”หลวงพ่ออุ่น อรุโณ” ตามประวัติที่ค้นพบ ท่านมาจากวัดหันสังข์ อำเภอปางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ”วัดหันสังข์”เป็นวัดที่อยู่เหนือสุดของตำบลหัน สังข์และอำเภอปางปะหัน ต่อขึ้นไปเป็นเขตตำบลบ้านใหม่ อ.มหาราช เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ทิศเหนือติดคลองบางแก้ว ทิศใต้และทิศตะวันตกติดต่อกับที่สวนและบ้านเรือนของชาวบ้าน ทิศตะวันออกติดกับลำคลอง มีพื้นที่ 36 ไร่ 60 ตารางวา ”วัดหันนสังข์”ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2360 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในครั้งหลังเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2514 และผูกพันธสีมาเมื่อ 15 เมษายน 2515 ปัจจุบันวัดหันสังข์เป็นที่บำเพ็ญบุญ ประกอบศาสนกิจตามประเพณีต่างๆ เจ้าอาวาส พระภิกษุสามเณร และชาวบ้านได้อุปภัมภ์บำรุง ดูแลวัดมาโดยสม่ำเสมอ ทำให้วัดหันสังข์มีอาคาร และเสนาสนะต่างๆที่มั่งคงแข็งแรง สวยงาม เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ และฌาปนสถานเป็นต้น คือที่มาของ”หลวงพ่ออุ่น อรุโณ”ก่อนมาอยู่ที่เชียงใหม่ วัดป่าแดงที่อำเภอสันกำแพงจนกระทั่งมรณภาพอย่างสงบร่างกายไม่เน่าไม่เปื่อย ไม่มีกลิ่น ที่ร่ายถึงวัดหันสังข์ก็เพื่อให้รู้ทราบที่มาของ”หลวงพ่ออุ่น” ซึ่งวัดหันสังข์เป็นวัดที่สงบ มีป่าไม้ สัตว์ป่า ที่เป็นธรรมชาติอันหาได้ยากแห่งหนึ่ง ปูชนียวัตถุสำคัญของวัดหันสังข์คือ ”หลวงพ่อดำ” เป็นพระพุทธรูปศิลาแลงเก่าแก่ ชาวบ้านให้ความเคารพเชื่อถือกัน ”ครูบาอุ่น”หรือ”หลวงพ่ออุ่น อรุโณ”เป็นคนอยุธยาโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2466 ที่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ”คำ” โยมมารดาชื่อ”เดิม” นามสกุลเดิมคือ”กลิ่นเกษร” มีพี่น้อง 3 คน ในวัยเยาว์ โยมบิดามารดาได้ส่งท่านเรียนหนังสือจนจนชั้น ม.2 เมื่อมีอายุครบเกณฑ์ทหาร ได้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารบกในหน่วยปืนกลเล็ก(ป.ก.น.11)ที่อ.ปางประอิน อยู่ 2 ปี หลังจากปลดประจำการแล้ว มีอายุ 24 ปี ในปีพ.ศ.2490 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดปางคลอง ต.หัวไผ่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี พระครูพรหมสมาจารย์ วัดประดู่(ตะบอง) ต.ปางกระทุ่ง อ.มหาราช เป็นพระอุปัชณาย์ พระอาจารย์ช้อย วัดปางครองเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาสมุทธ เป้นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายา ”อรุโณ” เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยและเรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรีและโท ตามลำดับ นอกจากนี้ท่านยังสนใจในด้านพุทธาคมและกัมมัฏฐาน จึงได้ไปฝากตัวเรียนวิชากับ ครูบาอาจารย์หลายรูป ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส อาทิ หลวงตาบุญ เรียนวิชาคงกระพันชาตรี ครูโปร่งเรียนด้านเมตตามหานิยม หมอปาน เรียนวิชาแก้คุณไสยและปราบผี พระอาจารย์ผัด เรียนด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด ครูโล เรียนวิชาคงกระพัน ครูรอดเรียนวิชาทำน้ำมนต์ พระอุปัชฌาย์เฟื่อง วัดหนองอึ่ง เรียนสูตรสนธิและกัมมัฏฐาน หลวงพ่อหน่าย วัดบ้านแจ้ง เรียนวิชาทำตระกรุด และ หลวงพ่อโอภาสี เรียนวิชากสีณไฟ พ.ศ.2469 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหันสังข์ อ.บางประหัน อยู่จำพรรษาในฐานะเจ้าอาวาสได้ 9 พรรษา พ.ศ.2503 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลอยู่อีก 2 พรรษา พ.ศ.2517 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์ รึ่นเดียวกันกับ หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช พ.