พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระเกจิอาจารย์ล้านนา

พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์พระลือ


พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์พระลือ


พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์พระลือ

   
 

เกร็ดประวัติครูบาศรีวิชัย

ปริศนาแห่งพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย

โดย วิลักษณ์ ศรีป่าซาง

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ ฉบับเดือนเมษายน 2545

 เมื่อเลยครึ่งพุทธศตวรรษมาสองปี ผู้เขียนเกิดในยุคนั้น ที่บ้านนาป่าดอยเขตอำเภอป่าซาง ถนนยังเป็นดินแดงฝุ่นมุก ไฟฟ้ายังไม่เข้า ท้ายหมู่บ้านยังเป็นป่าลึกดงหลวง อุ๊ยเล่าว่าตอนนั้นผู้เขียนอายุยังไม่ถึงสองเดือน พอบ่ายแก่ ๆ จะร้องไห้ไม่ยอมหยุดจนตัวเขียว คนสมัยนั้นเชื่อกันว่าน่าจะมีของไม่ดีไม่งามมากระทำให้เป็นไป ต้องขอให้พ่อเฒ่าประจำหมู่บ้านที่แม่นคาถาอาคม เอาหางปลาไม (ปลากระเบน) มาเฆี่ยนอู่ พ่อเฒ่าบอกว่าคนเกิดวันจันทร์ขวัญอ่อน ผีกละผีพรายมักจะกวนควี ให้เอาพระเกศาครูบาเจ้าฯ (พระเครื่องประเภทผงคลุกรักที่มีเส้นเกศาหรือเส้นผมของครูบาเจ้าศรีวิชัยบรรจุอยู่) ผูกไว้ที่อู่ แล้วอธิษฐานยกให้เป็นลูกครูบาเจ้าฯ เสีย อันที่เคยกวนก็จะร้างหาย อุ๊ยเล่าว่าตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผู้เขียนก็กล้าแกร่งแข็งหาญบ่ไข้บ่ป่วยถึงแม้รูปร่างจะไม่สูงสง่าก็ตาม ส่วนพระเกศาองค์มัดอู่นั้นปัจจุบันยังอยู่กับผู้เขียน

-  คนลำพูน โดยเฉพาะคนยองที่ป่าซาง หรือบ้านโฮ่งหล่งลี้ คุ้นเคยกับเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นอย่างดี ดูเหมือนเป็นกระแสชีวิตสายหนึ่งเลยทีเดียว ยุคปี 2500 เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับตัวท่านศักดิ์สิทธิ์และมีอำนาจลึกลับชวนพิศวงกว่าเรื่องใด ๆ จะมากกว่าการได้สัมผัสกับท่านด้วยตนเองเสียด้วยซ้ำ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหลายคนในหมู่บ้าน ยังเคยเข้าร่วมงานพระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าฯ ถึงแม้จะอยู่กันดารห่างไกล ต้องเดินเท้าจากหมู่บ้านออกมาปากทางไกลถึง 14 กิโลเมตร กว่าจะถึงถนนที่มีรถวิ่งเข้าเมืองลำพูน การได้เข้ามาร่วมงานบุญในวันนั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ท่านเหล่านี้แหละที่เล่าขานตำนานครูบาเจ้าฯให้ผู้เขียนฟังเมื่อวัยเด็ก

-  เกี่ยวกับเรื่องการนับถือเส้นเกศานี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ผู้ที่สร้างพระเกศาครูบาเจ้าฯในยุคสมัยนั้น ได้แนวปฏิบัติมาจากไหน ด้วยว่าพระเครื่องที่มีเส้นเกศาผสมอยู่เท่าที่ปรากฏในล้านนา มีเฉพาะของครูบาเจ้าศรีวิชัยเท่านั้นที่เป็นที่รู้จัก ส่วนพระเกศาของพระสงฆ์รูปอื่นมักได้รับการบอกเล่าว่าสร้างขึ้นในตอนหลัง เช่นพระเกศาของครูบาขาวปี ศิษย์เอกของครูบาเจ้าฯ เป็นต้น พระเกศาของครูบาขาวปีมีรูปแบบต่างกับของครูบาเจ้าฯ ชัดเจน

