กะว่าจะเขียนหลายที แต่ก็ไม่มีเวลาสักที
วันนี้จะนำเรื่องประวัติรูปเหมือนปั๊มรุ่นแรก ครูบาชุ่ม โพธิโก มาให้อ่านกัน ถือเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของครูบาอาจารย์ด้วย เพราะรุ่นนี้ยังไม่มีคนเช่าหาเก็บกันเท่าไหร่ และราคาไม่แรง(ของดีราคาถูก)
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเห็นพระรูปเหมือนปั๊มครูบาครูบาชุ่ม แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ข้อมูลความเป็นมา ว่าเป็นอย่างไร? ทันท่านหรือไม่?
ขอนำท่านย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2519หลังจากครูบาชุ่มท่าน มรณภาพแล้ว คุณหมอสมสุข คงอุไร และคณะศิษย์ รัศมีพรหม โพธิโก พร้อมใจกันที่จะสร้างรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงทั้งแบบยืนและแบบนั่ง เป็นอนุสาวรีย์ของครูบาชุ่ม เพื่อที่จะรำลึกถึงพระคุณแห่งครูบาที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอน แถมยังมอบฉายา “โพธิโก” มาเป็นนามแห่งคณะและเพื่อให้เหล่าบรรดาประชาชนทุกท่านที่ศรัทธาได้มากราบไหว้สักระกัน คุณหมอสมสุข ท่านไปติดต่อโรงงาน และช่างปั้น ซึ่งก็ได้ช่างปั้นที่เป็นอาจารย์สอนปฎิมากร อยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งช่างปั้นที่มีความชำนาญในการปั้นอนุสาวรีย์โดยตรงชื่อว่า อาจารย์ กนก บุญโพธิ์แก้ว และหลังจากนั้นท่านก็ยังได้ ปั้นอนุสาวรีย์ ครูบาขันแก้ว และครูบาพรหมมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า( ปัจจุบัน ประดิษฐาน ที่วัดพระธาตุดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่)
คุณหมอสมสุข และบรรดาคณะศิษย์รัศมีพรหม ยังได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อจะให้คนร่วมทำบุญ เป็นของที่ระลึกกัน โดยมี
1.รูปเหมือนแบบนั่งขนาด 5 นิ้วจำนวน 250 องค์ (ปั้นหุ่นโดย อ.กนก )
2.รูปเหมือนปั๊มประมาณรุ่นแรก 2000 องค์
3.ผ้ายันต์ ขาว และแดง อย่างละ2000 ผืน
ซึ่งรายได้ทั้งหมดนั้นนำไปเป็นทุนค่าใช้จ่าย ในการสร้างอนุสาวรีย์และวัตถุมงคลครั้งนี้ด้วย ร่วมๆเป็นเงิน 85,000 บาท สมัยนั้นถือว่ามาโขเลยที่เดียว
ผมออกทะเลไปนิดครับ เรามาว่าเรื่องรูปเหมือนปั๊ม กันต่อ
รูปเหมือนปั๊มของครูบาชุ่มนี้ เป็นความคิดที่ต่อยอดของคุณหมอสมสุข ที่เคยสร้างวัตถุมงคลเนื้อโลหะให้หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค คุณหมอเลยไปหาเพื่อนท่านชื่อว่า ตี่เกี๊ยะ เป็นโรงงานปั๊มหัวเข็มขัดอยู่หน้าบ้านคุณหมอ และเป็นคนร่วมสร้างวัตถุมงคลเนื้อโลหะของหลวงพ่อพรหมอีกด้วย( หลวงพ่อพรหม ครอบครูให้อีกต่างหาก)คุณหมอท่านเห็นว่า รูปเหมือนปั๊มเข่ากว้างหลังเต็มหลวงพ่อพรหมสวยดี เลยจะทำเป็นของครูบาชุ่มท่านบ้าง แต่นายช่างที่แกะหุ่นหลวงพ่อพรหม คนเดิมได้ลาออกไป เลยให้ช่างคนใหม่แกะและปั๊มออกมาอาจดูไม่ค่อยเหมือนเข่ากว้างของหลวงพ่อพรหมเท่าไหร่ แต่ก็ทำออกมาดี เพื่อที่จะให้ทันการในพิธิพุทธาภิเษกอนุสาวรีย์ และวัตถุมงคลของครูบาชุ่มซึ่งก็ทันเวลา และได้มีการจัดพิธีพุทธาภิเษกและปลุกเสกวัตถุมงคลของครูบาชุ่มในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 ทางวัดวังมุย ได้นิมนต์พระเถระมาร่วมปลุกเสกคือ
1.เจ้าคุณพระธรรมโมลี เจ้าคณะภาค วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
2.พระสุธรรมยาณเถระ(ครูบาอินทจักร) วัดน้ำบ่อหลวง จ.เชียงใหม่
3.เจ้าคุณญาณ วัดมหาวัน จ.ลำพูน
4.พระครูอุดมขันติธรรม(ครูบาขันแก้ว) วัดสันพระเจ้าแดง จ.ลำพูน
โดยมีครูบาเจ้าชัยยะวงค์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน มาเป็นองค์เจิมเบิกพระเนตร รูปเหมือนครูบาชุ่ม และมีการสวดเจริญพุทธมนต์แบบล้านนาจากพระสงฆ์ตลอดทั้งคืน ถือว่าเป็นวัตถุมงคลครูบาชุ่มที่สมบูรณ์แบบอีกรุ่นหนึ่งทีเดียว ( และในพิธีนี้เอง ทำให้คุณหมอสมสุข และบรรดาชาวคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก เห็นการปลุกเสกพระแบบลืมตาของครูบาขันแก้ว ที่เหมือนหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน และหลังจากนั้นชื่อของครูบาขันแก้วก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ)
แม้ว่าจะไม่ทันครูบาชุ่มท่านก็ตาม แต่เจตนาการสร้างดี และพิธีดีสุดยอดครับ
ค่าจ่ายในงานนี้ทางบรรดาศรัทธา ชาวบ้าน และคณะศิษย์รัศมีพรหม โพธิโก ร่วมกันสร้างทั้งหมดครับ และเงินที่เหลือบางส่วนก็ได้นำมาสร้างแท่น อนุสาวรีย์รูปยืนครูบาชุ่ม ประดิษฐานอยู่ ให้เราทุกๆคนไหว้และกราบสักการะจนทุกวันนี้ครับ
ขอขอบพระคุณข้อมูลนี้ จากครูบาอาจารย์แห่งคณะศิษย์รัศมีพรหมโพธิโก ที่เล่าเหตุการณ์ ณ เวลานั้น พร้อมให้ดูรายบัญชีค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อปี พ.ศ 2520 แม้ว่าจะเป็นเศษกระดาษเก่าๆ แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง เหตุการณ์จริง เป็นอีกบันทึกหนึ่งของวัตถุมงคลของครุบาชุ่ม โพธิโก กระผมขอกราบครูบาอาจารย์ทุกองค์ด้วยความเคารพยิ่งครับ
ท่าใดมีไว้บูชา ผมก็ดีใจด้วยนะครับ ขอบารมีครูบาชุ่ม รักษาครับ
|