ศ.2518 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูอรุณวรกิจ ในช่วงที่ครูบาอุ่นอยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นพระอาจารย์ที่เข้มขลังในด้านเมตตามหานิยม เมื่อครั้งอยู่วัดปางคลอง ท่านได้สร้างพระเนื้อผงแบบพระวัดปางบาง พระพิมพ์เล็บมือ พระพิมพ์ชินราช พระพิมพ์สมเด็จ และเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของท่านไว้ เพราะการเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ทำให้มีชาวบ้านเข้าหาท่านไม่ขาดสาย ท่านเห็นว่า โอกาสที่จะปฏิบัติธรรมหาความวิเวกทำได้ยาก ในปี พ.ศ.2520 จึงได้ออกจากวัดปางคลอง มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือเพื่อที่จะหาสถานที่สงบปฏิบัติธรรม โดยจุดมุ่งหลายของท่านจะมุ่งไปที่ จ.เชียงราย จนกระทั่งได้พบวัดที่มีความสงบและเป็นวัดที่พุทธบริษัท พระสงฆ์ และชาวบ้านร่วมกันปฏิบัติกัมมัฏฐาน วัดนั้นคือ”วัดป่าแดง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านป่าสักขวาง ต.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ท่านได้เข้าพำนักที่วัดป่าแดงตั้งแต่นั้น ในฐานะพระลูกวัดเสมือนหลวงตารูปหนึ่ง มีกุฏิหลังเล็กๆอยู่ด้านหลัง โดยไม่แพร่งพรายฐานะอันแท้จริงของท่านให้ใครทราบว่า ท่านเป็นถึงพระครูสัญญาบัตรมาก่อน และมีชื่อเสียงโด่งดังจากภาคกลางมาแล้ว ต่อมาพระอธิการบุญมี เจ้าอาวาสรูปก่อนมรณภาพ คณะกรรมการวัดและศรัทธาชาวบ้าน จึงพร้อมใจกันขอให้ท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบมา ถึงแม้ครูบาอุ่น ท่านจะหลบลี้หนีหน้าญาติโยม เพื่อหาความสงบในการปฏิบัติธรรม จนกระทั่งชื่อเสียงค่อยๆลบเลือนหายไปกับกาลเวลา”แต่เพชรก็ยังคงเป็น เพชร”ชื่อเสียงของท่านเริ่มปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อศิษย์ของท่านได้ทำ ปฏิทินรูป”ครูบาอุ่น”ขึ้น เพื่อแจกในเทศกาลปีใหม่ ได้เกิดเหตุการณ์บังเอิญขึ้นคือ ขณะที่ชาวบ้านกำลังเผากองขยะอยู่นั้น ปรากฏว่า มีแผ่นกระดาษไม่ไหม้ไฟอยู่แผ่นหนึ่ง เมื่อไปดูก็ปรากฏว่า”เป็นปฏิทินรูปครูบาอุ่น” เมื่อข่าวแพร่ออกไป ชาวบ้านจึงพากันแตกตื่นหาเก็บรูปปฏิทินใส่กรอบบูชากันเป็นการใหญ่ ชาวบ้านต่างพากันมากราบไหว้บูชาท่านจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ในช่วงที่ครูบาอุ่นมาจำพรรษา ณ วัดป่าแดงนั้น ท่านได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น อาทิเช่น เหรียญรูปเหมือนรุ่น 2 ในปีพ.ศ.2537 และผ้ายันต์นารายณ์กลืนจักร ต่อมาในปีพ.ศ.2544 ท่านได้จัดสร้าง พระปิดตารุ่นแรกขึ้นพร้อมกับล๊อกเกต อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อหาทุนสร้างอุโบสถวัดป่าแดง อ.สันกำแพง ”ครูบาอุ่น”มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2544 สิริรวมอายุได้ 79 ปี พรรษา 55 ในวันมรณภาพนั้น ได้เกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์คือ ขณะที่ลูกศิษยานุศิษย์และแพทย์ได้ช่วยกันตกแต่งสรีระ ทำความสะอาดร่างกายและครองผ้าจีวรใหม่ให้กับท่าน ปรากฏว่า ที่ศีรษะของครูบามีรอยนูนเล็กๆ เริ่มจากท้ายทอยและเพิ่มมากขึ้นๆ ลักษณะเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเท่าๆกัน โดยรอบนูนนั้นชัดเจนมาก คล้ายๆกับเศียรพระพุทธรูป อีกทั้งใบหูของท่านก็ยาวขึ้นด้วย เป็นที่ปลื้มปิติแก่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2545 อันเป็นวันที่จะประกอบพิธีบรรจุสรีระของครูบาลงในหีบแก้วเหตุการณ์เดิมก็ บังเกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ร่างกายของท่านยังอ่อนนุ่มเหมือนคนนอนหลับไปเฉยๆ ไม่แข็งกระด้างเหมือนคนที่เสียชีวิตทั่วไป และไม่มีกลิ่นเหม็น ทั้งๆที่มรณภาพมาแล้วถึง 25 วันเป็นที่ประจักษ์ของชาวบ้านและศิษยานุศิษย์จำนวนมาก ซึ่งขณะนี้หีบแก้วที่บรรจุสรีระของ”ครูบาอุ่น”ศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกัน ประกอบพิธีเคลื่อนย้ายจากพระวิหาร มาสู่มณฑปของวัดป่าแดงที่มีแรงศรัทธาร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์สร้างมูลค่าไม่ ต่ำกว่า 5 ล้านบาท สาธุชนใดต้องการเข้าไปกราบไว้สักการะบูชา ไปที่วัดป่าแดงได้ทุกวันเพื่อกราบนมัสการ”ครูบาอุ่น”เป็นศิริมงคลแห่งชีวิต.