เจดีย์หมื่นพริก หมื่นเกลือ เป็นเจดีย์ร้างอยู่ในหมู่บ้านทุ่งหมากหนุ่ม หมู่ที่ ๕ ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านทุ่งหมากหนุ่มแต่เดิมนั้นมีบ้านเรือนราษฎรได้มาอาศัยทำกินอยู่รวมกันประมาณ ๒๐ กว่าหลังคาเรือน ตั้งอยู่ระหว่างเจดีย์ ๒ องค์ ซึ่งเจดีย์ทั้งสององค์นี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใดและมีอายุกี่ร้อยปีแล้ว เจดีย์องค์แรกอยู่ทางทิศเหนือ ชาวบ้านเรียกว่า หมื่นพริก(ปัจจุบันอยู่ห่างจากวัดวังจำปามาทางใต้ประมาณ ๔๐๐ เมตร) ส่วนองค์ที่ ๒ อยู่ทางทิศใต้(ปัจจุบันอยู่ติดกับถนนเข้าสู่หมู่บ้านทุ่งหมากหนุ่ม) ชาวบ้าน เรียกว่าหมื่นเกลือ
ความเป็นมาของเจดีย์หมื่นพริก หมื่นเกลือ ตามคำบอกเล่าของพ่ออุ้ยตา เตวิยะ อายุประมาณ ๙๐ ปี ชาวบ้านแท่นคำ หมู่ที่ ๑ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง เล่าว่า “ในอดีตประมาณ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว อุ้ยตา เป็นเด็กเคยติดตามมารดาชื่อ แม่อุ้ยหล้าไปทำบุญ และทำไร่ไถนาบริเวณเจดีย์หมื่นพริก หมื่นเกลือ อนึ่งแม่อุ้ยปุ๋ม วงศ์ศรี(พี่สาวแม่อุ้ยหล้า) เป็นผู้ที่มีความขยันแข็ง ชอบค้าขาย ประกอบอาชีพค้าเกลือ และ มีที่ไร่นาบริเวณทุ่งหมากหนุ่ม ส่วนชาวบ้านจอมทอง แท่นคำ และท่าหลุก ส่วนหนึ่ง มีอาชีพทำไร่พริก ใกล้ๆกับ
ทุ่งหมากหนุ่มคนละฟากกับแม่น้ำปิง (บ้านหนองเขียด) เมื่อคนทั้งหลายได้เงินทองจากการค้าขายและการทำไร่นา ตามความเชื่อของบรรพบุรษ จะต้องนำไปทำบุญก่อน เลยหารือตกลงกันว่า จะสร้างประตูเมืองจอมทองเป็นรูปเจดีย์ ตรงท่าเรือ ชื่อว่าท่าช้าง (ได้ชื่อมาจากเอาช้างจากวัดพระธาตุจอมทองฯที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ถวายให้ ไปอาบน้ำที่ท่าเรือแห่งนี้) โดยมีการตกลงแบ่งการสร้างเจดีย์เป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายชายนำเงินจากการขายพริกไปสร้างเจดีย์ชื่อหมื่นพริก (หมื่นแปลว่ามากมาย) อยู่ทางด้านทิศใต้ ส่วนฝ่ายหญิงสร้างเจดีย์หมื่นเกลือ ห่างกันประมาณ ๒๐๐ วา เมื่อกาลเวลาผ่านไปจึงมีสภาพทรุดโทรม ต่อมากรมศิลปากร เชียงใหม่ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ เพื่ออนุรักษ์รักษาสภาพของเจดีย์หมื่นพริกให้คงสภาพเดิมและรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รัก หวงแหน สืบทอดต่อไป