-  การนับถือเส้นเกศานี้ ในตำนานปูชนียสถานปูชนียวัตถุในล้านนา มักกล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธองค์ในดินแดนแถบนี้ เมื่อมาถึง จะทรงได้พบกับผู้คนในพื้นถิ่น ส่วนมากจะเป็นชาวลัวะ จากนั้นทรงมอบเส้นพระเกศาแก่ลัวะผู้นั้น ก่อนจะมีพุทธทำนายว่าในภายภาคหน้าดินแดนแห่งนี้จะก้านกุ่งรุ่งเรืองเป็นที่ตั้งแห่งรัตนตรัย เจ้าเมืองจะสร้างที่บรรจุเส้นพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุซึ่งจะมาเพิ่มในภายหลัง เมื่อชาวบ้านหรือลัวะผู้นั้นได้รับเส้นพระเกศาแล้วก็จะบรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปฝังดิน ความวิจิตรพิศดารต่าง ๆ ในการบรรจุเส้นพระเกศานั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง พระธาตุเจดีย์หลายองค์ในล้านนามักมีตำนานกล่าวว่า เป็นที่บรรจุเส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้า ความเชื่อในเรื่องนี้อาจเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ผู้คนที่นับถือครูบาเจ้าฯ เก็บเส้นเกศาของท่านไว้บูชาก็เป็นได้ ส่วนการจะเก็บเส้นผมเปล่า ๆ ไว้ก็คงไม่สะดวกและอาจสูญหายจึงนำมาผสมกับมวลสารอื่น ๆ ปั้นเป็นรูปองค์พระ จะได้พกติดตัวได้สะดวก

-  เมื่อปี พ.ศ. 2536 - 2538 ผู้เขียนตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเขตอำเภอป่าซาง พบว่า ยังมีผู้เก็บเส้นเกศาของครูบาเจ้าฯ ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ตรงตามแบบที่กล่าวไว้ในตำนานที่กล่าวไว้ข้างต้น บางท่านก็เก็บในภาชนะอื่น ๆ เช่นกระป๋องแป้งฝุ่นแบบโบราณ ตลับครีมใส่ผมตันโจ เป็นต้น ส่วนพระเกศาครูบาเจ้าฯนั้น ถ้าใครมีก็ถือเป็นของรักของหวงอย่างสุดยอด หวงยิ่งกว่าพระสกุลลำพูนเสียอีก ทั้ง ๆ ที่เทียบค่าด้านพุทธพาณิชย์ไม่ได้เลย บางท่านก็เก็บพระในกระบอกไม้ไผ่ แทนที่จะนำมาห้อยคออย่างเรา ๆ เขียนมาเสียยาว ยังไม่ถึงเป้าหมายสักที ขออุบปริศนาพระเกศาครูบาเจ้าฯไว้ก่อน ไว้ต่อในตอนหน้าก็แล้วกันขอจบดื้อ ๆ อย่างนี้แหละ ตะแล็มตะแล็ม.

ปริศนาแห่งพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย (ตอนที่ 2 )

-  ตะวันยามแลง สีแดงเหมือนแตงโมเดือนเจ็ดผ่าครึ่งก่อนจะลับดอยสุเทพ ยามนี้เป็นฤดูไข่มดส้มไข่แมงมันหน่วยหลวง เอาไว้แกงใส่ผักหวานผักหละลำอร่อยลิ้น ยามนี้อีกเช่นกันที่เป็นฤดูเดือนเหงา คนเฒ่าว่าห้ามร้างเมียหรือผิดหัวกับเพื่อนรักเสี่ยวแพงเด็ดขาด เพราะจะทนคิดถึงไม่ไหว ต้องเสียเหลี่ยมไปตามง้อ ก็มัวแต่เกริ่นเรื่องง่อมเรื่องเหงาเป็นบ่าวเฒ่าเมียห่างอย่างนี้ กว่าจะไขปริศนาพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สำเร็จจึงต้องยืดมาเสียหลายตอน และยังไม่แน่ใจว่าจะจบหรือเปล่าก็ไม่รู้ เข้าเรื่องเลยดีกว่า

