เหรียญนาคเกี้ยว ครูบากฤษดา สุเมโธ
จัดสร้างปี พ.ศ. 2546 มีรายละเอียดจำนวนการจัดสร้าง ดังนี้
1. เหรียญนาคเกี้ยว พิมพ์ใหญ่ เนื้อเงิน โดยแบ่งเป็น
- พิมพ์ใหญ่ เนื้อเงิน 2 หน้า จำนวน 9 เหรียญ
- พิมพ์ใหญ่ เนื้อเงิน หน้าเดียว(หลังเรียบ) จำนวน 9 เหรียญ
2. เหรียญนาคเกี้ยว พิมพ์ใหญ่ เนื้อทองแดง โดยแบ่งเป็น
- พิมพ์ใหญ่ เนื้อทองแดง 2 หน้า จำนวน 300 เหรียญ
- พิมพ์ใหญ่ เนื้อทองแดง หน้าเดียว(หลังเรียบ) จำนวน 300 เหรียญ
3. เหรียญนาคเกี้ยว พิมพ์เล็ก เนื้อเงิน โดยแบ่งเป็น
- พิมพ์เล็ก เนื้อเงิน 2 หน้า จำนวน 9 เหรียญ
- พิมพ์เล็ก เนื้อเงิน หน้าเดียว(หลังเรียบ) จำนวน 9 เหรียญ
4. เหรียญนาคเกี้ยว พิมพ์เล็ก เนื้อทองแดง สร้างเฉพาะแบบหน้าเดียว(หลังเรียบ) จำนวน 2,000 เหรียญ
พระครูบากฤษดา สุเมโธ เดิมอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยม่วง เลขที่ ๕๗ หมู่ ๓ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน บิดาชื่อ นายอุทัย มารดาชื่อ นางถิรนันท์ นามสกุล เอกกันทา
ในช่วงที่มารดาอุ้มท้องก่อนกำหนดคลอดหนึ่งวัน ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ ตรงกับวันพระ ในตอนใกล้รุ่ง มารดาฝันว่าได้ลูกแก้วมณี มีความสดใสสวยงามมาก ลอยเข้ามาหา แล้วมารดาก็รับแก้วมณีดวงนั้นไว้ในอก พอสะดุ้งตื่น มารดาก็เริ่มมีอาการปวดท้องเล็กน้อย จนถึงกำหนดคลอดอีกวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับ วันศุกร์ที่ ๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ (ใต้) แต่เป็นเดือน ๘ ของทางเหนือ เวลา ๒๓.๐๐ น. โยมมารดา ได้ถือกำเนิดทารกเพศชาย มีผิวผรรณ วรรณะเหลืองสุก คล้ายดอกจำปา โดยมีญาติผู้ใหญ่ของท่าน เป็นผู้ทำคลอดในบ้านของท่าน โดยผู้ใหญ่ท่านนี้ชื่อว่า พ่อน้อยยืน พันกับ ปัจจุบันท่านยังมีชีวิตอยู่ ด้วยในช่วงนั้น จะหารถไปส่งโรงพยาบาลในตัวจังหวัดก็ลำบาก รถยนต์ก็ไม่ค่อยมี หนทางก็ไกลหลายสิบกิโลเมตร บวกกับว่าในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทางเหนือเริ่มมีฝนตก ทำให้ลำบากมากในการที่จะไปโรงพยาบาล ในวันที่ท่านคลอดก็เกิดฝนตกหนักมา ฟ้าแลบฟ้าร้อง มีลมกรรโชกแรงมาก และตอนนั้น ในหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้กัน ต้องจุดตะเกียงน้ำมันก๊าด หรือไม่ก็เทียนไข เพื่อส่องสว่างในยามค่ำคืน
หลังจากที่ท่านคลอดมาแล้ว โยมบิดาได้ตั้งชื่อว่า เด็กชายกฤษดา เพราะถือฤกษ์ที่มารดาฝันว่าได้แก้ว และในช่วงที่คลอดเกิดฝนตกหนักพอดี หลังจากท่านคลอด และอาบน้ำอุ่นแล้ว ฝนก็อันตธานหยุดตก เป็นอัศจรรย์ ท่านเป็นทารกที่คลอดง่าย ไม่ร้องไห้เหมือนเด็กคนอื่น และที่น่าแปลกตรงที่ว่า ลายฝ่าเท้าของท่าน มีรูปคล้ายดอกบัวตูม และรูปหอยสังข์ซ้อนกันอยู่อย่างเห็นได้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะรูปหอยสังข์ และรูปดอกบัวตูมที่ฝ่าเท้าด้านขวาเห็นจนถึงปัจจุบัน โยมบิดาจึงได้ตั้งชื่อท่านตามนิมิตดังกล่าวมา
