สุดยอดพระเครื่อง ๑ เดียวเนื้อชิน ของ จ.ลำพูน กับพระเหล็กไหล ดอยไซ มีตำนานเล่าลือถึงประสบการณ์และพุทธคุณ มาอย่างยาวนาน (สภาพแชมป์ๆ ดีกรีรางวัลที่ ๑ มาแล้ว) สุดยอดครับท่าน ........ ขออนุญาต คัดลอกบทความจาก เว็บเพจ.- หอศิลปะพระเครื่องเมืองลำพูน มาลงให้ศึกษา ดังนี้ “พระชุดสกุลลำพูนที่เป็นเนื้อโลหะ” พระเหล็กไหลดอยไซ โดย สำราญ กาญจนคูหา มีคำกล่าวไว้เกี่ยวเนื่องกับ ”พระดอยไซ” ของเมืองลำพูนนานมาแล้วว่า (ดอยไซเหล็กไหลล้ำ พุทธคุณ เป็นเอกองค์ค้ำจุน ทั่วหน้า ชินเงินรวมเหล็กหลาย กันอยู่ตรึงตรา ขลังลือนามท่านว่า “ สุดยอดพระพันปี ”) โคลงโบราณ. มีพระกรุลำพูนอีกชนิดหนึ่งที่วงการพระเครื่องไม่ค่อยจะรู้จัก นั่นก็คือ “ พระดอยไซ ” พระดอยไซนี้เป็นพระเนื้อโลหะผสมกันหลายอย่าง ชาวบ้านชาวเมืองลำพูนรู้จักและเรียกกันว่า ” พระเหล็กไหลดอยไซ ” หรือ ” พระหยวาดดอยไซ ” อันเป็นภาษาถิ่นที่มีความหมายว่าเป็นพระที่ตกมาจากที่สูงหรือมาจากนภากาศเบื้องบน อีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเขาเรียกกันก็คือ “ พระหยืด ” ที่มีความหมายว่าองค์พระเมื่อถูกไฟลนจะอ่อนตัวและยืดได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง ของพระชนิดนี้ นอกจากจะมีพระดอยไซที่เป็นเนื้อโลหะแล้วยังมีพระดอยไซที่เป็นเนื้อดินเผาผสมว่านที่มีทั้งปางสมาธิและปางมารวิชัย ซึ่งเนื้อดินขององค์พระจะมีความละเอียดนวลหนึกนุ่มเช่นเดียวกับพระรอดและพระผงสุพรรณอันมีชื่อเสียง ซึ่งผู้เขียนได้นำภาพมาให้ท่านได้เห็นและจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป ก่อนนั้นวงการพระเครื่องของทางส่วนกลางไม่รู้จักและเข้าใจกันว่า ” พระดอยไซ ” นี้เป็นพระเครื่องที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและเป็นพระกรุชนิดเดียวของเมืองลำพูนที่ทำด้วยเนื้อโลหะหลายอย่างผสมกัน ไม่มีพระชุดสกุลลำพูนชนิดอื่นใดที่มีทำด้วยเนื้อโลหะ ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงดังที่กล่าวกัน เรื่องราวของ “ พระดอยไซ ” นั้นเป็นที่รู้จักกันทางภาคเหนือโดยเฉพาะในเมืองลำพูนนานมาแล้ว ในสมัยก่อน ” พระดอยไซ ” เป็นที่ต้องการของบรรดาชายหนุ่ม รุ่นคึกคะนองที่ในสมัยก่อนต้องออกไปรบทัพจับศึกด้วยการเป็นทหารกล้าที่ต้องออกรบในแนวหน้า เพราะมีความเชื่อมั่นในพุทธคุณที่รวมทุกอย่างในองค์พระอย่างพร้อมมูล ไม่ว่าเรื่องข่ามคง คงกระพันชาตรี เมตตา มหานิยมโดยเฉพาะเรื่องแคล้วคลาดอยู่รอดปลอดภัย จนมีคำติดปากของคนในยุคนั้นว่า “ เอาพระรอดของวัดมหาวันแท้ๆ 10 องค์ มาแลกพระดอยไซ องค์เดียวก็ไม่เอา ” “ พระดอยไซ ” ได้ชื่อว่าเป็นพระเครื่องสำคัญชนิดหนึ่งของพระกรุชุดสกุลลำพูน ที่เราจะลืมและมองข้ามไปไม่ได้ จึงขอนำมาบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ไม่ให้ลืมเลือนและสูญหายไป “ พระดอยไซ ” นั้นเป็นพระหนึ่งเดียวที่มีผู้กล่าวขวัญกันว่าเป็นพระที่มีเนื้อเหล็กไหลผสม เต็มไปด้วยกฤตยาคมอันสูงเปี่ยมล้นไปด้วยพลังจิตอันกล้าแกร่ง ปลุกเสกด้วยมนต์พิธีกรรมต่างๆ อันเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์ มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐพร้อมทั้งฤาษีสมณะชีพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฎิบัติชอบเข้าร่วมในพิธีกรรม อันยิ่งใหญ่ ในการสร้างพระดอยไซนี้ขึ้นมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มีเรื่องราวที่เชื่อกันว่าพระเหล็กไหลดอยไซนั้นถูกเก็บซ่อนไว้ภายในอุโมงค์ลึก ที่เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัตินานาชนิด มากมายมหาศาล จุดประสงค์ของการสร้างพระเหล็กไหลดอยไซ ก็เพื่อที่จะให้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ สำหรับการปกป้องคุ้มครองขุมทรัพย์โบราณแห่งนี้ อันเป็นของที่หวงแหนของผู้ที่เป็นเจ้าของใน อดีตสมัยก่อนๆต้องนำมาซ่อนไว้ เพื่อให้รอดพ้นจากภัยสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง คำบอกเล่าต่างๆได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากปากของชายชราชาวบ้านในละแวกของ ” วัดพระพุทธบาทดอยไซ ” ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน ผู้เฒ่าคนนั้นได้เล่าว่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคณะของนักสำรวจชาว ” เยอรมัน ” ได้เข้ามาสำรวจบริเวณของวัดพระพุทธบาทดอยไซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขามุ่งตรงไปยังหน้าผาใหญ่ ที่ปิดปากถ้ำ ไว้โดยอำนาจ ลึกลับ ที่ไม่มีใครหยั่งรู้ว่าปากถ้ำนั้นถูกปิด ตายด้วย ” หินผาใหญ่ ” ได้อย่างไร คณะสำรวจนั้น พยายามหา ช่องทางที่จะที่จะเข้าไปภายในถ้ำ นั้นให้ได้ แต่ก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถึงขนาดที่พวกเขาได้นำดินระเบิด ” ไดนาไมท์ ” ไปฝังรอบๆหินก้อนใหญ่ที่ปิดปากถ้ำ เพื่อทำการระเบิด มีการ จุดชนวนระเบิดหลายต่อหลายครั้ง แต่ทำได้เพียงแค่ จุดไม้ขีดไฟดัง ” ฟู่ ” เดียวเท่านั้น ชนวนที่ถูกจุดไฟนั้นก็พลันมีอันต้องดับลง ในทุกครั้งที่มีการจุดชนวน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คณะสำรวจที่เป็นชาวฝรั่งต่างชาติต่างประหลาดใจและมีความงุนงงเป็นอย่างมากว่า มีอะไรเกิดขึ้นและมันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร คณะสำรวจต่างชาติได้พยายามทุกวิถีทางที่จะระเบิดเปิดปากถ้ำนั้น ให้ได้ ดูพวก เขาช่าง มีความอดทนมุ่งมั่นและมีความพยายามอย่างเหลือเกิน พวกเขาคงจะได้ข้อมูล หรือคงจะมีลายแทงบอกที่เก็บขุมทรัพย์ของสถานที่แห่งนี้มาจากที่ใดที่หนึ่งก็ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้พวกเขาโกรธแค้น หัวเสียและเกิดความท้อแท้ผิดหวัง