-  ปริศนาแห่งพระเครื่องประเภทนี้เสน่ห์น่าจะอยู่ที่การเล่าขานเกี่ยวกับการสร้าง เท่าที่ค้นคว้ามา ผู้เขียนยังไม่พบเอกสารที่บ่งชี้ถึงการสร้างเลยสักรุ่น มีแต่เพียงคำเล่าต่อปากถึงวิธีการสร้างว่าทำกันอย่างไร อันที่จะบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์ว่ามีกี่พิมพ์ จำนวนเท่าใด หรือใครเป็นผู้สร้างผู้ปลุกเสกอย่างที่ทำกันในปัจจุบันนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐาน เราทราบแต่เพียงว่าบรรดาลูกศิษย์ที่นับถือครูบาเจ้าฯ สร้างด้วยความเคารพนบไหว้ตนบุญองค์วิเศษท่านนี้ ทุกครั้งที่ท่านปลงเกศา หลับตาจินตนาการเห็นบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายนั่งอยู่รายล้อม เอาใบบัวเอาผ้าขาวมาคอยรับเส้นเกศา ด้วยว่าเส้นเกศาครูบาเจ้าฯ คือตัวแทนความวิเศษนั้น จึงพากันเก็บรักษาเสมอของมีค่าควรเมือง ภาพจินตนาการของผู้เขียนไม่ไกลจากความเป็นจริงเลย หากท่านผู้อ่านได้สัมผัสกับผู้คนเขตอำเภอทางตอนใต้ของลำพูนในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้แหละที่ผู้เขียนให้ชื่อหัวข้อบทความยาวยืดนี้ว่า ปริศนาแห่งพระเกศาฯ

-  ในวงการนิยมพระเครื่อง มักแบ่งยุคการสร้างพระเกศาครูบาเจ้าฯ อย่างคร่าว ๆ คือ ทันยุคครูบาฯ หรือ ยุคต้น หมายถึงการสร้างตั้งแต่ครั้งครูบายังมีชีวิตอยู่ และ ยุคหลัง ซึ่งหมายถึงผู้ที่เก็บเส้นเกศาไว้แล้วนำมาสร้างพระเครื่องในตอนหลัง ซึ่งอาจหมายถึงพระเครื่องที่เพิ่งสร้างขึ้นไม่กี่วันมานี้เอง ส่วนการจะสังเกตว่าสร้างในยุคไหนนั้น อันนี้อธิบายได้ไม่ยาก แต่จะให้เข้าใจได้อย่างถูกต้องนั้นกลับยากยิ่ง ปริศนานี้น่าจะเป็นมนต์เสน่ห์ของผู้ที่ใฝ่ศึกษาและต้องได้สัมผัสด้วยตนเองเท่านั้นถึงจะเข้าใจ เนื้อพระเกศาครูบาเจ้าฯ ที่นิยมกันมี 2 เนื้อ คือ เนื้อแก่ผงใบลาน กับ เนื้อแก่ว่านเกสรดอกไม้ เนื้อครั่งเนื้อดินผสมอยู่ก็มีบ้าง พบไม่บ่อยนักและมักจะสร้างขึ้นในยุคหลัง และทั้งหมดทั้งมวลต้องมีเส้นเกศาครูบาเจ้าฯบรรจุอยู่ โดยมีรักเป็นตัวประสาน บางองค์ชุบรักหรือปิดทองร่องชาดงดงาม

-  ดังได้กล่าวแล้วว่า เราท่านทราบวิธีการสร้างพระเกศาจากการเล่าขานต่อปากกันมามากกว่าการได้พบเห็นกันจริง ๆ ถ้าเราสรุปว่านี่คือพระเกศาครูบาเจ้าฯ ยุคต้น เรามักเชื่อเช่นนั้นโดยการอนุโลมว่าได้ยินได้ฟังมา หนึ่ง ประมาณเอาจากประสบการณ์ หนึ่ง ส่วนวิธีการสร้างจริง ๆ นั้น ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ พระอาจารย์ผดุง พุทธสโร เกจิอาจารย์ล้านนารูปหนึ่งแห่งวัดล้านตอง ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านมีความเคารพนับถือครูบาเจ้าฯ เป็นอย่างมาก ท่านได้สร้างเกศาครูบาขึ้นรุ่นหนึ่ง ดังมีรายละเอียดการสร้าง ดังนี้