หลังจากที่ท่านได้เจริญเติบโต เป็นเด็กที่มีความขยัน กตัญญู และมีความคิดเฉลียวฉลาด เรียนรู้อะไรได้เร็ว ตลอดถึงการพูดจาเหมือนผู้ใหญ่ ช่างเจรจา อ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นที่เอ็นดู สำหรับผู้พบเห็น แต่เป็นเด็กที่เลี้ยงยากมาก ในด้านของสุขภาพ ไม่สบายบ่อยมากเป็นทุก ๆ ปี และได้ศึกษาชั้นประถมต้นที่โรงเรียนวัดห้วยยาบ และช่วงนั้นก็เริ่มมีใจรักในพระศาสนา ด้วยที่ว่า คุณปู่เป็นคนชักชวนให้ตามไปทำบุญ รักษาศีล ในช่วงเข้าพรรษา ทางเหนือจะนิยมนอนวัดกัน เพื่อจะประกอบการถือศีลภาวนา ครั้งแรกที่ได้ไปทำบุญกับคุณปู่ ตอนที่นั่งในพระวิหาร พิจารณามองพระประธาน ดูองค์ท่านสง่างามมาก เหมือนท่านยิ้มให้ จึงเกิดปิติความศรัทธาหลายอย่าง ทุกครั้งที่ไปวัด ท่านชอบมองพระประธานนาน ๆ เสมอ และอยากจะบวชในบวรพุทธศาสนา และมีอีกอย่างหนึ่งในช่วงที่เป็นเด็กได้ศึกษาวิชาทางสมุนไพรและสรรพวิชาเหมือนกับคุณปู่ เพราะว่าท่านเป็นหมอพื้นบ้าน เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในหมู่บ้านนั้น และหมู่บ้านใกล้เคียง เกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ ได้
หลังจากนั้นที่ได้ศึกษาจากโรงเรียนชั้นประถมจนจบแล้ว ตอนนั้นอายุได้ ๑๓ ปี ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนที่พัทธสีมาวัดป่ายาง (สันพระเจ้าแดง) ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. โดยมีพระครูโสภณรัตรสาร เจ้าคณะอำเภอบ้านธิ เป็นพระอุปปัชฌาจารย์ และหลังจากได้รับการบรรพชาแล้วก็จำพรรษาอยู่วัดห้วยยาบและช่วงนั้นก็ได้ศึกษานักธรรมบาลีจากสำนักเรียน โรงเรียนโสภณวิทยาทั้งแผนกสามัญและปริยัติควบคู่กันไป จนครบหนึ่งปี สำหรับการที่อยู่จำพรรษาวัดห้วยยาบ และแล้วในปี ๒๕๓๓ ก็ได้มาจำพรรษาวัดป่ายาง (สันพระเจ้าแดง) เพื่อสะดวกในการศึกษาเล่าเรียนต่างๆ เพราะต้องขึ้นรถประจำทางมาโดยตลอด ในปีนี้เอง ได้พบกับครูบาอินตา อินทปัญโญ วัดห้วยไซใต้ ต.ห้วยขาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ในตอนคารวะช่วงปีใหม่เมือง คือมองเห็นท่านและเกิดความศรัทธาปสาทะ อย่างบอกไม่ถูก และท่านก็เป็นพระอาวุโสที่มีอายุพรรษาสูงมากในอำเภอและพอเคยได้ยินกิตติศัพท์ความสามารถของครูบาอินตา มาจากคุณปู่และชาวบ้านมาบ้างแล้ว จึงถือโอกาสแวะเวียนไปมาบ่อยๆ จนเป็นที่คุ้นเคยกับครูบาอินตา ซึ่งท่านก็ให้ความรักและเอ็นดูดุจลูกหลานมาโดยตลอด ท่านอบรบสั่งสอนทุกด้าน โดยเน้น สมถภาวนา ในด้านการนับลูกประคำและแนวทางการกำหนดลมหายใจเข้าออก นอกจากนั้นยังได้เริ่มเรียนอักขระล้านนา ควบคู่ไปด้วย ตลอดถึงบทสวยคำภีร์ต่างๆ ของล้านนาที่ได้มาจากพ่อน้อย พ่อหนาน อาจารย์ต่างๆ ที่พอมีอยู่ในสมัยนั้น ไม่เข้าใจสิ่งใดหรือติดขัดเรื่องใด หลวงปู่ครูบาอินตาท่านได้แนะนำบอกกล่าวจนเข้าใจตลอดมา จึงเป็นเหตุให้ผูกพันท่านมากเป็นพิเศษ จะว่าไปแล้ว ในสมัยตอนเป็นเณรอยู่วัดห้วยไซเสียส่วนมาก แต่ก็ได้ไปกลับวัดป่ายาง (สันพระเจ้าแดง) อยู่เป็นประจำ เพราะต้องช่วยงานทั้งสองวัด มิให้ขาดตกบกพร่องใดๆ
การศึกษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องหลายอย่าง และฝึกเรียนเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก โดยเฉพาะกัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี เทศน์ได้ไพเราะมาก ถือว่ามีชื่อเสียงมากในสมัยที่ยังเป็นสามเณร มีกิจนิมนต์เทศน์ทั่วภาคเหนือ จนกระทั่งท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ พร้อมที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา โดยมีพระอุปปัชฌาย์ คือ พระครูโสภณรัตรสาร เจ้าคณะอำเภอบ้านธิ พระกรรมวาจารย์ คือพระสิงห์คำ ขันติโก (มรณภาพ) และ พระอนุสาวนาจารย์ คือพระอธิการวิลา อัคคจิตโต เจ้าคณะตำบลห้วยยาบ (ลาสิกขา) อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดป่ายาง (สันพระเจ้าแดง) ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ตรงกับวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๑๕.๓๘ น. โดยพระอุปปัชฌาย์ให้ฉายาทางพระภิกษุว่า "สุเมโธ" ซึ่งแปลว่า เป็นผู้มีความรู้ดี หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้วไม่นาน เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันในสมัยนั้นก็ได้ลาสิกขาไปเป็นเหตุให้หน้าที่ทุกๆ อย่างภายในวัดป่ายาง (สันพระเจ้าแดง) ตกแก่ท่าต้องรับผิดชอบทั้งหมด ตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี พรรษาแรก หลังจากอุปสมบท โดยทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาสมาโดยตลอด จนถึงอายุครบ ๒๕ ปี พรรษาที่ ๕ ทางจังหวัดได้แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส จนถึงปัจจุบัน และได้เทศน์สุ่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตลอดมา และได้พัฒนาถาวรวัตถุ เสนาสนะต่างๆ ภายในวัดป่ายาง (สันพระเจ้าแดง) และวัดวาอารามใกล้เคียง ที่มีขอให้ท่านเป็นประธานในการก่อสร้างถาวรวัตถุมากมายหลายวัด ต่างตำบาลต่างอำเภอ ออกไปจนสำเร็จลุล่างไปด้วยดีทุกประการ ซึ่งในแต่ละครั้งต้องใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้างหลายล้านบาท แต่ท่านมิได้ย่อท้อแต่ประการใด พร้อมทั้งพัฒนาทั้งในด้านจิตใจให้ความรู้ด้านธรรมะแก่สาธุชนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ พัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาในด้านถาวรวัตถุ สิ่งก่อสร้างต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
|