ครูบาอิน อินโท หรือ พระครูวรวุฒิคุณ มีนามเดิมว่า อิน วุฒิเจริญ เป็นบุตรของนายหนุ่ม-นางคำป้อ เขียวคำสุข ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ (ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ เหนือ ปีเถาะ) ณ บ้านทุ่งปุย ตำบลยางคราม กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (ปีที่ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) โดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือ เจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ (ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๕๒) ท่านได้เล่าชีวประวัติว่า ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คนด้วยกัน คือ
๑. นายแก้ว เขียวคำสุข (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. พระครูวรวุฒิคุณ (มรณภาพแล้ว)
๓. นางกาบ ใจสิทธิ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. พ่อหนานตัน เขียวคำสุข (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. นางหนิ้ว ธัญญาชัย (ถึงแก่กรรมแล้ว)
พระครูวรวุฒิคุณ อธิบายถึงเรื่องที่ท่านใช้นามสกุลต่างไปจากบิดามารดาและพี่น้องว่า เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีการใช้นามสกุล เมื่อมาเริ่มใช้ในสมัยหลัง (รัชกาลที่ ๖) ต่างคนต่างก็ตั้งนามสกุลกันเอง ตัวท่านบวชอยู่ ท่านก็แต่งนามสกุลเองว่า “วุฒิเจริญ” เพื่อให้เป็นความหมายมงคลในความเจริญในพระพุทธศาสนา
ท่านเล่าว่า ท่านเติบโตมาในครอบครัวชาวนา ชีวิตในวัยเด็กก็เรียบง่ายไม่ต่างไปจากเด็กสมัยนั้นโดยทั่วไป คือช่วยเหลือครอบครัวทำงาน พออายุได้ ๑๑-๑๒ ปี ก็ไปอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ ท่านว่าสมัยก่อนเด็กอายุเท่านี้ก็ยังดูเป็นเด็กอยู่ ตัวไม่ใหญ่โต เนื่องจากสมัยก่อนเด็กกินนมแม่ ไม่ได้บำรุงด้วยนมวัวเช่นในปัจจุบัน เมื่อมีลูกศิษย์ถามถึงอุปนิสัยในวัยเด็กของท่านว่ามีแววอย่างไรบ้าง ถึงทำให้ท่านบวชอยู่ในพระพุทธศาสนานานจนถึงทุกวันนี้ ท่านตอบแต่เพียงว่าท่านก็มีความเมตตาเอ็นดูสัตว์ ไม่เคยทรมานสัตว์
เป็นเด็กวัดทุ่งปุย
ท่านกำพร้าพ่อก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในวัดทุ่งปุย พ่อของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มอยู่ ท่านว่าอายุประมาณ ๕๐ ปี โดยมแม่จึงต้องรับพาระในการเลี้ยงดูบุตรธิดา โดยมีพี่ชายคนโตของท่านเป็นหลักช่วยครอบครัว ส่วนท่านเอง หลังจากเข้ามาเป็น “เด็กวัด” ที่วัดทุ่งปุย (วัดคันธาวาส) ตำบลยางคาม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน แล้วท่านก็อยู่ในบวรพระพุทธศาสนามาโดยตลอด
ชีวิตการเป็นเด็กวัดสมัยก่อน คือการอยู่วัด นอนวัด ช่วยทำงานในวัด อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ไปพร้อมๆ กับการศึกษาเล่าเรียน การเรียนเบื้องต้นจะเรียนตัวเมือง (ภาษาล้านนา) และเรียนสวดมนต์บทต่างๆ โดยมีพระภิกษุเป็นผู้สอน กิจวัตรประจำวันของเด็กวัดอย่างท่าน ตามที่ท่านได้เล่าให้ฟังก็คือ เช้าไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วก็ไปทวนหนังสือที่ศาลา สมัยก่อนเรียนด้วยกระดานดำ ครูเขียนให้ท่อง เมื่อจำได้แล้วก็ลบเพื่อต่อเรื่องใหม่ ทุกครั้งที่ต่อเรื่องใหม่ ครูผู้สอนจะให้ท่องของเก่าก่อน ถ้าท่องได้ถึงจะต่ออันใหม่ให้
