูเล็ต ดอทคอม
|