พระผงสิงห์เกสร หลวงพ่อเกษม เขมโก ปี2503 รุ่นแรก (พิมพ์ใหญ่) รายละเอียด คัดมาจากนิตยสาร”เซียนพระ ฉบับที่ 118 วันที่ 20 พ.ย. 2536 คอลัมน์” พระผงเกสร พุทธสิหิงค์ หลวงพ่อเกษม สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง”โดย…ทักษิณ หน้าที่ 14 ถึง 15 พระผงเกสรพุทธสิหิงค์ของหลวงพ่อเกษม สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง ขอรับประกันว่ามีดีครบและดีพร้อมทั้งสามประการ คือ เจตนาการสร้างที่ดี มวลสารที่ดี(“ดีใน”) และผู้ปลุกเสกที่ดี(พระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์) ลักษณะของพระผงเกสรพุทธสิหิงค์ ด้านหน้าเป็นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ แต่เป็นปางนั...่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัว มีฐานเป็นขาโต๊ะรองอีกทีหนึ่ง บนพระเศียรมีเส้นรัศมีแผ่กระจาย รายละเอียดส่วนต่างๆของร่างกายติดชัดเจน ส่วนด้านหลังเรียบ ฐานกว้างประมาณ 2 ซม. สูงประมาณ 3.3 ซม. หนาประมาณ 0.3-0.4 ซม. เนื้อหามวลสารออกสีดำ มีคราบไขผุดจากในเนื้อเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล พระเครื่องบางองค์มีรอยแตกรานเล็กน้อย เพราะความชื้นในเนื้อพระระเหยออกไป ผู้สร้างพระผงเกสรพุทธสิหิงค์ ได้พยายามที่จะสร้างพระเครื่องชุดนี้ให้ดีที่สุด จึงได้ตระเตรียมจัดหาวัสดุมวลสารที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมงคลหลายต่อหลายอย่างโดยเริ่มเตรียมการสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ซึ่งมวลสารที่นำมาสร้างพระเครื่องนั้น ต้องใช้ความพยายามและอุตสาหะอย่างยิ่งยวดกว่าจะได้มาแต่ละสิ่ง แต่ทางคณะผู้จัดสร้างก็ได้ใช้ความพยายามหามาได้หลายอย่างเช่น ดินจากสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่งจากประเทศอินเดีย ใบลานและสมุดข่อยที่จารึกพระธรรม คัมภีร์ พระพุทธมนต์ และตำราต่างๆที่ชำรุดแล้วใช้การไม่ได้ เอามาเผาและป่นให้ละเอียด ดอกไม้ธูปเทียนที่มีผู้นำไปกราบไหว้สักการะหลวงพ่อเกษม เพราะความเลื่อมใสศรัทธา ผงขี้ธูป ก้านธูป และดอกไม้แห้งที่หลวงพ่อเกษมท่านใช้จุดและบูชาขณะบำเพ็ญภาวนา ข้าวแห้งก้นบาตรของหลวงพ่อเกษมที่เหลือจากการฉันเอามาตากแห้งบดให้ละเอียด ผงพุทธคุณจากการนำเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกหลายวัด น้ำอ้อยเคี่ยว ยางไม้บางชนิด และที่สำคัญที่สุดก็คือ เส้นผมของหลวงพ่อเกษมที่ท่านได้ปลงผมไว้จำนวนหนึ่ง. จะเห็นได้ว่ามวลสารที่เป็นส่วนผสมของพระผงเกสรพุทธสิหิงค์ ล้วนเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์และหาได้ยาก ทางคณะผู้สร้างต้องใช้เวลาในการเก็บรวบรวมมวลสารเหล่านี้ ถึงสามปีเต็มๆจึงได้ครบเพียงพอแก่ความต้องการ เมื่อได้มวลสารเพียงพอแล้วจึงได้เอามวลสารเหล่านั้นไปบดตำและร่อนแยกเป็นส่วนๆก่อนที่จะเอาคลุกเคล้าด้วยตัวประสาน เพื่อให้มวลสารยึดเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงได้อาศัยพระภิกษุและสามเณรช่วยกันกดพิมพ์ การกดพิมพ์พระก็เป็นการกระทำกันในวัด อาศัยแรงงานจากพระภิกษุและสามเณร ทุกคนที่มาช่วยงานต่างก็ได้อุทิศทั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อให้งานครั้งนี้เสร็จลุล่วงไปด้วยดี และเพื่อให้พระเครื่องที่สร้างมีความศักดิ์สิทธิ์สูง จำนวนพระเครื่องที่กดพิมพ์ได้เข้าใจว่ามีมากพอสมควร แต่ก็ไม่มากจนเกินไป เพราะกดพิมพ์เท่าที่จำนวนมวลสารที่มีอยู่ เมื่อมวลสารหมดก็หยุดพิมพ์ ไม่ได้มีการสร้างเสริมขึ้นมาใหม่ทีหลัง พระเครื่องที่พิมพ์ได้ทั้งหมด ได้นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดหัวข่วง จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยนิมนต์หลวงพ่อเกษม มาเป็นประธานในพิธีร่วมกับพระเกจิอาจารย์ทางภาคเหนืออีกหลายท่าน เมื่อเสร็จพิธีแล้วทางคณะผู้จัดสร้าง จึงได้นำเอาพระเครื่องออกให้ประชาชนทำบุญ เพื่อนำเอาปัจจัยมาบูรณะซ่อมแซมถาวรวัตถุทางศาสนาในวัดหัวข่วง จนสำเร็จลุล่วงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ในตอนแรกทุกประการ สมกับที่เป็นพระเครื่องที่จัดสร้างขึ้นโดยมีเจตนาดีเป็นการกุศลอย่างแท้จริง