เหรียญพระเจ้าองค์หลวงแห่งเมืองแจ่ม
ประวัติพระเจ้าตนหลวง วัดกองกาน
พระเจ้าตนหลวง มีประวัติความเป็นมา ตามคำบอกเล่าว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 หลังจากที่พระพุทธศาสนา ได้เผยแผ่มาจากลังกาทวีป เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ครองนคร ในล้านนาประเทศ อันได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และเชียงแสน ซึ่งเป็นผู้ที่นับถือในพระพุทธศาสนา ได้มาแผ้วถางป่าในบริเวณนี้ และสร้างเป็นวัดพร้อมกับได้ก่อพระพุทธรูปขึ้น ได้ให้ชื่อวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดศรีเมืองมา" ในการก่อสร้างพระพุทธรูปนั้น ช่างผู้ก่อสร้างได้ก่อองค์พระ จนมาถึงพระเศียรและพระเกศเมาลีแล้ว แต่พอจะแต่งพระพักตร์ (ขะเบ็ดหน้า) ขององค์พระ ช่างได้พยายามแต่งพระพักตร์อย่างไรก็ไม่มีความสม่ำเสมอสวยงาม ได้ทำใหม่ถึง 2-3 ครั้งก็ทำไม่ได้
จึงได้ปรึกษากันว่า ควรจะทำพิธีบวงสรวงเทพยดา ขอให้มาช่วยสร้างพระให้สำเร็จ พอได้ตั้งขันหลวงทำพิธีบวงสรวงอย่างนั้นแล้ว ช่างก็ลงมือช่วยกันทำต่อ ในขณะนั้นปรากฏว่า มีสามเณรน้อยรูปหนึ่งมาจากไหนไม่มีใครทราบ ได้มาช่วยทำพระพักตร์พระพุทธรูปจนได้พระพักตร์เสมอกันดี มีท่าทียิ้มแย้ม จนเป็นที่พอใจกันแล้ว แต่ปรากฏว่า สามเณรน้อยที่มาช่วยสร้างพระพุทธรูปนั้นก็อันตรธานหายไป จนเป็นที่โจษขานกันว่า คงจะเป็นพระอินทร์เนรมิตเป็นสามเณรน้อยลงมาช่วยสร้างพระพุทธรูป ทำให้ได้พระพุทธรูปที่มีสัดส่วนสวยงามและมีพระพักตร์แย้มยิ้มอิ่มเอิบ ดังที่ปรากฏให้เห็นกันทุกวันนี้
พระเจ้าตนหลวง เป็นที่เคารพสักการบูชานานคนเป็นเวลานานหลายร้อยปี จนมาถึงสมัยบ้านเมืองก็เกิดกลียุค ข้าวยากหมากแพง ผู้คนอพยพถิ่นที่อยู่ ทำให้วัดวาอาราม ขาดการเอาใจใส่ดูแล
ทำให้วัดศรีเมืองมา ได้ร้าง เสนาสนะทรุดโทรมพังทลายลงไป จนกลายเป็นป่าดงพงทึบ ส่วนพระเจ้าตนหลวง ยังประดิษฐานตั้งมั่นไม่เป็นอันตราย มีแต่เครือเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมองค์พระ มองแทบไม่เห็นจนมาถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 23 ประมาณปี พ.ศ.2380-90 ได้มีผู้คนมาอาศัยทำไร่ทำสวน แผ้วถางป่าไม้ ก็พบเห็นพระพุทธรูปอยู่ในวัดร้าง ซึ่งมีเครือเถาวัลย์ปกคลุม เกิดความศรัทธาปสาทะ ในองค์พระพุทธรูปที่มีพระพุทธรูปลักษณะงดงาม
ชาวบ้านจึงได้แจ้งข่าว ให้มาช่วยกันแผ้วถางทำความสะอาดองค์พระพุทธรูปและลงรักปิดทอง ทำให้พระพุทธรูปสวยงามเปล่งปลั่งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับสร้างวิหารขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และตั้งเป็นวัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ร้างไปนาน ได้ถือเอานิมิตที่ผู้มีจิตศรัทธา หาบข้าวของมาเอาไม้คานมากองใหญ่สูงท่วมหัวนี้ จึงให้ชื่อวัดที่บูรณะขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดก๋องกาน"
วัดก๋องกาน หมายถึง วัดที่มีผู้มีจิตศรัทธามาทำบุญเป็นจำนวนมาก หาบข้าวของมาแล้วเอาไม้คานที่หาบของมากองไว้ ในเวลาต่อมาได้ยึดถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ (เดือน 8 เป็ง) เป็นวันทำบุญสักการบูชาพระเจ้าตนหลวง จนเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังได้ประเพณีสรงน้ำพระเจ้าตนหลวงในวันปีใหม่ (สงกรานต์) ตั้งแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันนี้เช่นกัน
พระพุทธรูปเจ้าตนหลวง เป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์และมีอภินิหารมาก เล่าสืบต่อกันมา ว่า หากบุคคลใดได้ทำบาปอกุศลร้ายแรงไว้ทั้งอดีตและปัจจุบัน เวลามาสักการบูชาพระเจ้าตนหลวง จะมองไม่เห็นพระเจ้าตนหลวง ต้องให้คนอื่นนำพาไปลูบคลำพระพุทธรูปจึงจะรู้สึก
ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าตนหลวงองค์ ยังประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในวิหารวัดกองกาน หมู่ที่ 7 ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ วัดกองกาน อยู่ห่างจากวัดพุทธเอ้นประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญของชาวแม่แจ่ม เนื่องจากภายในวิหารมีพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่แจ่ม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวแม่แจ่มจะไปสรงน้ำองค์พระกันทุกปี พระเจ้าตนหลวงนี้ เป็นแบบล้านนา และมีขนาดใหญ่ที่สุดในอำเภอแม่แจ่ม ตัววิหารเป็นไม้ และหลังคามุงแป้นเกล็ดแบบโบราณ
เหรียญสุดยอดประสบการณ์แห่งเมืองแจ่มครับ