ในที่สุดจึงละความพยายามโดยทิ้งความฉงนสนเท่ห์ไว้เบื้องหลัง ให้เหลือไว้เป็นเพียงตำนานให้ได้เล่าขานสืบต่อกันมา สิ่งที่หลงเหลืออยู่ให้เห็นเป็นประจักษ์พยานก็คือ รอยเจาะของรูที่ฝังระเบิดตรงหินผาที่ปิดปากถ้ำที่พวกนักสำรวจ ต่างชาติได้ เจาะเพื่อฝังดินระเบิด ” ไดนาไมท์ ” ในครั้งกระโน้น ยังมีปรากฎหลงเหลือให้เห็นตรงหน้าผาของปากทางเข้าถ้ำมหา สมบัติ จนทุกวันนี้ ในสมัยก่อนๆ นับเป็นร้อยๆปีที่ผ่านไป ผู้คนชาวเมือง ลำพูน ต่างได้พากันเสาะแสวงหาพระเครื่องกันเพื่อใช้ในการคุ้มครองตัวเองจากภัยร้ายต่างๆและการศึกสงครามที่มีมาอย่างต่อเนื่อง พระเครื่องชนิดใดที่ได้ชื่อว่า “ ข่ามคงทนต่ออาวุธ ” ที่ใช้ในการตีรันฟันแทงนั้นจะเป็นที่ต้องการและเสาะแสวงหาเป็นอย่างมา กยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด บรรดาผู้ที่เป็นเจ้าของพระชนิดดังกล่าวต่างหวงแหนและถือได้ว่าตนเองนั้นมีที่พึ่งเป็นพระที่ข่ามคง เหนียวเป็นหนึ่งไม่มีสอง ที่ไม่มีใครทาบได้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ของลูกผู้ชายในยุคนั้น หนึ่งในพระเครื่องที่เป็นที่ต้องการของบรรดาผู้กล้านั้นก็คือ “ พระเหล็กไหลดอยไซ ” อันถือว่า เป็นยอดแห่งพระเครื่องสำคัญอันเป็นที่ใฝ่ฝันและมีการเสาะแสวงหามากที่สุด ซึ่งความจริงก็มีให้เห็นเป็นประจักษ์แก่ตาและคำเล่าลือของผู้คนในยุคนั้น พระเครื่องที่เด่น ดังในเรื่องความเหนียว คงกระพันชาตรีนั้น มีความหมายมากสำหรับคนในยุคสมัยก่อนเก่า ทีมีการใช้อาวุธของมีคมประเภท ตีรันฟันแทง เช่นง้าว หอก ดาบ เหลน หลาว ความนิยมพระเครื่องต่างๆก็เป็นไปตามยุคสมัยของแต่ละเวลา ถือได้ว่าเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญมากที่สุด และแล้วทุกอย่างก็ได้แปรเปลี่ยนไป กลายเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนอันเป็นกฎอนิจจังที่ไม่มีสิ่งใดจะอยู่คงที่และจะจีรังยั่งยืนไปโดยตลอด ปัจจุบัน ” พระเหล็กไหลดอยไซ ” เด็กรุ่นใหม่ แทบจะไม่รู้จักและเคยพบเห็นว่ามีรูปลักษณะเป็นเช่นไร และไม่มีใครที่พอจะรู้เรื่องที่จะนำมาเสนอได้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องค้นคว้านำมาบันทึกไว้ไม่ให้สูญหายไป จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่นำมาบอกกล่าวเล่าให้ได้รู้กัน ทุกวันนี้ ” พระเหล็กไหลดอยไซ ” ที่แท้จริง นั้นคงมีคนรู้จักกันน้อยจนไม่สามารถบอกได้ว่ามีรูปลักษณะเป็นเช่นไร จะมีให้เห็นก็เป็นเพียงพระเก๊หรือของปลอมที่ทำขึ้นมาเพื่อหลอกขายเท่านั้น มีการเรียกชื่อของพระชนิดนี้กันอย่างผิดๆโดยเรียกไปว่า ” พระดอยไทร ” ซึ่งมีความหมายว่า ดอยของต้นไทรที่มีรากอากาศงอกย้อยห้อยลงมา สำหรับชื่อที่ถูกต้องนั้นคือ ” พระเหล็กไหลดอยไซ ” คำว่า ” ไซ ” นั้นมีความหมายอยู่สองอย่างตามภาษาท้องถิ่น “ ไซ ” หนึ่งคือเครื่องมือที่ใช้ดักจับปลาอันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน “ ไซ ” นี้สานด้วยไม้ไผ่ เมื่อปลาพลัดหลงเข้าไปก็ออกไม่ได้ ลักษณะจะเป็นเช่นตัวอย่างของไซเล็กๆ ที่บรรดาเกจิอาจารย์ได้ทำพิธีเสกเป่า ให้บรรดาพ่อค้าแม่ขายห้อยไว้ตามหน้าร้านโดยเชื่อว่า ” ไซวิเศษ ” นั้น จะช่วยดักเงินดักทองให้เข้ามามากให้ทำมาค้าขึ้นกัน นั่นเป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง “ ไซ ” อีกความหมายหนึ่งก็คือหมายถึงชัยชนะในภาษาถิ่นดังนั้น ” ดอยไซ ” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ” ดอยแห่งชัยชนะ ” ที่สามารถเก็บซ่อนขุมทรัพย์อันมหาศาลให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของศัตรูได้อย่างปลอดภัย ผู้เขียนเห็นว่า คำหลังนี้จะเหมาะกว่า หรือท่านจะคิดอย่างไร วัดพระบาทดอยไซนั้นเป็นวัดเก่าแก่โบราณ ตั้งอยู่บนดอยที่ไม่สูงนักมีต้นไม้ใหญ่น้อยเป็นร่มเงาดูร่มรื่นท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามและเงียบสงบ สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่อยู่ในยุคของหริภุญไชยตอนต้น เป็นเส้นทางที่อยู่ในแนวเดียวกับ ” วัดชุหบรรพต ” หรือ ” วัดดอยติ ” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่อยู่ในยุคเดียวกัน ใกล้ๆบริเวณของวัดดอยไซปรากฎแนวเส้นทางเดินโบราณที่เชื่อมต่อไปยังเมืองลำปางให้เห็น ซึ่งในสมัยก่อนใช้เส้นทางนี้กัน วัดพระบาทดอยไซนี้มีรอยพระพุทธบาทโบราณปรากฎอยู่ แต่ไม่ค่อยมีคนรู้เพราะวัดนี้เป็นเพียงวัดบ้านนอกเล็กๆที่ไม่ประกาศตัวว่ามีความสำคัญเช่นไร เนื่องจากอยู่ห่างจากตัวเมืองมาก จากข้อเขียนนี้คงจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นสายตรงคงจะเข้าไปดูแลและช่วยส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองลำพูน ของดีของเมืองลำพูนยังมีอีกมากมายที่รอการพัฒนาและทำการค้นคว้าศึกษาเพื่อให้รู้ไว้เพื่อเป็นหลักฐาน มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทบนแผ่นหินผาขรุขระในบริเวณวัดร้างแห่งหนึ่งที่อยู่ในบริเวณของโครงการบ้านจัดสรร ” ม่อนเบิกฟ้า ” ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน ไม่ไกลจากวัดดอยไซนัก รอยพระพุทธบาทนี้ อยู่ใกล้กับที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “ หรือ ” สถาบันนิด้า ” จังหวัดลำพูน รอยพระพุทธบาทที่ค้นพบนี้เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาหันมุ่งไปทางทิศตะวันตกมีขนาดกว้าง 50 ซ.ม ยาว80ซ.