ไหนๆ กระทู้นี้ก็เป็นกระทู้ฮอตในรอบหลายเดือนของเว็บนี้ อีกทั้งยังมีผู้เข้ามาศึกษา เข้ามาอ่านกันเป็นจำนวนมาก ผมเองจะขอใช้ประโยชน์ตรงนี้ ในการเขียนอธิบายให้ผู้สนใจศึกษาได้เข้ามาอ่านเพื่อศึกษากันนะครับ ขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้ bias (หาคำแปลในกูเกิ้ลเองนะครับ) แต่อยากอธิบายตามหลักที่ควรจะเป็นมากกว่า ใครเข้ามาอ่าน ศึกษาไปด้วยกันนะครับ ไม่ต้องเสียตัง แต่ถ้าอนาคตจะฟังให้ลึกในรายละเอียด ใครจัดแล้วให้ผมไปพูด คนเข้าฟังคงต้องเสียตังแล้วหล่ะครับ
ในฐานะที่ผม เต้ สยามโบราณ เป็นกรรมการคนหนึ่งในโต๊ะพระบูชา ที่มักจะได้รับเชิญให้ตัดสินงานประกวดพระฯ ของสมาคมอยู่เป็นประจำ เพราะนอกจากเบิ้ม เชียงใหม่ และบอย เชียงใหม่แล้ว จะมีผม และเฮียสิน เชียงแสนอาร์ตอีกหนึ่งคน เพราะฉะนั้นจึงจะขอแสดงทรรศนะหน่อยนะครับ อีกทั้งยังรู้จักกับหลวงพี่เป็นการส่วนตัว เพราะฉะนั้นผมจึงถือเป็นความเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเข้ามาอธิบายจะได้เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง เฮงเฮงพระเครื่องก่อน โดยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีใครรู้จัก หรือบางคนรู้จักแต่ทำเป็นไม่รู้จัก และแม้ทุกวันนี้จะไม่ได้เจอกันนานแล้ว เพราะย้ายจากบ้านเราไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน แต่ส่วนตัวผมถือว่าบุคคลนี้ก็ยอดฝีมือในชุดพระบูชาที่มีฝีมือพอตัว หาของเก่ง และเซียนใหญ่หลายท่านในบ้านเราก็ลูกค้าเขานี่หล่ะครับ ลองถามกันดูได้
ทำความเข้าใจกันก่อน ในที่นี้ผมขอเรียก พระพุทธรูป พระสาวก พระสังกัจจายน์ พระบูชาทรงเครื่อง และประติมากรรมลอยตัวว่า “พระพุทธรูป” เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น
เดิมการเรียก “ศิลปะเชียงแสน” ตามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ถูกกำหนดขึ้นตามการขุดค้นพบพระพุทธรูปจำนวนมากที่เมืองเชียงแสนเป็นครั้งแรก โดยศึกษาจากตำนานกล่าวว่า น่าจะมีอายุเริ่มที่พุทธศตวรรษที่ 16 แต่ในปัจจุบันการศึกษาจากข้อเท็จจริง ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว พระพุทธรูปสำริดในยุคแรกถูกสร้างขึ้นในยุคพระเจ้าแสนเมืองมา หรือ พระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นอย่างมาก ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก
ปัจจุบันการเรียกชื่อ ศิลปะเชียงแสน เริ่มถูกแทนที่เข้ามาด้วย ศิลปะล้านนา ซึ่งถือว่ามีความเป็นสากลกว่า เนื่องจากเป็นชื่อเรียกอาณาจักร และได้รับการยอมรับกันเป็นสากล ซึ่งอีกไม่นานเมื่อเข้าประชาคมอาเซียนแล้ว ชื่อ ศิลปะล้านนา จะยิ่งเป็นที่รู้จัก ในฐานะ Lanna Style และยอมรับมากขึ้นไปอีก ในฐานะเมืองโบราณที่มีอายุมมากกว่า 700 ปี ต่อจากอาณาจักรหริภูญไชย
การแบ่งกลุ่มพระพุทธรูป ตามรูปแบบ และประวัติศาสตร์ จากที่ผมเคยไปบรรยายที่พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา จ.เชียงใหม่ บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ผมแบ่งเอาไว้ชัดเจนที่ 5 ช่วงเวลา ซึ่ง 4 ช่วงแรกเป็นมาตรฐานตามกรมศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะได้แบ่งเอาไว้ ส่วนระยะที่ 5 เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อรองรับการเล่นหาโดยเซียนพระพุทธรูปในบ้านเรา ที่เริ่มจะขยับลงมาเล่นกลุ่มนี้กันเยอะ เนื่องจากเก่ากว่านี้เริ่มหายาก และมีราคาแพงกว่ามาก
