หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ มาเชียงใหม่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 พักที่วัดพันอ้นเพราะท่านสนิทกับพระครูศรีปริยัตยานุรักษ์ (ครูบาใฝ) เจ้าอาวาส ท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนเชียงใหม่หลายคน คุณสัมฤทธิ สรรสวาสดิ์ ได้พาเพื่อนๆเข้าเป็นศิษย์หลวงพ่อ และปีต่อๆมาก็ได้ไปหาหลวงพ่อทุกปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 ตรงกับวันเสาร์ที่ 5 เมษายน ขึ้น 5 ค่ำเดือน 5 พ.ศ. 2522 คุณสัมฤทธิได้สร้างพระจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปเข้าพิธีเสาร์ 5 ของหลวงพ่อคูณที่วัดสระแก้ว
พระหลวงพ่อคูณวัดพันอ้นรุ่นเสาร์ 5 พ.ศ. 2522 มี 5 พิมพ์คือ
1) พระพิมพ์สมเด็จสามชั้น ด้านหลังรูปหลวงพ่อนั่งเต็มองค์ ใช้เหรียญรุ่นสร้างบารมี พ.ศ. 2519 เป็นแม่พิมพ์ เลขข้างล่าง 56 หมายถึงอายุหลวงพ่อ 56 ปี จำนวนสร้าง 56 องค์เท่าอายุ พิมพ์นี้ส่วนใหญ่มอบให้กับศิษย์ใกล้ชิด มีแบบฝังตะกรุดที่ใต้องค์ท่านและไม่ฝังตะกรุด ซึ่งพระที่ฝังตะกรุดมีน้อยมากๆประมาณ 9 องค์ และบางองค์มีจารซึ่งก็น้อยมากๆเช่นกัน
2) พระพิมพ์ปิดตากลีบบัว นั่งปิดตา ปิดหู ปิดทวาร บนฐานดอกบัว จำนวนสร้าง 30 องค์
3) พระปิดตาไม้แดงแกะ พิมพ์คล้ายวัดหนัง แกะโดยช่างติ๋ว ทวีศักดิ์ สมวงค์ จำนวนสร้าง 10 องค์
4) พระปิดตาเนื้อผง ถอดพิมพ์จากพระปิดตาไม้แดงแกะ ก้นใส่ตะกรุดเงิน จำนวนสร้าง 30 องค์
5) ผ้าขาวประทับรอยเท้าหลวงพ่อด้วยผงขมิ้น
พระหลวงพ่อคูณ วัดพันอ้นรุ่นไตรมาส พ.ศ. 2523
เริ่มฤดูการเข้าพรรษา เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2523 หลวงพ่อคูณได้มาจำพรรษาที่เชียงใหม่เป็นเวลา 3 เดือน คุณสัมฤทธิจึงได้ขออนุญาตหลวงพ่อหุงสีผึ้งและสร้างพระรูปเหมือนเพื่อเป็นที่ระลึกที่หลวงพ่อได้มาจำพรรษาที่เชียงใหม่ ท่านก็อนุญาตพระที่สร้างมีหลายพิมพ์ ดังนี้
1) พิมพ์รูปไข่ครึ่งองค์ ยันต์ลอย ถอดพิมพ์จากเหรียญรุ่นบารมี พ.ศ.2517 ด้านหน้ามีอักขระว่า "อย่า นะ อย่า" มียันต์ "อุ" ข้างละตัว และตรงสังฆาฏิ ด้านหลังมีสองแบบคือยันต์ใบพัดและพระปิดตา จำนวนสร้างรวมกัน 700 องค์
2) พิมพ์รูปไข่ครึ่งองค์ ยันต์จม ด้านหน้ามีอักขระสามตัว ด้านหลังมีสองแบบ คือยันต์ใบพัดและพระปิดตา จำนวนสร้างรวมกัน 500 องค์