ม นอกจากนี้ใกล้ๆกันยังปรากฎมีรูลึกที่เชื่อกันว่าเป็นรูของไม้เท้าของพระพุทธองค์อยู่บนแผ่นผานั้นด้วย ทางเจ้าของโครงการมีความเคารพและศรัทธาในรอยพระพุทธบาทเป็นอย่างมากได้สร้างมณฑป ครอบรอยพระพุทธบาทนี้ไว้อย่างสวยงาม นอกจากนี้แล้วในบริเวณทุ่งนาของชาวบ้านในตำบลเหมืองจี้นั้น เคยมีการขุดพบพระพิมพ์ต่างๆของพระชุดสกุลลำพูนมากมายหลายชนิด รวมทั้งเศษเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ของยุคหริภุญไชย ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงความเจริญและความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนาในสมัยโบราณเก่าก่อนของอาณาจักรหริภุญไชยที่มีการสร้างสถานที่เคารพกระจายไปทั่วได้เป็น อย่างดี รายละเอียดต่างๆของพระดอยไซ ” นั้นแต่เดิมคงจะเป็นพระแผ่นโลหะที่สร้างไว้ประดับตามผนังถ้ำเ พื่อความอลังการและเข้มขลังของสถานที่พระดอยไซที่สร้างขึ้นมานั้นคงจะมีหลายแบบหลายอย่าง เนื้อโลหะของพระดอยไซนั้นทำด้วยแร่ธาตุพิเศษซึ่งคงจะหาไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ผู้เขียนเคยได้ยินจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสหลายท่านที่เล่าว่า “ พระเหล็กไหล ” ดอยไซนั้นทำมาจากวัตถุธาตุกายสิทธิ์ที่เป็นของวิเศษโดยแท้ มีผู้คนได้นำพระเหล็กไหลชนิดนี้มาลนไฟ พระชนิดนี้จะอ่อนตัวและยืดออกมา แต่ครั้นเมื่อนำไฟที่ลนออกไป ส่วนที่ยืดออกก็จะหดคืนสภาพเก่า จนเป็นที่ร่ำ ลือกันถึงความอัศจรรย์ ของพระชนิดนี้ ซึ่งในสมัยนั้นซึ่งบรรดาผู้คนชาวบ้านชาวเมือง ต่างตั้งมั่นอยู่ในศิลในสัตย์กันอย่างเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนากันอย่างมั่นคง จากการที่ได้พิจารณาดูเนื้อหาของพระดอยไซอย่างละเอียดนั้น “ พระเหล็กไหลดอยไซ ” เป็นพระเนื้อโลหะคล้ายเนื้อชินเป็นส่วนใหญ่มีแร่ธาตุหลายอย่างปะปนอยู่ ที่เรียกกันว่า ชินเงิน ชินตะกั่ว เนื้อโลหะขององค์พระจะเป็นแบบเนื้อระเบิด ที่มีรอยปริแตกร้าวไปเกือบทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าและต้องอยู่ในที่อับชื้นภายในถ้ำ และหินผา ลักษณะโดยรวมจะเป็น แผ่นบางๆ ไม่ได้หนามาก ด้านหลังจะเป็นรอยขรุขระเหมือนกับลายของหินผาซึ่งพระชนิดนี้ถูกปะติดไว้ ทั่วทั้งองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะมีเศษของดิน หินและปูนขาวเป็นคราบกรุติดอยู่อย่างแน่นหนาเอาออกได้ไม่ง่าย โดยเฉพาะด้านหลังขององค์พระจะเป็นลวดลายของพื้นผนังถ้ำอันขรุขระ ซึ่งจะเป็นแบบนี้เกือบทุกองค์ ที่เป็นความแปลกอย่างหนึ่ง ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่ อำนวยสำหรับพระเนื้อโลหะที่มีลักษณะบอบบางจึงทำให้พระดอยไซส่วนใหญ่จะชำรุดแตกหักเสียหาย แต่ก็ยังคงไว้ในรายละเอียดต่างๆให้เห็นถึงศิลปะขององค์พระให้รู้ว่าอยู่ในยุคของสมัยใดได้อย่างชัดเจน เพราะความบอบบางและแบนราบขององค์พระ การจับต้อง เป็นเรื่องลำบากอาจจะทำให้องค์พระเกิดแตกหักเสียหายได้ ด้วยความรักและหวงแหนในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หายากบรรดาผู้เป็นเจ้าของต่างก็พยายามประคับประคองรักษาองค์พระของตนไว้เป็นอย่างดี