ที่จริงแล้วการเรียนภาษาล้านนาและบทสวดมนต์ต่างๆ ของเด็กวัด ก็คือพื้นฐานของการบวชเณร ธรรมเนียมปฏิบัติของคนล้านนาในอดีต นิยมบวชเณรมากกว่าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ คนที่จะบวชเณรได้จะต้องเป็นเด็กวัดก่อนสักหนึ่งหรือสองปี เพื่อศึกษาเตรียมตัว หลวงปู่ครูบาอินท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีเจ้าอธิการยศ (ครูบามหายศ อินทปัญโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่วัดทุ่งปุย และอยู่ร่วมกับพระเณรรูปอื่นๆ ซึ่งในสมัยนั้น เณรจะมีมากกว่าพระ ซึ่งที่วัดทุ่งปุยมีเณรประมาณ ๑๐-๒๐ รูป
ตอนที่เป็นสามเณร นอกจากเรียนภาษาล้านนาต่อแล้ว ท่านก็หัดสวดมนต์ ๑๕ วาร สวดแผ่เมตตาและอีกหลายๆ อย่าง ครูจะเขียนใส่กระดานให้ท่อง พอท่องได้ก็ลบต่อใหม่ การเรียนที่วัดช่วงค่ำค่อนข้างลำบากเพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้น้ำมันจุดตะเกียงดูหนังสือ เด็กวัดและพระเณรแต่ละคนแต่ละรูปต้องหมั่นท่องจำบทสวดมนต์ต่างๆ ให้ขึ้นใจ ซึ่งวิธีการที่ครูบาอาจารย์จะตรวจสอบดูว่าเณรองค์ใดขยันหมั่นเพียรในการเรียนก็คือ อาจารย์จะจัดเวรให้เณรผลัดเปลี่ยนกันนำสวดมนต์ องค์ใดสวดช้า ติดขัด ครูอาจารย์จะฟาดหลังด้วยไม้เรียว เณรน้อยยังเป็นเด็ก ก็อดที่จะกลัวฤทธิ์ไม้เรียวไม่ได้
ฉะนั้น เวลาครองผ้า เณรบางองค์จะแอบเอาอาสนะรองนั่งซุกไว้ทางด้านหลัง เอาจีวรครองทับแล้วรัดอกแน่นๆ เผื่อโดนฟาดจะได้ไม่เจ็บนัก แต่ครูบาอินท่านไม่เคยทำ ท่านเล่าว่าเวลาฟาดจะมีเสียงดัง ครูบาอาจารย์ท่านก็ทราบแต่ก็ยิ้มเสีย ไม่ว่าอะไร ครูบาอินเองท่านก็เคยโดยฟาดอยู่ครั้งหนึ่งเหมือนกัน
ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์
ด้านกิจการพระศาสนา พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) ได้ปฏิบัติกิจของพระศาสนาเป็นอเนกประการ จนท่านได้รับตำแหน่งบริหารคณะสงฆ์และสมณศักดิ์ ดังนี้
พ.ศ.๒๔๘๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งปุย
พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลยางคราม
พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.๒๕๐๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูอิน (พระครูประทวน)
พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวรวุฒิคุณ (พระครูสัญญาบัตร ชั้น ๑)
พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้น ๒ ในราชทินนามเดิม
หลวงปู่ครูบาอิน มีความผูกพันกับวัดทุ่งปุยนับตั้งแต่บวชครั้งแรก จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ และได้พัฒนาวัดให้เหมาะแก่กาลสมัย ทั้งการสร้างอาสนะสงฆ์ต่างๆ ขึ้นภายในวัด เมื่อวัดทุ่งปุยเจริญรุ่งเรืองแล้ว ทางการจึงได้ให้เปลี่ยนชื่อว่า “วัดคันธาวาส” ตามชื่อ ครูบาคันธา ผู้มาบูรณะวัดร้างทุ่งปุยเป็นองค์แรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๕
