นอกจากพะแก้วบ้านหลวง อ.บ้านหลวง จ.น่านแล้ว ยังมีพระเจ้าแก้วที่ศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของเมืองน่าน
พระแก้วองค์นี้ อยู่ที่ อ.นาหมื่นครับ รู้จักกันดีในชื่อของ พระเจ้าแก้ว วัดบ่อแก้ว อ.นาหมื่น
ในพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวถึง พระยาสิทธิราช ผู้ว่าราชการในหอคำ ได้รับคำสั่งจากเจ้านครน่าน บอกมาถึงหัวเมืองต่างๆที่มีพระพุทธเจ้าแก้วที่เป็นหินนั้น ไม่ต้องให้เป็นอันตรายแก่บุคคลผู้ใดเลย ให้พ่อเมือง นายบ้าน นายแคว้นช่วยกันระวังรักษาให้ดี ให้พากันสักการะบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลายไปยืนยาวนานตราบจน 5000 พรรษานั้นเถอะ...ฯลฯ...ได้ประทับตรารูปอุทุพรเป็นสำคัญ ศักราชได้ 1235 ตัวปีเต่าสี เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ ในอ.นาหมื่น มีว่า....
กาลก่อนนั้น เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว มีตากับยายสองคน ไปทำไร่ที่ม่อนเขาแก้ว(อยู่ติดกับวัดชัยมงคล - ในปัจจุบัน) ขณะที่กำลังดาหญ้าอยู่นั้น ได้เอาแวก หรือ จอบขนาดเล็ก ไปถูกเอาพระเกศ หรือ จิกโมฬี ตากับยายสงสัยด้วยเห็นเป็นสิ่งผิดสังเกต จึงช่วยกันขุดดินในบริเวณนั้นออกดู ปรากฏว่าสิ่งที่แวกไปกระทบนั้นเป็นรูปองค์พระ เมื่อล้างดูแล้ว เป็นพระพุทธรูปแก้วที่สดใสงดงาม จึงนำมาไว้ที่วัดบ่อแก้ว
ต่อมาได้เกิดอภินิหาริย์หลายอย่าง มีผู้พบเห็นพระเจ้าแก้วองค์นี้ เสด็จสัญจรไปในหลายๆที่หลายๆแห่ง โดยมีผู้คนพบเห็นมากมาย เช่น .- ไปปรากฏที่วัดร้อง ตำบลสถานบ้าง วัดปงบ้าง หรือใต้โคนต้นเดื่อใหญ่ในหมู่บ้าน ริมน้ำหินบ้าง
ผู้เฒ่าแสนใจยาวา จึงสร้างแท่นไม้เป็นที่ยืนประทับของพระเจ้าแก้ว ทำให้พระเจ้าแก้วองค์นี้ไม่เสด็จไปไหนมาไหนอีก
ความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏหาริย์ของพระเจ้าแก้ว วัดบ่อแก้ว ล่วงรู้ไปถึงเจ้าผู้ครองนครน่าน พระองค์หนึ่ง จึงดำริที่จะอัญเชิญไปไว้ที่วัดหลวงในตัวเมืองน่าน ได้ตกแต่งขบวนช้าง ขบวนม้าและผู้คนมาอัญเชิญพระเจ้าแก้วขึ้นหลังช้าง เมื่อไปถึงบริเวณที่เรียกว่า แพะไก่เถื่อน ปรากฏว่า ได้เกิดโกลาหลมีเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าเป็นการใหญ่ มีลมหลวงพัดเข้าสู่ขบวนช้าง ม้าและผู้คนจนแตกตื่นตกใจไปทั่วจนขบวนแตกกระจายไม่สามารถนำพระเจ้าแก้วเดินทางต่อไปได้ จึงพร้อมใจกันอัญเชิญกลับมาไว้ที่วัดบ่อหลวงดังเดิม
อิทธิทธิ์และปฏิหาริย์ของแก้วมีมากมาย ช่วยขจัดปัดเป่าภยันตรายและความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนที่เข้าไปบนบานสานกล่าวอยู่เสมอๆ ปีไหนฝนแล้ง ฟ้าฝนไม่เป็นไปตามฤดูกาล ชาวนาหมื่นจะอัญเชิญพระแก้วแห่แหนไปตามหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆให้ผู้คนได้สรงน้ำ และเป็นที่อัศจรรย์นัก เมื่อพิธีเสร็จสิ้นหรือขณะที่กำลังดำเนินพิธีอยู่นั้น ฝนจะตกลงมา
ต่อมาได้เกิดประเพณีสรงน้ำพระเจ้าแก้วหลังวันสงกรานต์ โดยกำหนดให้เกษตรอำเภอ สมมุติตนทรงเครื่องเป็นเทวดา(พระพิรุณ) อัญเชิญพระเจ้าแก้วออกมาแห่แหนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และในวันนี้ จะมีฝนตกในระหว่างพิธี เป็นการตอกย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแก้ว วัดบ่อหลวง อ.นาหมื่น จ.น่าน
|