วิธีการที่ดีและง่ายที่สุดของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ในยุคนั้นซึ่งไม่มีกรอบพระต่างๆไว้ใส่องค์พระเหมือนปัจจุบันวิธีที่ง่ายที่สุด เขาเหล่านั้นจะหาไม้สักแผ่นบางๆตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่าองค์พระเล็กน้อยพองามแล้วนำเอาองค์พระวางทาบแล้วแกะเป็นแอ่งตามรอยรูปสามเหลี่ยมลึกพอประมาณพอที่จะเอาองค์พระใส่ลงไปได้พอดีหลังจากนั้นเอาขี้ผึ้งเป็นตัวประสานยึดไม่ให้องค์พระหลุดออกมาได้ง่ายจัดการตกแต่งแผ่นไม้ที่ใส่องค์พระให้เรียบร้อยตามความต้องการเท่านี้องค์พระที่ตนหวงแหนก็ดูแข็งแรงโดยมีแผ่นไม้ป้องกันการแตกหักเสียหายไปได้ชั้นหนึ่ง การจะนำติดตัวเขาจะห่อด้วยผ้าแดงอย่างทะนุถนอมและเชื่อมั่นในพุทธคุณอันสูงส่ง ดังนั้นเราจึงได้เห็นพระเหล็กไหลดอยไซรุ่นเก่าๆถูกดามม์ด้วยแผ่นไม้สักบางๆเกือบทุกองค์ดังที่เห็นในภาพ “ พระเหล็กไหลดอยไซ ” มีรูปลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายมนเล็กน้อยส่วนบนสุดเป็นส่วนของปลายเกศ องค์พระตัดขอบชิดจะมีปีกหรือเนื้อส่วนเกินให้เห็นอยู่บ้างเป็นบางองค์ มีทั้งปางสมาธิและปางมารวิชัย หน้าตาขององค์พระจะดูดุดัน ดวงตาเป็นเม็ดกลมนูนโปนออกมาทั้งสองข้าง คิ้วทั้งสองชนกันเป็นรูปปีกกาซึ่งเป็นอิทธิพลของศิลปะขอมละโว้และทวารวดี เม็ดพระศกของพระเหล็กไหลดอยไซนี้เป็นเม็ดกลมโค้งมนเรียบร้อยแบ่งกรอบหน้าให้เป็นเสมือนกรอบของขอบไรพระศก เศียรขององค์พระเรียวแหลมขึ้นไปคล้ายทรงมงกุฎดูคล้ายกับเศียรของพระประธานของพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม ลำคอเห็นเป็นปล้อง การห่มจีวรเป็นแบบห่มดองสังฆาฏิยาวห้อยย้อยลงมาพองามหน้าอกเบื้องขวาจะเห็นหัวนมเป็นเม็ดกลมชัดเจนทั้งสองพิมพ์ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพระเหล็กไหลดอยไซ ปางสมาธินั้นมือขวาวางทับบนมือซ้ายประสานกันบนกึ่งกลางของหน้าตักที่มีขาขวาทับขาซ้าย แขนและขาของพระดูผอมเรียวยาวที่มองดูเหมือนกับว่าเก้งก้าง ฐานที่ประทับนั้นมีรูปแบบหลายอย่างเช่นเป็นลักษณะของบัวหงายบัวคว่ำ และลายก้างปลา ตรงฐาน ส่วน ใหญ่จะ เป็นฐานตัด ศิลปะขององค์พระพอจะสรุปได้ว่าเป็น ” ศิลปะแบบทวารวดี ” ขอมละโว้ ” ที่เข้ามามีอืทธิพลในพุทธศิลป์ของเมืองลำพูนแห่งนี้ องค์พระมีส่วนคล้ายกับ “ พระผงสุพรรณ ” “ พระสุพรรณยอดโถ ” พระสุพรรณหลังผาน ” เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน เพียงแต่ว่า ” พระดอยไซ ” นั้นมีขนาดที่ใหญ่กว่า มีผู้กล่าวและเปรียบเทียบ ” พระเหล็กไหลดอยไซ ” นี้ว่า สร้างขึ้นในสมัยปลายเชียงแสน ต้นอยุธยาโดยสังเกตุจากเค้าหน้าขององค์พระว่าเป็นหน้าแบบตั๊กแตน ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยา และประมาณกาลของอายุพระชนิดนี้ว่า คงอยู่ในราว 