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ นายประหยัด ศรีนุ ครูใหญ่โรงเรียนแม่ขาน ได้มาอาราธนานิมนต์หลวงปู่ ไปเป็นประธานสร้างอาคารเรียนโรงเรียนแม่ขาน แบบตึกชั้นเดียว โดยท่านได้มอบเงินให้เป็นทุนก่อสร้างอีกเป็นจำนวนถึง ๙,๐๐๐ บาท และเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ท่านได้ไปปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเศียรขาดที่เป็นรูปหินแกะของเดิม ซึ่งประดิษฐานอยู่วัดร้างโรงเรียนแม่ขานในปัจจุบัน เมื่อเสร็จแล้วจึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “หลวงพ่อโต” แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในหอประชุมโรงเรียนแม่ขาน จนถึงปัจจุบัน
วัตรปฏิบัติ
พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) หรือที่เรียกติดปากว่า “ครูบาอิน” หรือ “หลวงปู่” หรือ “หลวงปู่ครูบาอิน” หรือ “ครูบาฟ้าหลั่ง” นั้นเป็นพระสุปฏิบันโน ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นมีความชุ่มเย็นเสมอ ท่านแม้จะมีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรง และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของท่านมิได้ขาด คือการทำวัตรเช้า-เย็น พร้อมกับเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาในตอนเช้ามืดและก่อนนอน
ครูบาอินมีความพอใจในชีวิตที่เรียบง่าย ท่านมักกล่าวอยู่เสมอว่า เป็นบุญของท่านที่อยู่มาจนทุกวันนี้ และไม่เคยล้มหมอนนอนเสื่อ ครูบาไม่เคยเรียกร้องต้องการอะไร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ ในวัยเกือบ ๙๐ ปีท่านยังทำความสะอาดกุฏิเอง ผู้ที่พบเห็นท่านมักจะเกิดศรัทธาและประทับใจในความเป็นพระแท้ของท่าน ท่านมีเมตตาต่อศิษย์โดยถ้วนหน้า พยายามให้ลูกศิษย์หาโอกาสปฏิบัติธรรมเสมอ ปกติแล้วครูบาจะไม่ค่อยพูด แต่ถ้าหากคุยธรรมะแล้วท่านจะคุยได้นาน หรือถ้าพบคนสูงอายุท่านจะชวนคุยด้วยนานๆ คนรุ่นเดียวกับท่านล่วงลับไปเกือบหมดแล้ว ท่านเล่าว่ามีเพื่อนรุ่นเดียวกับท่านเป็น “น้อย” (ผู้เคยบวชเป็นสามเณร) ยังเหลืออยู่เพียงคนเดียว
ทางด้านสุขภาพของครูบาอิน ท่านว่าสังขารของท่านร่วงโรยไปตามอายุ เดี๋ยวนี้มีอาการอ่อนเพลีย และมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง แต่ก็มีหมอคอยดูแลรักษาเป็นประจำ ท่านเองถ้าหากไม่อ่อนเพลียนัก ก็พยายามไปตามกิจนิมนต์อยู่เสมอด้วยเมตตาของท่าน แม้ลูกศิษย์จะห่วงใยและพยายามขอร้องให้พักผ่อนก็ตาม
