พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ของประเทศองค์หนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ พระที่นั่ง อัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย องค์นี้ สันนิษฐานว่า คือพระแก้วขาว ซึ่งปรากฏเรื่องราวในพงศาวดารโยนก ความว่า พระอรหันต์ได้แก้วขาวมาจากจันทรเทวบุตร จึงขอให้พระวิษณุกรรมแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แล้วบรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ไว้ที่พระเมาลี พระนลาฏ พระอุระ และพระโอษฐ์ พระแก้วขาวนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองละโว้ จนกระทั่งพระนางจามเทวีอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ มืองหริภุญไชย ในปี พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญจากเมืองหริภุญไชยไปเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานคู่กับพระแก้วมรกตเป็นเวลา 84 ปีจากนั้นในปี พ.ศ. 2093 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงอัญเชิญพระแก้วขาว และพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ ไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบาง และเมื่อย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางไปตั้งที่เวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2107 นั้น ไม่ปรากฏว่าได้อัญเชิญพระแก้วขาวไปพร้อมกับพระแก้วมรกตด้วย สันนิษฐานว่าคงเคลื่อนย้ายไปซ่อนไว้ ณ ถ้ำเขาส้มป่อย ดังความในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานว่า
--ลุจุลศักราช 1086 ปีมะโรง ฉศก มีพรานป่าคนหนึ่งนำความแจ้งต่อแสนท้าวพระยาว่า เห็นพรานทึงพรานเทือง ข่าบ้านส้มป่อย นายอน (คือที่เปนเมืองสพาดเดี๋ยวนี้) ได้พระแก้วผลึกมาเข้าใจว่าเปนรูปมนุษย์น้อย นายพรานเอาเชือกผูกพระสอให้บุตรลากเล่นจนพระกรรณบิ่นไปข้างหนึ่ง ครั้นความทราบถึงเจ้าสร้อยศรีสมุท จึงให้แสนท้าวพระยาไปเชิญรับพระแก้วผลึกแห่มาประดิษฐานไว้ ณ เมืองจำปาศักดิ์ มีการสมโภช 3 วัน แล้วให้พวกที่มาส่งพระแก้วนั้นตั้งอยู่บ้านขามเนิง เรียกว่า ข่าข้าพระแก้วมาจนบัดนี้ แลตั้งให้พรานทึง พรานเทือง เปนนายบ้าน ควบคุมพวกข่าบ้านส้มป่อย นายอนให้เปนส่วยขี้ผึ้งผ้าขาว ถวายพระแก้วต่อมา จนส่งพระแก้วลงมากรุงเทพฯ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้ข้าหลวงไปปลงศพเจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา (เจ้าหน้า - เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ลำดับที่ 3) ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2354 ข้าหลวงได้เห็นพระแก้วผลึกสีขาว จึงมีใบบอกให้นำความกราบบังคมทูลถวายพระแก้วผลึก โดยตั้งขบวนแห่ตั้งแต่เมืองสระบุรี และมีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงกรุงเทพฯ
|