ขอเชิญร่วมงานบุญนิโรธกรรม ครั้งที่ 9
ของพระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต
วันเข้านิโรธกรรม วันที่ 4 มกราคม 2556
วันออกนิโรธกรรม
วันที่ 12 มกราคม 2556
เวลา 04.00 น. (ตี 4)
ณ วัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.ชียงราย
ขอเชิญศรัทธาสาธุชน ร่วมทำบุญงานออกนิโรธกรรมครั้งที่ 9 ของ
พระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต วัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง
อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
การเข้านิโรธกรรมของพระครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 แล้ว ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแบบโบราณาจารย์ในสายของ ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา โดยเน้นธุดงควัตร 13 เข้านิโรธกรรมที่ไม่เหมือนผู้ใด คือ เป็นการกระทำแบบลำบาก ซึ่งพระครูบาอริยชาติได้ตั้งสัจอธิษฐานเอาไว้ว่า ในชาตินี้จะขอกระทำนิโรธกรรมเพียง 9 ครั้ง โดยจะกระทำไม่ซ้ำที่กัน และไม่กำหนดว่าจะกระทำติดต่อกันหรือไม่
วิถีทางแห่งการฝึกฝนกายและจิตที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งพระบูรพาจารย์แถบล้านนาในสายครูบาศรีวิชัยได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้จิตเข้าถึงซึ่งความสงบเพื่อการดับทุกข์อย่างแท้จริง การฝึกตนด้วยวิธีการดังกล่าวนี้เรียกว่า “การเข้านิโรธกรรม”
คำว่า “นิโรธกรรม” แปลตามรูปศัพท์ หมายถึง การกระทำให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ วิธีการโดยทั่วไปคือ ผู้เข้านิโรธกรรมจะต้องนั่งภาวนาในท่าเดียวตลอด 7 วัน 7 คืน หรือ 9 วัน 9 คืน ตามแต่จะอธิษฐานในแต่ละครั้ง โดยไม่ฉันอาหารใด ๆ นอกจากน้ำเปล่าเท่านั้น ไม่ถ่ายหนัก ไม่ถ่ายเบา และปิดวาจาไม่พูดคุยกับผู้ใดทั้งสิ้นตลอดเวลาที่เข้านิโรธกรรม
กล่าวโดยสรุปแล้ว การเข้านิโรธกรรม คือ การดับสัญญาความจำได้หมายรู้ในอารมณ์อันเกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เป็นการดับการเสวยอารมณ์เหล่านั้นลงชั่วขณะในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั่นเอง
เมื่อครั้งที่ครูบาชุ่ม โพธิโก อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (วัดวังมุย) ยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้ดำเนินตามวิถีปฏิบัติของครูบาศรีวิชัย ด้วยการเข้านิโรธกรรมเช่นกัน เพียงแต่ในคราวนั้น พระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยเดียวกับครูบาชุ่ม (หลวงพ่อฤาษีลิงดำเกิดก่อนครูบาชุ่ม 18 ปี) ได้กล่าวกับลูกศิษย์ของท่านถึงการเข้านิโรธกรรมของครูบาชุ่มว่า
“นี่ครูบาชุ่ม ท่านเข้านิโรธสมาบัติ”
ทั้งนี้ คำว่า “นิโรธสมาบัติ” และ “นิโรธกรรม” ทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ ผู้ที่เข้า “นิโรธกรรม” จะนั่งภาวนาโดยฉันแต่น้ำเปล่า ไม่ถ่ายหนัก-เบา ไม่พูดจาใดๆ ตลอดการเข้านิโรธกรรม
ในขณะที่ นิโรธสมาบัติ หมายถึง ภาวะการดับสัญญา และดับเวทนา เป็นการเข้าถึงฌานสมาบัติขั้นสูง โดยการปฏิบัติในขั้นนี้ กายสังขารและจิตตสังขารจะระงับไป คือแทบไม่มีลมหายใจ ไม่มีความรู้สึกทางกายและทางใจ แต่ก็ไม่ใช่พระนิพพาน สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้า “นิโรธสมาบัติ” ได้นั้น พระบาลีระบุว่า “ต้องเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้น ต่ำกว่านั้นไม่สามารถเข้าได้” นั่นหมายถึง ผู้ที่สามารถเข้าถึงนิโรธสมาบัติได้จะต้องเป็นพระอริยบุคคลในระดับ “พระอนาคามี” หรือ “พระอรหันต์” ผู้ได้ฌานสมาบัติ 8 เท่านั้น
การเข้านิโรธสมาบัติ จึงเป็นการเข้านิโรธเต็มกำลังสำหรับพระอริยบุคคลระดับพระอนาคามีและพระอรหันต์ และเป็นการฝึกตนอย่างหนักและเคร่งครัดกว่าการเข้านิโรธกรรม เนื่องจากเป็นการฝึกด้วยวิธีการซึ่งเหนือวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาทั่วๆ ไปจะกระทำได้นั่นเอง
เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรและจำพรรษาอยู่ที่วัดชัยมงคล สามเณรอริยชาติได้พบ “ตำราปั๊บสา” ซึ่งเป็นบันทึกการเข้านิโรธกรรมของครูบาชุ่ม ที่คัดลอกมาจากครูบาศรีวิชัยอีกต่อหนึ่ง
(หมายเหตุ ปั๊บสา หรือ พับสา เป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่งของล้านนา มีความสำคัญรองจากเอกสารประเภทใบลาน “ตำราปั๊บสา” เป็นสมุดหรือตำราที่ชาวบ้านทำขึ้นใช้เอง เพื่อบันทึกคติ ความเชื่อ คาถา บทสวด ตำรายันต์ ตลอดจนความรู้แขนงต่างๆ ผู้ที่เป็นเจ้าของพับสาส่วนใหญ่มักเป็นผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านในยุคโบราณ โดยบันทึกสืบเนื่องมาจากสมัยที่ได้บวชเรียน (ไม่พบว่ามีผู้หญิงเป็นเจ้าของพับสาเลย) และด้วยเหตุที่ทำจากกระดาษสาจึงเรียกว่า “พับสา” (หากเป็นเอกสารที่ทำจากต้นข่อย ภาษากลางจะเรียก สมุดข่อย))
“ตำราปั๊บสา” ที่สามเณรอริยชาติได้พบฉบับนี้ เป็นบันทึกที่มีใจความสำคัญกล่าวถึงการปฏิบัติโดยเน้นธุดงควัตร 13 และการเข้านิโรธกรรมด้วยวิธีการที่ลำบาก โดยหลังจากได้พบตำราดังกล่าวแล้ว สามเณรอริยชาติซึ่งตั้งใจจะดำเนินรอยตามมรรควิถีของครูบาอาจารย์ผู้ทรงศีลอันบริสุทธิ์ ก็ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ในชาตินี้จะขอกระทำนิโรธกรรมเพียง 9 ครั้ง”
การทำนิโรธกรรมตามแบบฉบับของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ท่านให้ขุดหลุมลึก 1 ศอก กว้าง 2 ศอก พอดีเข่า แล้วสร้างซุ้มฟางครอบให้มีความสูง แค่เลยศีรษะ 1 ศอก โดยจะยืนไม่ได้ ไม่ถ่ายหนัก ไม่ถ่ายเบา ฉันแต่น้ำ 1 บาตร ที่นำเข้าไปด้วย มีผ้าขาวปู 4 ผืน รองนั่ง แทนความหมาย คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีเสาซุ้ม 8 ต้น แทนความหมาย มรรค 8 ยอดซุ้มปักธงฉัพพรรณรังสี อันมีความหมายถึงปัญญา ราชวัตรล้อมซุ้ม มี 9 ชั้น แทนความหมายของ โลกุตรธรรม 9 คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 รวมเป็น 9
การกระทำนิโรธกรรมของพระครูบาอริยชาติ จะเข้าในสถานที่สัปปายะ ห่างไกลผู้คน โดยมีชาวบ้านจัดเวรยามรักษาในรัศมี 100 เมตร เพื่อป้องกันการรบกวน โดยก่อนที่จะกระทำการนิโรธกรรม จะต้องมีพระสงฆ์ 5 รูป รับรองความบริสุทธิ์ถึงจะกระทำได้ และเมื่อออกจากนิโรธกรรม จะเป็นที่รู้กันดีในหมู่ศิษยานุศิษย์ว่า การได้ร่วมทำบุญตักบาตรกับพระสงฆ์ผู้ซึ่งออกจากนิโรธกรรมนั้น จะได้รับอานิสงส์ใหญ่หลวงมากมายหลายประการ
ในการเข้านิโรธกรรมของพระครูบาอริยชาติ ครั้งที่ 9 นี้ ได้กำหนด วันเข้าในวันที่ 4 มกราคม 2556 และออกจากนิโรธกรรมในวันที่ 12 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 04.00 น. (เช้าวันที่ 12 ตี 4)
จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ร่วมกันสร้างบุญ สร้างกุศล สร้างบารมี ร่วมกับพระครูบาอริยชาติ ในวันที่ 12 มกราคม 2556 อันเป็นวันออกจากนิโรธกรรม
ในวันดังกล่าว จะมีการทำบุญตักบาตรกับพระครูบาอริยชาติ และพระสงฆ์อีกหลายรูป ปัจจัยจากการทำบุญ และจากการให้เช่าบูชาวัตถุมงคล ที่อธิษฐานจิตในระหว่างเข้านิโรธกรรมทั้งหมด สมทบทุนปรับแต่งภูมิทัศน์รอบฐานรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยและศาสนวัตถุภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณ เช่น พระวิหาร,พระอุโบสถ,หอไตร,ศาลาการเปรียญ,ห้องน้ำ และกำแพงวัด เป็นต้น
กำหนดการ
ออกนิโรธกรรม วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2556 เวลา 04.00 น.(ตี 4)
- 04.00 น. พระครูบาอริยชาติ ออกนิโรธกรรม เดินรับบิณฑบาตร
- 09.00 น. พิธีสืบชะตาหลวง
- 13.00 น. พิธีบวงสรวง เทพเทวดาฟ้าดิน
- 15.00 น. พิธีเททองหล่อพระ
- 16.00 น. ร่วมปล่อยชีวิตโค-กระบือ
ร่วมทำบุญ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
วัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 57180
โทร. 085-614-3764 , 053- 602-667 แฟ็กซ์. 053-602-668
เว็บไซต์ www.watsangkaew.com
ร่วมทำบุญผ่านบัญชีธนาคาร
ธนาคารกรุงเทพ บัญชีออมทรัพย์ สาขาแม่สรวย-เชียงราย
ชื่อบัญชี วัดแสงแก้วโพธิญาณ เลขที่บัญชี 511-041-6699
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
|