-  เมื่อปี พ.ศ. 2540 ท่านได้เดินทางไปพบกับผ้าขาวดวงต๋า ปัญญาเจริญ ที่บ้านห้วยไซ ตำบลบ้านธิ จังหวัดลำพูน ผู้เคยเป็นลูกศิษย์ของครูบาเจ้าฯ ผ้าขาวดวงต๋าได้เก็บเส้นเกศาครูบาเจ้าฯไว้จำนวนหนึ่ง ใส่กระบอกไม้ไผ่เฮี้ยมีฝาปิดลงรักงดงาม แล้วถวายเส้นเกศาดังกล่าวเพื่อให้นำไปสร้างพระเครื่อง จากนั้นในปีเดียวกันจึงนำมาสร้างพระเกศาครูบาเจ้าฯ ตามเจตนาของเจ้าของ จำนวนมากเป็นพันองค์ มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์พระรอด พิมพ์พระลือโขง และพิมพ์รูปเหมือน โดยมีวิธีการทำดังนี้

-  มวลสารที่ใช้สร้างประกอบด้วย ดอกไม้อุโบสถส่วนหนึ่ง ธรรมใบลานเก่าและพับหนังสา ส่วนหนึ่ง ใบสรี หรือใบโพ ที่เก็บได้จากต้นโพ จำนวน 108 ต้น ส่วนหนึ่ง นำมวลสารเหล่านี้มาสับให้เป็นชิ้น ๆ ตากให้แห้ง แล้วคั่วในกระทะใบใหญ่จนกรอบมีสีดำ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะผงถ่านนำมาผสมกับยางรักที่กรองแล้วคลุกเคล้าจนเหนียวพอปั้นเป็นองค์ได้ แม่พิมพ์ปั้นจากดินเหนียวเผาไฟจนแกร่ง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะขัดราชวัตรแวดล้อมพร้อมตั้งเครื่องบวงสรวงพลีกรรมตามธรรมเนียมอย่างล้านนา เทเส้นเกสาครูบาเจ้าลงบนผ้าขาว แล้วปั้นสมุกคลุกรักให้พอองค์ นำมาแตะกับเส้นเกศาแล้วกดเป็นรูปพระตามแบบพิมพ์ ด้านหลังประทับตราเป็นรูปยันต์ฟ้าล้นหรือยันต์ฟ้าลั่นซึ่งผ้าขาวดวงต๋าเล่าว่า เป็นยันต์ที่ครูบาเจ้าฯ นิยมใช้ เมื่อเสร็จแล้วนำพระเกศาทั้งหมดผึ่งลมจนแห้งสนิทเป็นเวลาเดือนครึ่ง ก่อนจะนำเข้าพิธีปลุกเสกร่วมกับวัตถุมงคลของท่านครูบาน้อยแห่งวัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ในปีเดียวกัน แล้วแบ่งพระเกศาที่สร้างในครั้งนี้ออกเป็นสามส่วนเท่า ๆ กัน ตนเองเก็บไว้เพียงส่วนเดียวเพื่อไว้แจกแก่ผู้ที่นับถือครูบาเจ้าฯ

-  วิธีการสร้างพระเกศา ตามที่ผู้เขียนได้เขียนเล่ามานี้ คงพอประมาณได้ว่าการสร้างพระเกศาในอดีตนั้นเป็นอย่างไร อาจไม่ตรงเสียทั้งหมด จึงได้ใช้คำว่า ประมาณเอา ส่วนการสร้างพระเกศารุ่นนี้อาจจะแปลกจากรุ่นอื่น ๆ ในอดีต กล่าวคือได้พระเกศาพิมพ์เดียวกันเป็นจำนวนมาก เพราะพระเกศาครูบาเจ้าฯ ในยุคต้นที่เราท่านพบส่วนมากไม่ซ้ำพิมพ์กัน

-  เขียนไปเขียนมาชักจะเข้าลึกเข้าดึกไปไหนต่อไหน ขอกราบอภัยท่านผู้อ่านที่แอบยืดข้อเขียนเรื่องนี้ต่อโดยบ่ได้ตั้งใจ สาธุไหว้สา ขอสูมาเต๊อะ ก่อนแล นายเหย..