ท่านครูบาเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงต่อเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของท่านด้วย ท่านไม่ค่อยจะบอกเล่าอาการ หรือทุกขเวทนาให้ใครทราบ ได้แต่ห่วงใยทุกข์สุขของผู้อื่น ความมีเมตตาเอื้อเฟื้อของท่าน เผื่อแผ่ถึงสัตว์เลี้ยงภายในวัด ท่านไม่ยอมให้ใครนำไปปล่อยที่อื่น ท่านว่าข้าววัดพอมีเลี้ยงดูกันไปได้ ยามสัตว์เหล่านี้เจ็บป่วย ท่านก็พยายามจัดการให้มีการเยียวยาตามกำลัง พระภิกษุและสามเณรก็มีความรักสัตว์และมีความเมตตาเช่นท่านด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งมีลูกสุนัขของวัดเจ็บอยู่นาน ท่านเรียกมันว่า “ขาว” พอดีมีโอกาสที่จะนำตัวไปรักษาที่คลินิกสัตวแพทย์ลูกศิษย์ของท่าน ท่านเดินมาส่งถึงรถพร้อมกับกล่าวว่า “ขาวเอ๊ย ไปโฮงยานะลูก”
ในเรื่องนี้ บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและฆาราวาสซึ่งมีทั้งชาวบ้านวัดฟ้าหลั่งและจากที่ต่างๆ ก็พยายามดูแลท่านตามกำลังความสามารถเพื่อถนอมท่าน ครูบาเองนั้นมีความเกรงใจทุกคน ท่านมักกล่าวเสมอว่า ไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้ท่าน ท่านพอใจใสความเป็นอยู่ของท่านแล้ว แต่หมูลูกศิษย์ก็มีความห่วงใย จึงอดไม่ได้ที่จะจัดหาสิ่งต่างๆ ให้ท่านได้รับความสะดวกบ้าง รวมทั้งพยายามหาแพทย์มาดูแลสุขภาพของท่าน ให้ท่านอยู่กับพวกเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งๆ ที่รู้กันดีว่า ท่านไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านี้
พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) เป็นผู้มีสติระมัดระวังอยู่เสมอ ท่านรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนา มีผู้ไปถามความเห็นจากท่าน ท่านจะให้ข้อคิดที่ดี โดยยึดหลักธรรมะ ไม่เคยคิดซ้ำเติมผู้ใดด้วยอคติหรืออารมณ์ ในระยะหลังได้มีผู้มาพบเห็นและได้ข่าวปฏิปทาของท่านจนเกิดความเลื่อมใสในองค์ท่านมากขึ้นเป็นลำดับ จึงได้แวะเวียนไปกราบนมัสการท่านอยู่เนืองๆ และได้ทำบุญร่วมกับท่านโดยการก่อสร้างถาวรวัตถุในวัดฟ้าหลั่ง อาทิเช่น วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ โรงครัว ตลอดจนห้องสุขา เป็นต้น จนวัดมีความเจริญดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน
วัตรปฏิบัติประจำวันของท่านครูบาอินเท่าที่ทราบ ท่านตื่นนอนตอนเช้าตีสี่ ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ เมื่อพระในวัดมาพร้อมกันที่กุฏิของท่าน ท่านครูบาก็จะเป็นผู้นำในการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและนั่งสมาธิแผ่เมตตาเป็นประจำ ท่านฉันประมาณ ๘ โมงเช้า โดยฉันเอกา คือฉันเพียงมื้อเดียว และตลอดทั้งวันจะไม่ฉันอย่างอื่นนอกจากน้ำ ประมาณ ๙-๑๐ โมงเช้า หากไม่ติดกิจนิมนต์ ท่านก็จะมีปฏิสันถารกับญาติโยมที่ไปกราบนมัสการหรือไปทำบุญ หลังจากนั้นท่านจะพักผ่อนเป็นการส่วนตัว เช่นอ่านหนังสือหรือทำกิจอื่นจนถึงเวลาประมาณบ่ายสองโมงท่านจึงออกรับแขกจนถึงเวลาประมาณห้าโมง
จากนั้นท่านจึงสรงน้ำแล้วสวดมนต์ทำสมาธิจนถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม พระภิกษุสามเณรในวัดจึงมาพร้อมกันที่กุฏิของท่านเพื่อทำวัตรสวดมนต์เย็น ทำสมาธิ ซึ่งเสร็จประมาณสองทุ่ม หลังจากนั้นท่านครูบาอินจะมีปฏิสันถารกับพระในวัดตามสมควร แล้วพักผ่อน ซึ่งท่านจะเดินจงกรมและทำสมาธิก่อนจำวัดทุกคืน
|