ด้วยบารมีธรรมของครูบาเจ้าศีลธรรม จึงก่อเกิดถนนขึ้นวัดพระบรมธาตุเจ้าดอยสุเทพ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการแม้แต่น้อย จึงเป็นที่มาของวัตถุมงคล พระครูบาศรีวิชัย รุ่นสร้างทาง ครับ ....
“ภายหลังที่ครูบาศรีวิชัยร่วมกับศรัทธาประชาชนชาวเชียงใหม่และใกล้เคียง ได้ก่อสร้างถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งใช้เวลาสร้างกว่า 5 เดือนแล้วเสร็จในวันที่ 30 เมษายน 2478 อันนับเป็นการเริ่มต้นเส้นทางธรรมที่นำพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศมุ่งหน้า ขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพในอดีตการเดินทางขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุ ดอยสุเทพเป็นไปด้วยความลำบากยิ่ง จะต้องเดินเท้าขึ้นไปใช้เวลาหลายชั่วโมง จนกระทั่งปี พ.ศ.2460 เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเป็นอุปราชมณฑลพายัพได้ทรงมีดำริให้นายช่างกองทางสำรวจในการก่อสร้างถนน ขึ้นดอยสุเทพซึ่งประมาณกันแล้วจะต้องใช้เงินในการก่อสร้างถึง 2 แสนบาทและจะต้องใช้เวลาในการสร้างทางนานถึง 3 ปี ทางราชการไม่มีเงินงบประมาณจึงได้สั่งระงับลงตั้งแต่บัดนั้น ต่อ มาหลวงศรีประกาศและเจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่จึงกราบอาราธนาครูบาศรีวิชัย อธิษฐานจิตนั่งสมาธิดูความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครูบาศรีวิชัยท่านก็นัดให้มาฟังคำตอบอีกทีในวันรุ่งขึ้น ครั้นรุ่งขึ้น เมื่อทั้ง 2 ท่านก็เดินทางเข้ากราบนมัสการครูบาศรีวิชัยอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า “จะเสร็จภายใน 6 เดือนนี้” และท่านยังพูดเป็นปริศนาอีกว่า “วันศุกร์ขึ้นเขา วันเสาร์ลงห้วย” ขอให้เริ่มพิธีได้ หลวงศรีประกาศ จึงรีบเดินทางไปปรึกษาคุณนายเรือนแก้ว ซึ่งเป็นภริยา ก็ได้รับการตอบรับด้วยดี พร้อมยังอาสาทำหน้าที่เป็นแม่ครัว หลวงศรีประกาศจึงได้ใช้เงินส่วนตัวจัดพิมพ์ใบปลิวเกี่ยวกับการจะสร้างทาง ขึ้นดอยสุเทพ จำนวนห้าหมื่นฉบับ และเจ้าแก้วนวรัฐก็ได้จัดพิมพ์เพิ่มอีก ห้าหมื่นฉบับ ออกแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วภาคเหนือ
ครูบาศรีวิชัยได้ถือเอาฤกษ์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 โดยครูบาได้มอบหมายให้ครูบาเถิ้ม เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง เป็นผู้ขึ้นท้าวทั้ง 4 ในเวลา 01.00 น. ครั้นพอถึงเวลา 10.00 น. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ได้อาราธนานิมนต์ครูบาศรีวิชัย จากวัดพระสิงห์มาสู่บริเวณพิธี เมื่อขบวนนิมนต์ครูบาศรีวิชัยเดินทางมาถึงบริเวณเชิงดอย (บริเวณวัดศรีโสดา) พิธีลงจอบแรกการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพก็เริ่มขึ้น โดยครูบาเถิ้ม วัดแสนฝางเป็นผู้สวดเจริญพระพุทธมนต์และสวดชัยมงคลคาถา พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้ลงจอบแรกเป็นพิธีและครูบาศรีวิชัยท่านลากมูลดิน เป็นพิธีเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จึงได้ลงจอบแรกประเดิม ติดตามด้วยหลวงศรีประกาศ คุณนายเรือนแก้ว เจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้าคหบดี ต่างร่วมลงจอบแรกประเดิมการสร้างทางอย่างทั่วถึง ครูบาศรีวิชัย ท่านได้ประกาศต่อผู้คนที่มาร่วมงานในพิธีวันนั้นว่า “การสร้างทางในครั้งนี้ นับเป็นการใหญ่อย่างยิ่ง จะสำเร็จลงได้ก็ต่อเมื่อมีเทวดามาช่วย ท่านทั้งหลายจงมีความมั่นใจและร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะเห็นผลสำเร็จอย่างแน่นอน” ท่านได้ประกาศวาจาสิทธิ์ออกมาเป็นการทำให้มหาชนเกิดพลังว่ามีเทวดามาช่วย แต่กระนั้นหลวงศรีประกาศ ก็ยังมิวายวิตกเพราะเกรงจะไม่สำเร็จ เพราะวันนั้นมีแต่ผู้คนมาช่วยเพียงไม่เท่าไร ครูศรีวิชัยเล็งเห็นหลวงศรีประกาศที่กระวนกระวายเช่นนั้น จึงกล่าวต่อหลวงศรีประกาศไปว่า “คุณหลวงไม่ต้องวิตก อีก 7 วันคนจะมามากขึ้นจนไม่มีที่ขุด” จากนั้นอีก 7 วัน เมื่อใบปลิวจำนวน หนึ่งแสนฉบับ กระจายไปถึงมือศรัทธาประชาชน ชาวล้านนาหลายอำเภอ หลายจังหวัดทางภาคเหนือ มีหลายชนชั้น หลายเชื้อชาติภาษาต่างทยอยกันมาสู่เชิงวัดศรีโสดา บ้างก็จูงลูกจูงหลาน บ้างก็หาบสัมภาระ อาหารการกินมาสมบทช่วยเหลือ บ้างก็แบกจอบเสียม จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพันและจากพันเป็นหมื่น จนดูแน่นขนัดไปทั่วบริเวณ การก่อสร้างทางในช่วงแรก ๆ นั้น เป็นหน้าที่ของหลวงศรีประกาศ เถ้าแก่โหงวและเจ้าแก้วนวรัฐ นอกจากนั้นเถ้าแก่โหงวและหลวงศรีประกาศยังรับหน้าที่คอยดูแลรถน้ำซึ่งบรรทุก น้ำและอาหารขึ้นลงตลอดระยะทางในการก่อสร้าง ส่วนครูบาเถิ้มได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำแผ้วผาง บุกเบิกเส้นทางพร้อมกับขุนกัณฑ์ ชนะนนท์ นอกจากนั้นบรรดาชาวเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าคหบดี ทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน ในเขตแขวงเมืองเชียงใหม่ ต่างมาร่วมกันเป็นหมู่คณะจัดเครื่องไทยทาน ข้าวสารอาหารแห้ง ผลไม้ต่าง ๆ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการสร้างทาง ลำเลียงด้วยรถบรรทุกจำนวนกว่า 50 คันแล้วแห่ด้วยขบวนดุริยางค์ แตรวง แห่กันมาอย่างใหญ่โตมโหฬาร เพื่อนำมาถวายครูบาศรีวิชัย ในการร่วมสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ
การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช้ามาทุกคนก็มุ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในหมู่หมวดนั้น ๆ ค่ำมาก็จัดการแสดงรื่นเริงประสาชาวบ้าน ใครมีอะไรก็จะนำมาแสดง ไม่ว่าจะเป็นชาวเขาชาวดอยหรือชาวพื้นราบ ต่างผลัดกันขึ้นมาแสดงกันอย่างสนุกสนาน ด้วยพลังมหาชนคนหลายพันคน รวมกันเป็นเรือนหมื่น ซึ่งหลั่งไหลมาจากหลายอำเภอหลายจังหวัด เช่น ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เชียงแสน ตลอดจนแถบชายแดนพม่า ด้วยบุญญาบารมีอันแรงกล้ากับหยาดเหงื่อแรงกายแรงใจ และแรงศรัทธาของประชาชน ไม่นานทางขึ้นสู่ดอยสุเทพก็สำเร็จลุล่วง ด้วยระยะทาง 11 กิโลเมตรกับอีก 530 เมตรโดยใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 5 เดือนกับ 22 วันพิธีเปิดถนนประเดิมเส้นทางเป็นครั้งแรก โดยใช้รถยนต์ของเถ้าแก่โหงว แล้วอาราธนานิมนต์ครูบาศรีวิชัยนั่งขับขึ้นสู่ดอยสุเทพในวันที่ 30 เมษายน 2478 พร้อมทั้งจัดพิธีฉลองสมโภชอีก 15 วัน 15 คืน. บทความโดย จักรพงษ์ คำบุญเรือง jakrapong@chiangmainews.co.th. 3/11/55 ขอบ คุณหนังสื่อพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ ลิงค์บท ความ http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=135845
แขวนรุ่นนี้ไว้กับตัว เสมือนได้อยู่ใกล้ครูบาครับ โดยส่วนตัวชอบรุ่นนี้มากๆครับ