ปริศนาแห่งพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิชัย (ตอนจบ)

-  ดังที่ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระเกศาครูบาเจ้าฯ มีจุดประสงค์หลักการสร้างเพื่อเก็บรักษาเส้นเกศา เส้นเกศาจึงเป็นมวลสารสำคัญสำหรับพระเครื่องดังกล่าวนี้ ดังนั้นปริศนาแรกที่ชวนไขคือ การสังเกตเส้นเกศาครูบาฯ

-  เส้นเกศาครูบาเจ้าฯที่บรรจุในองค์พระนั้น มักเป็นสีน้ำตาลใสคล้ายกับสีน้ำผึ้ง บางคนเปรียบเส้นเกศาครูบาเจ้าฯ เป็นสำนวนปัจจุบันว่า มีลักษณะคล้ายกับเส้นผมขาดการบำรุง ด้วยว่าครูบาเจ้าฯฉันมังสวิรัติ บ้างก็ว่าสีของเส้นเกศาที่กลายเป็นสีน้ำผึ้งนั้นอาจถูกมวลสารหรือรักกัดสีจนกลายเป็นสีใสในที่สุด มาตรฐานสีของเส้นเกศาดังกล่าวนี้ถือเป็นบรรทัดฐานส่วนหนึ่ง กล่าวคือพอส่องกล้องดูก็จะทราบโดยทันทีว่าใช่เลย ข้อสรุปนี้คงได้จากการสังเกตเห็นที่เหมือน ๆ กัน อีกทั้งบางองค์มีนามของท่านจารบนองค์พระ จึงเป็นเครื่องจำหมายว่าเป็นเส้นเกศาของท่าน การเทียบเคียงลักษณะเส้นเกศาจากองค์ที่มีนามครูบาเจ้าฯกับองค์ ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อสรุปนี้

-  วิธีการบรรจุเส้นเกศาในองค์พระมีหลายวิธี เช่น การผสมกับมวลสารแล้วค่อยกดในแม่พิมพ์ การใส่เส้นเกศาในแม่พิมพ์ วิธีนี้จะพบเส้นเกศาด้านหน้าองค์พระ การใส่เส้นเกศาด้านหลังองค์พระ หรือห่อกระดาษฝังในองค์พระ วิธีแรกดูจะเป็นธรรมชาติที่สุด จะเห็นเส้นเกศาโผล่พ้นผิวเล็กน้อย ส่วนวิธีการต่อมาเหมือนการจงใจโชว์เส้นเกศาและเส้นเกศามักจะหลุดออก จะเห็นเพียงรอยเส้นทาบกับผิวองค์พระเท่านั้น องค์พระที่เห็นเส้นเกศาชัดเจนดังกล่าวนี้นิยมเรียกกันว่า เกศาลอย ที่ไม่ปรากฏเส้นเกศา เรียกว่า เกศาจม คนมักจะประมาณเอาว่า มี แต่ อยู่ข้างใน คนนิยมแบบเกศาลอยมากกว่าด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ พระเกศาก็ต้องเห็นเส้นเกศา นั่นเอง