400ถึง 600ปีเท่านั้น ในข้อสันนิษฐานต่างๆนี้ผู้เขียนได้นำพระดอยไซลองเปรียบเทียบกับพระปรกโพธิ์เชียงแสนและพระพิมพ์ต่างๆที่มีอยู่ในสมัยเชียงแสน ได้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจนกล่าวคือพระพิมพ์หรือพระบูชาในสมัยเชียงแสนนั้นจะมีใบหน้าที่ดูเอิบอิ่มยิ้มแย้มแช่มชื่น หน้าตาจะมีความเมตตาอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีส่วนใดที่จะคล้ายหรือเหมือนกันเลย ตรงกันข้าม พระดอยไซนั้นจะมีหน้าตาที่เข้มดูขึงขันและดุดันดูเอาจริงเอาจัง และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพุทธศิลป์ของพระผงสุพรรณหรือพระพิมพ์ในสกุลสุพรรณกลับจะมีความเหมือนและคล้ายกันอย่างน่าประหลาดทั้งๆที่ทั้งสองเมืองนี้ อยู่ห่างไกลกันมากกลับมีการสร้างพระพิมพ์ที่มีพุทธศิลป์ได้ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะมีข้อสังเกตุอีกอย่างหนึ่งก็คือพระพุทธพิมพ์ทั้งสองแห่งนั้นได้ถูกสร้างขึ้นโดยฤาษีที่มีเดชตบะอันสูงอันมีการกล่าวถึงไว้ในตำนานของทั้งสองเมือง นอกจากจะมีการขุดพบพระเหล็กไหลดอยไซนี้แล้ว ภายหลังยังมีการขุดพบพระพิมพ์ต่างๆที่อยู่ในยุคทวารวดีอีกมากมายเช่น “ พระซุ้มกระรอกกระแต ” พระซุ้มพุทธคยา ” พระปางปฐมเทศนา ” “ พระปางเสด็จจากดาวดึงส์ ” พระโพธิสัตว์ในปางต่าง ” ซึ่งมีทั้งเนื้อดินและเนื้อโลหะปะปนกันในบริเวณดอยไซแห่งนี้ อันเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า ณบริเวณดอยไซนี้อยู่ในยุคของ ” หริภุญไชย ” โบราณ คุณวิเศษของพระดอยไซนั้น เชื่อกันได้และมีผลให้ได้เห็นเป็นประจักษ์กันมาแล้วว่าเป็นยอดทางคงกระพันชาตรีจริงๆ อาวุธต่างๆจะทำอันตรายไม่ได้ง่ายๆ ผู้เขียนเคยได้พบกับ ” คุณลุงหมอผล สุวรรณโสภณ ” แพทย์แผนโบราณที่มีบ้านอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ท่านเคยเป็นตำรวจมือปราบชั้นประทวนได้ทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายอย่างโชกโชน คนร้ายต่างเกรงกลัวลุงหมอมาก ผู้ร้ายที่มีปืนต่างต้องทิ้งปืนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับท่าน เพราะปืนที่ถืออยู่ไม่มีประโยชน์ ที่จะทำร้ายท่านได้เนื่องด้วยท่านมีพระเหล็กไหลดอยไซที่ท่านแขวนติดตัวไว้ มีพลานุภาพและชื่อเสียงเป็นที่รู้กันไปทั่วเมืองลำพูนในยุคนั้น อีกท่านหนึ่งก็คือ “ ลุงกำนันคำ สุระธง ” แห่งบ้านบ่อแห้ว ตำบลสันต้นธงอำเภอเมืองลำพูน ท่านผู้นี้มีพระเหล็กไหลดอยไซไว้คุ้มกันตัวเองที่ทำให้บรรดาโจรผู้ร้ายและบรรดาขโมยต่างเข็ดขยาดกันไปทั่ว หมู่บ้านของท่านจึงอยู่กันมาด้วยความสุขสงบท่านได้เคยให้ผู้เขียนได้ดูพระเหล็กไหลดอยไซของท่านอย่างชัดเจน ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนนำมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบอย่างเต็มปากเต็มคำ
|