หากกล่าวถึงครูบาพระเถระที่อุดมศีลาจารวัตรอันงดงาม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปของ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่นอกเหนือจากหลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระอรหันต์เจ้า แห่งวัดดอยแม่ปั๋งแล้ว ก็ต้องครูบาอินสม สุมโน (พระครูสีลวุฒากร) พระอริยะสงฆ์ แห่งวัดทุ่งน้อย ต.บ้านโป่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ผู้เป็นศิษย์สาย ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนาไทย ผู้เป็นกำลังสำคัญในการมีส่วนช่วยเหลือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจนสำเร็จลุล่วง เป็นประวัติศาสตร์ของล้านนา…พระเดชพระคุณท่านครูบาอินสม สุมโน ผู้พร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามนามอุโฆษ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธสาสนิกชนทั้งใกล้และไกล ท่านเป็นผู้หนักแน่นมั่นคงในพระพุทธศาสนา ดำเนินตามปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้อย่างเคร่งครัด ตลอดจนสิ้นอายุขัย ปฏิปทาประการสำคัญที่เด่นชัดยิ่งของครูบาอินสม สุมโน คือ เมตตาธรรม ที่ท่านมีอยู่ ในการช่วยสงเคราะห์ผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนมาขอความเมตตาจากท่าน ช่วยให้พ้นจากทุกข์ภัยได้มีความสุข โดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ หมู่เหล่า ยากดีมีจนอย่างไร…ชีวิตของท่านจึงเป็นชีวิตที่ทรงคุณค่า เกิดมาเพื่อยังประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนทุกหมู่เหล่า…ดั่งรังสีแห่งสังฆรัตนที่เปล่งประกายให้แสงสว่างแก่โลกมนุษย์ นับว่าเป็นพระสุปฏิปันโนโดยแท้จริง
จากหนังสือปฏิปทาของท่านครูบาอินสม สุมโน ที่คณะศิษย์พิมพ์ถวาย เมื่อปี พ.ศ ๒๕๒๘ บอกว่า
ประวัติของครูบาอินสม สุมโน มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านป่าหวาย หมู่ ๗ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมนั้นบ้านป่าหวายขึ้นกับบ้านทุ่งน้อย หมู่ ๖ ตำบลบ้านโป่ง อาณาเขตติดต่อกันต่อมาทางราชการแยกบ้านป่าหวายไปขึ้นกับบ้านหนองไฮ หมู่ ๗ เพราะการไปมาลำบากต้องข้ามน้ำแม่งัด ละแวกดังกล่าวชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากที่อื่น เช่น บ้านแม่เหียะ อำเภอหางดง บ้านแม่แรม บ้านแม่ริม และจากเมืองเชียงราย ครูบาอินสม สุมโน เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๔๔ บุตรของนายแปง นางเที่ยง เปาะนาค ฝ่ายโยมบิดาเป็นคนบ้านงิ้วเฒ่า อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ส่วนโยมมารดาป็นคนบ้านหนองอาบช้าง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โยกย้ายมาอยู่ที่อำเภอพร้าว ครูบาอินสม มีพี่น้อง ๔ คน คือ ครูบาอินสม สุมโน นายตุ้ย เปาะนาค นายดวงแก้ว เปาะนาค และนางสาวหน้อย เปาะนาค วัยเด็กครูบาอินสม มีหน้าที่เลี้ยงควายและเลี้ยงน้องดังเด็กชาวบ้านทั่วไป เมื่ออายุ ๑๒ ขวบได้มาอยู่วัดเป็นขะโยมวัดทุ่งน้อย จึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือตัวเมืองล้านนา ได้ ๑ ปี เมื่อประมาณปี พ.ศ ๒๔๕๖ และแล้วอนิจจาโยมพ่อของท่านก็ได้เสียชีวิต ท่านจึงบวชจูงหัว(บวชหน้าไฟ)เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณบิดา ต่อมาก็ได้บวชบรรพชาจริง เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ ๒๔๕๖ โดยมีครูบาคำอ้ายสีธิวิชโย หรือชาวบ้านเรียกชื่อท่านว่า ครูบาสีธิ เป็นพระอุปัชฌาย์
|