-  ปริศนาลำดับต่อมาคือ พิมพ์ทรงพระเกศา ส่วนมากจะเป็น พิมพ์พระสกุลลำพูน เช่นพระคง พระบาง พระรอด พระเปิม พระลือ พระเหลี้ยม พระลบ พระสาม พระสกุลลำพูนคงหาได้ง่ายในยุคนั้นอีกทั้งยังเป็นที่เคารพของผู้คนในพื้นถิ่น จึงนำมาเป็นต้นแบบการสร้าง ต้นแบบสวยพระเกศาองค์ที่ถอดแบบออกมาก็สวยตาม พิมพ์ต่อมาคือ พิมพ์รูปเหมือนครูบาเจ้าฯ ที่พบมากคือมีลักษณะคล้ายกับพระเนื้อดินรุ่นอัฐิหลังย่นคือเป็นรูปครูบาเจ้าฯ นั่งเต็มองค์ พิมพ์ทรงกลุ่มสุดท้ายคือ พิมพ์ทรงพระพุทธ มีอยู่หลายแบบหลายปางหลายขนาด เวลากำหนดประเภทพระเข้าประกวดมักไม่เป็นมาตรฐาน เช่น แบ่งเป็นพิมพ์รัศมีใหญ่ รัศมีกลาง รัศมีเล็ก นั่งบัว ฯลฯ ความหลากหลายนี้คือเสน่ห์ของพระเกศาฝีมือแบบชาวบ้านที่สะท้อนความเคารพนับถือในตัวครูบาฯ ใครอยากทำแบบพิมพ์อย่างไรก็แล้วแต่ใจศรัทธา ผู้เก็บสะสมจึงตื่นเต้นตามความหลากหลายนั้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น ผู้เขียนแอบคิดนะว่า ถ้ามีคนสัก 500 คน ต่างได้เส้นเกศาครูบาเจ้าฯ กันทุกคน สมมติว่าได้จากมือเลยนะ คนทั้ง 500 อยากเก็บรักษาเส้นเกศาโดยสร้างเป็นองค์พระ ต่างคนก็สร้างพิมพ์ตามศิลปะที่ตนชอบ ก็จะได้พระเกศา 500 พิมพ์ไม่ซ้ำกัน และคงมีบ้างที่ใช้แม่พิมพ์เดียวกัน ส่วนใครมีรักมีชาดก็ลง ใครมีทองก็ปิด ครั้นจะร่วมกันทำเป็นพระเกศาครูบาเจ้าฯ รุ่นหนึ่งให้เอิกเกริก ในยุคกะโน้นคงทำได้ไม่ถนัด เนื่องจากการปลงผมทุกครึ่งเดือนนั้นคณะผู้ศรัทธามีจำนวนมาก ส่วนว่าบรรดาลูกศิษย์ชิดใกล้จะเก็บไว้คนเดียวคงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งครูบาเจ้าฯ นั้น เกือบตลอดชีวิต ท่านกลายเป็นของต้องห้ามทั้งฝ่ายพุทธจักรจากส่วนกลางและอาณาจักร ดังนั้นจึงน่าจะต่างคนต่างสร้างหรือแอบทำแอบสร้างมากกว่า เป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะญาติพี่น้องแล้วสืบสายเป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน ก่อนจะกระจายสู่แผงพระเครื่องในที่สุด

-  การพิจารณาเนื้อพระเกศาเพื่อกำหนดอายุนั้น อาศัยความเก่าความแห้งของมวลสารบวกกับประวัติที่ได้จากการเล่าต่อปาก ถ้าปิดทองล่องชาดก็สังเกตจากรัก ชาด ทองเก่า ด้วยว่าข้อตกลงเรื่องความเก่าความใหม่เหมือนเป็นมติร่วมกันที่เป็นมาตรฐาน มีพระเกศาครูบาเจ้าฯ องค์หนึ่งที่จารปีที่สร้างบนองค์พระ จึงสามารถเทียบเคียงเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ประกอบอายุการสร้างได้

 

-  การปลอมแปลงเพื่อให้ได้ค่าเชิงพาณิชย์นั้น ส่วนมากจะใช้วิธี ตีเข้า ตามสำนวนของเซียนพระ หมายถึง การกล่าวเหมารวม เอาพระผงอื่น ๆ ให้เป็นพระเกศาครูบาเจ้าฯ ส่วนมากจะเป็นพระเนื้อผงของพม่า เพราะมวลสารหลัก ๆ เหมือนกัน คือ สมุก เกสรดอกไม้ และการคลุกรัก ยิ่งไม่พบเส้นเกศาก็ยิ่งพิจารณายากเข้าไปอีก ส่วนการตั้งใจปลอมหรือรู้แล้วว่าไม่ใช่ แต่อาศัยการตีเข้าดังกล่าวก็มีอยู่ไม่น้อย สบายใจตรงที่คนล้านนามีความเชื่อเรื่องเวรกรรมโดยเฉพาะกับครูบาเจ้าฯ จึงพอเบาใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปได้บ้าง เพราะใช้เวลาไม่นานความจริงก็ปรากฏ พูดแล้วขนฅิงลุกสามครั้ง ผู้เขียนขอไขปริศนาเรื่องพระเกศาครูบาศีลธรรมเจ้าด้วยความคำนบครพยำไว้แค่นี้ แล สาธุ. 

ขออนุญาต ท่านอาจารย์ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง มา ณ ที่นี้ ที่ได้นำบทความของท่านอาจารย์มาเป็นข้อมูลประกอบภาพพระเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย ในร้านบารมีสุมโน ในครั้งนี้ด้วยครับ

 
 
     
โดย : noom_n4   [Feedback +22 -0] [+2 -0]   Mon 2, Mar 2015 22:04:35
 
 
พระเกศาครูบาเจ้าศรีวิไชย พิมพ์พระลือ : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.