ระยะที่ 1 พระพุทธรูป ศิลปะล้านนาระยะแรก อายุราวพุทธศตวรรษที่19
ระยะที่ 2 พระพุทธรูป แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง และอิทธิพลสุโขทัย
ระยะที่ 3 ยุคทองของล้านนา ราวต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21
ระยะที่ 4 พระพุทธรูป ศิลปะล้านนายุคเสื่อม ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 (ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า) ยุคนี้ฝีมืองานช่างในอาณาจักรด้อยลง เนื่องจากช่างฝีมือดีๆ ถูกเกณฑ์ไปอยู่ในพม่ากันหมด
ระยะที่ 5 พระพุทธรูป ศิลปะล้านนา ยุคฟื้นฟู ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23 – 25 (กอบกู้เอกราชกลับมาโดยพระเจ้ากาวิละและสถาปนาอาณาจักขึ้นใหม่ในปี 2324) ผมเรียกยุคสร้างบ้านแปงเมืองอีกครั้ง มีการสร้างพระขึ้นอีกครั้งเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากช่างฝีมือล้มหายตายจากไปแล้ว รุ่นนี้คงถือเป็นรุ่นหลานที่ พูดได้ว่า “แค่ทำเป็น”เท่านั้น
เห็นได้ว่า 3 ระยะแรกผมไม่ได้อธิบายรายละเอียดเนื่องจากไม่ได้อยู่ในกลุ่มพิจารณา แต่จะสังเกตได้ว่าระยะที่ 4 และ 5 กินเวลาในแต่ละช่วงกว่า 200 ปีซึ่งนานมาก เนื่องจากการพัฒนาทางศิลปะหยุดนิ่ง คือไม่ได้พัฒนาอะไร มีแต่เสื่อมลง เพราะฉะนั้น การตอบคำถามที่ว่า ช่วงอายุของพระพุทธรูปการชี้ชัดว่ามีอายุเท่าไหร่ ทำได้ยาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าระหว่างอายุ 100-200 ปี ถือเป็นยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันไม่ต่างกัน
ต่อคำถามที่ว่า พระสังกัจจายน์ องค์นี้มีปัญหา เรื่องการกำหนดอายุ อย่างที่ทราบการใช้ชื่อว่า “พระสังกัจจายน์ ศิลปะเชียงแสน” ออกจะดูเป็นคำที่เฉพาะเจาะจงไปหน่อย การเปลี่ยนมาเป็น “พระสังกัจจายน์ ศิลปะล้านนา” เป็นสิ่งที่กระทำได้ และดูสมเหตุสมผลกว่า ผมว่าชื่อนี้น่ารักกว่า
เนื่องจากการกำหนดอายุของพระองค์นี้ ถ้าสังเกตให้ดี เทียบเฉพาะใต้ฐาน ซึ่งเป็นจุดที่เซียนพระบูชาทุกคนจะต้องดูเสมอ จะเห็นได้ว่าพระสังกัจจายน์องค์นี้ “ในไม่เขียว” แปลว่า ผิวด้านในไม่มีสนิมเขียว หรือมมีสนิมเขียวแต่ไม่กินเนื้อโลหะ บางคนอาจ ตั้งคำถามว่า ถ้าขัดทั้งนอก และใน ออกไปจะเป็นไปได้ไหม คำตอบคือ “เป็นไปได้” แต่บอกได้คำเดียวว่ายาก และไม่มีใครเขาทำกัน พระองค์ใหญ่ง่ายกว่ายังไม่ทำ เพราะฉะนั้นองค์เล็กลืมไปได้เลย ถ้าพิจารณาแล้วสันนิษฐานได้ว่า พระองค์นี้ไม่ได้ลงกรุ (พูดง่ายๆ คือไม่ได้ถูกฝัง ผิวไม่เคยเป็นสนิมมาก่อน) ลองเอาหลังนิ้วเคาะเทียบกับพระตัวอย่างอีกหลายองค์ เสียงจะกังวานกว่า เพราะเนื้อโลหะยังไม่เสียสภาพ เสียงยังกังวาน
ผมได้เตรียมรูปพระพุทธรูปตั้งแต่ระยะที่ 2 และ 3มาให้ดูเปรียบเทียบ รูปพระทั้งหมดมาจากศูนย์พระต่างๆ ที่เล่นหาพระบูชาโดยตรง มาให้ดูเปรียบเทียบ มีของนครพิงค์อาร์ต สจ.บอม และของผมเองสยามโบราณมาให้ชมเพื่อเปรียบเทียบ ลองดูครับ
|