3) พิมพ์สี่เหลี่ยมครึ่งองค์ เหมือนพิมพ์รูปไข่ครึ่งองค์แต่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม หลังยันต์สามแถว "อย่า นะ อย่า" "มา มะ มา" และ "นะ ชา ลิ ติ" หลังฝังตะกรุด
4) พิมพ์พระประทานพร นั่งบนฐานบัวหงายในซุ้มโค้ง มีพิมพ์สี่เหลี่ยมและพิมพ์ตัดขอบโค้ง หลังแบบเดียวกับพิมพ์สี่เหลี่ยมครึ่งองค์ ฝังตะกรุด จำนวนสร้าง 100 กว่าองค์
5) พิมพ์สมเด็จหลังยันต์ ด้านหน้าเป็นพระสมเด็จสามชั้น ด้านหลังเหมือนพิมพ์พระประทานพร ฝังตะกรุด จำนวนสร้าง 100 กว่าองค์
6) พิมพ์รูปเหมือนนั่งสมาธิ ฐานมีชื่อหลวงพ่อคูณ พื้นองค์พระเรียบ หลังพระปิดตา จำนวนสร้าง 1000 องค์
7) พิมพ์รูปเหมือนนั่งสมาธิ ด้านหน้ามีอักขระยันต์รอบองค์หลวงพ่อ หลังพระปิดตา จำนวนสร้าง 500 องค์
8) พิมพ์นั่งยองสูบบุหรี่ ฐานมีชื่อหลวงพ่อคูณ แต่ช่างแกะตัวหนังสือกลับข้าง หลังพระปิดตา จำนวนสร้าง 1000 องค์
9) พิมพ์นั่งยองสูบบุหรี่ มีอักขระยันต์รอบองค์หลวงพ่อ ที่ฐานมีอักขระยันต์ "อย่า นะ อย่า" หลังพระปิดตา จำนวนสร้าง 500 องค์ เป็นพิมพ์นิยมเพราะท่านนั่งยองถือว่าเป็นเอกลักษณ์หลวงพ่อ
10) พิมพ์พระขุนแผน ถอดพิมพ์จากพระขุนแผนบ้านกร่าง หลังมีหลายแบบ หลังยันต์ใบพัด หลังพระปิดตา หลังเรียบ หลังฝังเม็ดพระธาตุ ส่วนใหญ่ฝังตะกรุดเงิน จำนวนสร้าง 200 องค์
11) พระปิดตาพิมพ์จัมโบ้ ด้านหลังมีสองแบบ คือหลังพระปิดตาและหลังยันต์ "มะ อะ อุ" ในรูปสามเหลี่ยม จำนวนสร้าง 700 องค์
นอกจากนี้ยังมีพระปิดตา พิมพ์วัดหนัง ลูกประคำและลูกอมสอดตะกรุดเงิน
ส่วนผสมเนื้อพระมีว่าน 50 ชนิด เกศาหลวงพ่อคูณ ยาฉุน และก้นบุหรี่ ที่หลวงพ่อเสกให้ เกสรดอกไม้มีดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกบัว ดอกว่านต่างๆ ดิน 7 พระธาตุ ชิ้นส่วนพระสกุลลำพูนที่แตกหักชำรุด ผงหลวงปู่คำแสน คุณากาโร พระขุนแผนผสมยอดดอกรักและไม้กาฝาก มวลสารที่ใช้ผสม กาวน้ำ กล้วยน้ำว้า น้ำผึ้ง ดินสอพอง ปูนขาว น้ำมนต์หลวงพ่อคูณ น้ำว่านบีบจากหัวสดๆ และกากว่านที่บดละเอียด ผงใบลานของวัดพันอ้นและวัดเชียงมั่น
ถ้าสีพระออกเหลืองจะแก่เกสรดอกไม้กับว่าน สีออกแดงโดยเฉพาะพระขุนแผนแก่ดิน ส่วนสีดำแก่ผงใบลาน สีเทาแก่ขี้เถ้า
พระรุ่นนี้สร้างเดือนกรกฎาคม เสร็จแล้วหลวงพ่อคูณปลุกเสกจนออกพรรษา ใช้เวลาสร้างและเสก 1 ไตรมาส เมื่อออกพรรษาจึงได้แจกให้ลูกศิษย์ พระรุ่นนี้มวลสารเยี่ยม ผู้สร้างเจตนาดี และที่สำคัญ ณ เวลานั้นพระชุดนี้แจกฟรีครับ
|