พระบูชาครูบาอิน อินโท ขนาด 9 นิ้ว หมายเลข ๐๐๖ 1 ใน 115 องค์
ในปี พ.ศ.2539 ทางคณะกรรมการ ศรัทธาชาวบ้าน ลูกศิษย์ หลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท วัดฟ้าหลั่ง นำโดย นายณรงค์ มูลรัตน์ นายจันทร์ ปัญญาไว และนายโต เจริญกุล ได้เล็งเห็นว่า วัดฟ้าหลั่ง ยังขาดปัจจัยใช้สอยในกิจการของทางวัด จึงได้กราบขออนุญาตหลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท จัดสร้าง รูปเหมือนหลวงปู่ รุ่น “หลวงปู่ฟ้าหลั่ง” และพระพุทธรูปบูชา “หลวงพ่อฟ้าหลั่ง” ขนาดต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้ศรัทธาญาติโยมที่เคารพนับถือได้เช่าบูชา เพื่อรวบรวมรายได้จัดตั้งเป็นกองบุญนิธิ หาดอกผลมาใช้จ่ายในกิจการของทางวัด ตามกิจที่เห็นสมควรต่อไป
จำนวนจัดสร้าง
การจัดสร้าง โดยมีพระอาจารย์ไพบูลย์ อินทปัญฺโญ หัวหน้ากองเลขาของหลวงปู่เป็นผู้ดำเนินการติดต่อช่าง ให้ออกแบบเป็นรูปหลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท รูปนั่งสวมประคำ และมีผ้าห่มคลุม ส่วนพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน เพื่อให้หลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท ได้พิจารณา เพื่อขึ้นแม่พิมพ์และหล่อองค์พระจนเป็นที่แล้วเสร็จในปีดังกล่าว
รูปหล่อหลวงปู่ฟ้าหลั่ง และพระพุทธรูปหลวงพ่อฟ้าหลั่ง จัดสร้างตามจำนวนดังนี้
รูปเหมือนหลวงปู่ครูบาอิน รุ่น หลวงปู่ฟ้าหลั่ง
1. รูปหล่อลอยองค์เล็ก ขนาดหน้าตัก ประมาณ 1.5 เซนติเมตร อุดกริ่ง
- รูปหล่อลอยองค์ บรรจุกล่องบุกำมะหยี่ เนื้อทองคำ 9 องค์
- รูปหล่อลอยองค์ บรรจุกล่องบุกำมะหยี่ เนื้อเงิน 200 องค์
เนื้อโลหะผสมรมดำจำนวนประมาณ 5,903 องค์ โดยเนื้อโลหะผสมรมดำแยกเป็น ๓ แบบ คือ
- รูปหล่อลอยองค์ บรรจุกล่องบุกำมะหยี่ 4,100 องค์
- รูปหล่อลอยองค์ พร้อมครอบแก้ว ตั้งหน้ารถ 984 องค์
- รูปหล่อลอยองค์ ในกระเช้าพลาสติก สำหรับแขวนหน้ารถ 819 องค์
2. รูปหล่อบูชา ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้ว สร้างจำนวน 608 องค์
3. รูปหล่อบูชา ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว สร้างจำนวน 375 องค์
4. รูปหล่อบูชา ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว สร้างจำนวน 115 องค์
โดยมีหมายเลขกำกับทุกองค์
พระพุทธรูป หลวงพ่อฟ้าหลั่ง เนื้อเดียวกัน มี 2 ขนาด คือ
1. รูปหล่อหลวงพ่อฟ้าหลั่ง ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว 116 องค์
2. รูปหล่อหลวงพ่อฟ้าหลั่ง ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว 109 องค์
โดยมีหมายเลขกำกับทุกองค์
พิธีอธิษฐานจิตปลุกเสก
หลังจากจัดสร้างเสร็จ หลวงปู่ครูบาอินได้เมตตาอธิษฐานจิตเดี่ยวบนอุโบสถวัดฟ้าหลั่ง เป็นเวลาหลายเดือน และในปี พ.ศ.2540 ทางวัดฟ้าหลั่งได้จัดงานฉลองมงคลอายุ 8 รอบ ถวายหลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท พร้อมทั้งจัดงานสมโภชพระบรมธาตุเจ้าฟ้าหลั่งซึ่งสร้างเสร็จในปีเดียวกัน จึงได้นำรูปหล่อและพระพุทธรูปเข้าพิธีพุทธาภิเษกครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นพิธีพุทธาภิเษกครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวัดฟ้าหลั่ง ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2540
ในพิธีพุทธาภิเษก หลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท ได้ให้พระเณรและคณะศรัทธาชาวบ้าน ลำเลียงรูปหล่อและพระพุทธรูป เข้าไปตั้งบริเวณฐานองค์พระบรมธาตุ แล้วจัดปะรำพิธีรอบองค์พระธาตุ เพื่อให้พระเถระ ครูบาอาจารย์ที่นิมนต์มาได้นังปรกปลุกเสก โดยมีพระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่มีฃื่อเสียงในยุคนั้นร่วมพิธีจำนวนมาก อาธิเช่น พระครูชัยวงศ์วิวัฒน์ (หลวงปู่ครูบาน้อย ชยวํโส) วัดบ้านปง พระครูสุภัทรศีลคุณ (หลวงปู่ครูบาดวงดี สุภทฺโท) วัดท่าจำปี (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมงคลวิสุต) พระธรรมสิทธาจารย์ (หลวงปู่หนู ถาวโร) วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระโพธิรังษี วัดพันตอง พระราชรัตนากร วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวรสิทธาจารย์) พระสุพรหมญาณเถระ (พระอาจารย์ทอง สิริมํคโล) วัดพระธาตุศรีจอมทอง (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์) พระครูมงคลคันธวงศ์ (ครูบาศรียูร คนฺธวํโส) วัดมงคล (ทุ่งแป้ง) พระครูสถิตธรรมวัตร (ครูบาดวง ฐิตวโร) วัดศรีทรายมูล (กู่ลายมือ) พระครูบุญมี สุเมโธ (ครูบาบุญมี) วัดศิลามงคล พระครูพิศาลประชานุกูล (ครูบาติ๊บ ปภากโร) วัดท่าวังพร้าว พระครูวุฒิธรรมวิมล (ครูบาดำ) วัดดอยหล่อ พระครูมนูญธรรมาภรณ์ (ครูบาอิ่นคำ ฐานงฺกโร ) วัดมหาวัน (เชียงใหม่) พระครูมงคลคุณาทร (ครูบาคำปัน นนฺทิโย) วัดหม้อคำตวง พระครูสิงหวิชัย (ครูบาสิงห์ สิริวิชโย) วัดฟ้าฮ่าม หลวงพ่อต๋า ปัญญาวุฒโฒ (ครูบาต๋า) วัดอุโบสถบ้านเหล่า พระครูปัญญาธรรมวัฒน์ (พระอาจารย์อินทร ปัญยาวัฑฒโน) วัดสันป่ายางหลวง ฯลฯ และยังมีพระเถระจากทุกวัดในเขตอำเภอจอมทอง (และอำเภอดอยหล่อในปัจจุบัน) พระเถระจากทั่วจัดหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน เข้าร่วมสวดมนต์ตั๋น อธิษฐานจิตตลอดระยะเวลาสามวัน
|