หลวงพ่อดับภัย วัดดับภัย เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาเชียงแสนยุคแรก หรือเรียกกันเป็นพระสิงห์ ๑ ปางมารวิชัย ทองสัมฤทธิ์ สร้างประมาณ ปี พ.ศ. ๑๖๐๐ - ๑๘๐๐ ประวัติการสร้างสลับซับซ้อน แต่สรุปพอได้ใจความเพื่อเป็นแนวทางของการแสวงหาความรู้ได้ดังนี้
ในครั้งมีบุคคลผู้หนึ่งมียศและตำแหน่งกรมการเมืองเชียงแสน อันเป็นยศและตำแหน่งในราชการสมัยนั้นซึ่งมีนามว่า " พญาดับภัย " พญาดับภัยผู้นี้เป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับมีพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ใหญ่มากไว้สักการะบูชาประจำครอบครัวองค์หนึ่ง ปัจจุบันนี้ประดิษฐาน ณ วัดดับภัย อำเภอเมือง เชียงใหม่ ครั้นในเวลาต่อมา พญาดับภัยได้รับคำสั่งให้ย้ายไปอยู่ ณ นครเวียงพิงค์ เมื่ออยู่มาไม่นานเท่าไหร่ ก็ถูกย้ายให้ไปทำราชการ ณ เมืองไชยปราการ (อำเภอฝาง) ในระหว่าง ทำราชการอยู่โดยมีตำแหน่งเป็นกรมการ ได้เกิดล้มป่วยลง ทำให้ภรรยาตลอดถึงญาติบริวารห่วงใยเป็นอันมาก ถึงกับประกาศให้แพทย์ที่มีความสามารถในการรักษา ถ้าหายขึ้นมาก็จะทำการแบ่งทรัพย์สิน อันมีค่ามหาศาลเป็นกำนันสินน้ำใจตอบแทน จนในที่สุดอาการโรคของพญาดับภัยก็ไม่ทุเลาเบาบางลงเลย จึงทำให้ญาติกระวนกระวายใจเป็นที่สุด
ด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ของหลวงพ่อดับภัยอันศักดิ์สิทธิื์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในห้องของพญาดับภัย ได้ดลบรรดาลให้พญาดับภัยนึกขึ้นมาได้ เมื่อนึกขึ้นมาได้อย่างนี้จึงเรียกให้คนในบ้านไปเก็บหาดอกไม้ธูปเทียนมาชุดหนึ่ง แล้วก็จุดบูชาตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าของหลวงพ่อดับภัยนานพอสมควร ด้วยแรงสัจจะอธิษฐาน อาการโรคดังกล่าวก็พลันหายวันหายคืน โดยมิต้องกินยาแต่อย่างใด ต่อมาพญาดับภัยได้มาตั้งบ้านเรือนเป็นหลักเป็นฐานไม่ห่างจากวัดดับภัยเท่าไหร่นัก จึงใช้เวลาเดินตรวจตราวัดวาอารามต่างๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงเพื่อจะได้นำหลวงพ่อดับภัยไปประดิษฐานไว้ให้เป็นหลักฐาน เพื่อเปิดโอกาสให้ศรัทธาประชาชนทั่วๆไปได้สักการะบูชา
จึงได้ตัดสินใจเห็นว่า วัดตุงกระด้าง (ตุงที่ทำจากไม้แผ่นแกะสลักฉลุเป็นตุงใช้แขวนบุชาพระ) เป็นวัดที่เจ้าขุนมูลนายมาทำบุญอยุ่มิได้ขาด จึงทำการบูรณะซ่อมแซมเมื่อแล้วเสร็จจึงนำหลวงพ่อดับภัยมาประดิษฐานในพระวิหาร ท่านพญาได้ทำบุญอยู่มิขาดจนสิ้นชีพตักษัย เมื่อรวมอายุตั้งแต่ท่านพญาบุรณะวัดดับภัย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ได้ประมาณ ๓๐๕ ปี (พ.ศ.๒๕๕๓)
แม้จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ศรัทธาประชาชนทั้งหลายเคารพบูชาในหลวงพ่อดับภัย ต่างก็ยึดถือเอาความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดับภัย ที่ได้ให้ความเชื่อมั่นแก่พญาดับภัยที่ได้ประสบพบมา ต่างก็คลาดแคล้วจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา เป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ ผู้แสวงหาโชคลาภต่างก็มาขอมิได้ขาด และสมประสงค์ที่ตนตั้งไว้ไปตามๆกัน แม้กระทั่งนักนิยมเดินทางทำงานในทางที่เสี่ยงๆ จะต้องนำธูปเทียนมาขอพรจากหลวงพ่อดับภัยเสมอ เพื่อให้ปลอดภัยจากการเดินทาง ท่านจะกราบสักการะบูชาขอพรจากหลวงพ่อดับภัยได้ทุกเวลาในพระวิหารวัดดับภัย อยู่ถนนสิงหราช ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง เชียงใหม่
พิธีมหาพุทธาภิเษก เหรียญหลวงพอดับภัย รุ่นแรก ปี ๒๕๑๘
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ พระอธิการบุญชม ปภสฺสโร เจ้าอาวาสวัดดับภัยพร้อมคณะกรรมการวัด ได้จัดสร้างเหรียญพระพุทธวัดดับภัย ขึ้นเพื่อนำรายได้ทั้งหมดสมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญ โดยสร้างเป็นหลายเนื้อจำแนกได้ดังนี้
๑.เนื้อทองคำ ตามสั่งจอง
๒.เนื้อเงิน ตามสั่งจอง
๓.เนื้อนวะโลหะแก่เงิน จำนวน ๙๙๙๙ เหรียญ
๔.เนื้อทองแดง จำนวน ๓๐๐๐ เหรียญ
๕.เนื้อตะกั่วลองพิมพ์ จำนวน ๙ เหรียญ
ได้จัดพิธีมหาพุทธาภิเษก ในวันที่ ๑ - ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๘ มีพระเกจิอาจารย์ร่วมพิธีมากมายเชอาทิ หลวงปู่คำแสน วัดสวนดอก หลวงปู่คำแสน วัดป่าดอนมูล หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง ครูบาคำปัน วัดหม้อคำตวง หลวงพ่อสนิท วัดช่างฆ้อง ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี อาจารย์เณรวิเศษณ์ สิงห์คำ วัดป่าสัก เป็นต้น
เหรียญหลวงพ่อดับภัย เป็นเหรียญยอดนิยมเหรียญหนึ่งของเชียงใหม่ ผู้คนทั้งหลายต่างเก็บสะสม ละหวงแหนเป็นปย่างยิ่ง
|