ครู บาอุ่น อรุโณ "วัดป่าแดง" บ้านป่าสักขวาง ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ท่านเป็นคนกรุงเก่าโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ ม.ค.๒๔๖๖ ที่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ คำ โยมมารดาชื่อ เติม นามสกุลเดิมคือ กลิ่นเกษร มีพี่น้อง ๓ คน
ในวัยเยาว์ โยมบิดามารดาได้ส่งท่านเรียนหนังสือจนจบชั้น ม.๒ เมื่อมีอายุครบเกณฑ์ทหาร ได้ถูกเกณฑ์ไปเป็น ทหารบกในหน่วยปืนกลเล็ก (ป.ก.น.๑๑) ที่ อ.บางปะอิน อยู่ ๒ ปี
หลังจากปลดประจำการแล้ว มีอายุได้ ๒๔ ปี ในปี ๒๔๙๐ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดปากคลอง ต.หัวไผ่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยมี พระครูพรหมสมาจารย์ วัดประดู่ (ตะบอง) ต.ปากกระทุ่ง อ.มหาราช เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ช้อย วัดปากคลอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาสมุทร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายา "อรุโณ" เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยและเรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรีและโทตามลำดับ
นอกจากนี้ท่านยังสนใจในด้านพุทธาคมและกัมมัฏฐาน จึงได้ไปฝากตัวเรียนวิชากับครูบาอาจารย์หลายรูป ทั้งที่เป็น พระสงฆ์และฆราวาส
อาทิ...
หลวงตาบุญ เรียนวิชาคงกระพันชาตรี
ครูโปร่ง เรียนด้านเมตตามหานิยม
หมอปาน เรียนวิชาแก้คุณไสยและปราบผี
พระอาจารย์พัด เรียนด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด
ครูโล เรียนวิชาคงกระพัน
ครูรอด เรียนวิชาทำน้ำมนต์
พระอุปัชฌาย์เฟื่อง วัดหนองอึ่ง เรียนสูตรสนธิและกัมมัฏฐาน
หลวงพ่อหน่าย วัดบ้านแจ้ง เรียนวิชาทำตะกรุด
หลวงพ่อโอภาสี เรียนวิชากสิณไฟ
พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหันสังข์ ต.น้ำสังข์ อ.บางปะอิน อยู่จำพรรษาในฐานะเจ้าอาวาสได้ ๙ พรรษา
พ.ศ.๒๕๐๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลอยู่อีก ๒ พรรษา
พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์ รุ่นเดียวกับ หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช
พ.ศ.๒๕๑๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรท ี่ พระครูอรุณวรกิจ
ในช่วงที่ครูบาอุ่นอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากเป็นพระอาจารย์ที่เข้มขลังในด้านเมตตามหานิยม
เมื่อครั้งอยู่ที่วัดปากคลอง ท่านได้สร้างพระเนื้อผงแบบพระวัดปากบาง พระพิมพ์เล็บมือ พระพิมพ์ชินราช พระพิมพ์สมเด็จ และเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของท่านไว้
เพราะการเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ทำให้มีชาวบ้านเข้าหาท่านไม่ขาดสาย ท่านเห็นว่าโอกาสที่จะ ปฏิบัติธรรมหาความวิเวกทำได้ยาก
ในปี ๒๕๒๐ ท่านจึงได้ออกจากวัดปากคลอง มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ เพื่อที่จะหา สถานที่สงบปฏิบัติธรรมโดยจุดมุ่งหมายของท่านจะมุ่งไปที่ จ.เชียงราย
จนกระทั่งได้พบวัดที่มีความสงบและ เป็นวัดที่พุทธบริษัท พระสงฆ์ และชาวบ้านร่วมกันปฏิบัติกัมมัฏฐานวัดนั้นคือ "วัดป่าแดง" ตั้งอยู่ใน หมู่บ้านป่าสักขวาง ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
ปัจจุบันอยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอสันกำแพง ท่านได้เข้าพำนักที่วัดป่าแดงตั้งแต่นั้นในฐานะพระลูกวัด เสมือนหลวงตารูปหนึ่ง มีกุฏิหลังเล็กๆ อยู่ด้านหลัง
โดยไม่แพร่งพรายฐานะอันแท้จริงของท่านให้ใครทราบว่า ท่านเป็นถึงพระครูสัญญาบัตรมาก่อนและมีชื่อเสียงโด่งดัง จากภาคกลางมาแล้ว
ต่อมา พระอธิการบุญมี เจ้าอาวาสรูปก่อนมรณภาพ คณะกรรมการวัดและศรัทธาชาวบ้านจึงพร้อมใจกันขอให้ท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบมา
ครูบาอุ่น มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๓ ธ.ค.๒๕๔๔ สิริรวมอายุได้ ๗๙ ปี พรรษา ๕๕
ในวันมรณภาพนั้น ได้เกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์คือ ขณะที่ศิษยานุศิษย์และแพทย์ได้ช่วยกันตกแต่งสรีระทำความสะอาดร่างและครองผ้า จีวรใหม่ให้กับท่าน
ปรากฏว่า ที่ศีรษะของครูบามีรอยนูนเล็กๆ เริ่มจากท้ายทอยและเพิ่มมากขึ้นๆลักษณะเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเท่าๆ กัน
โดยรอยนูนนั้นชัดเจนมาก คล้ายๆ กับเศียรพระพุทธรูป อีกทั้งใบหูของท่านก็ยาวขึ้นด้วย เป็นที่ปลื้มปีติแก่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาก
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ ม.ค.๒๕๔๕ อันเป็นวันที่จะประกอบพิธีบรรจุสรีระของครูบาลงในหีบแก้วเหตุการณ์เดิมก็บังเกิดขึ้นอีก
นอกจากนี้ร่างกายของท่านยังอ่อนนุ่มเหมือนคนนอนหลับไปเฉยๆ ไม่แข็งกระด้างเหมือนคนที่เสียชีวิตทั่วไปและไม่มีกลิ่นเหม็น
ทั้งๆ ที่มรณภาพมาแล้วถึง ๒๕ วัน เป็นที่ประจักษ์ของชาวบ้านและศิษยานุศิษย์จำนวนมาก