"ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) และท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล องค์ท่านทั้งสองเป็นสัตบุรุษ ผู้เป็นพหูสูต ดำเนินตามหลักอริยวงศ์ อริยประเพณีเป็นลำดับมา ทั้งเป็นครูอาจารย์ที่ดี เป็นกัลยาณมิตรที่ประเสริฐทรงธรรมทรงวินัย ผู้ยิ่งด้วยคุณที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถร มีความเคารพเลื่อมใสอย่างหนักแน่นและเทิดทูนท่านพระอาจารย์ทั้งสองอย่างสูงสุด การสมาคมและการอยู่ร่วมกันระหว่างท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร กับด้วยท่านพระอาจารย์ทั้งสองตามสมัยและตามโอกาส เป็นการอยู่ร่วมกันที่อาศัยความเคารพนับถือตามฐานะเป็นหลัก"
"เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่น มาพำนักในพระนคร ได้มีโอกาสศึกษาธรรมเนือง ๆ กับด้วยท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) นักปราชญ์ผู้ฉลาดปราดเปรื่องทั้งด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ มีปฏิภาณโวหารอันคมคาย ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านมีความเลื่อมใส เคารพบูชาท่านเเจ้คุณอุบาลีคุณูปมาจารย์เป็นอย่างสูงและคุณเคยดุจญาติสนิท ในฐานะแห่งองค์ท่านเป็นผู้ถือภาวะแห่งความเป็นภิกษุในพระศาสนา ณ สำนักเดียวกัน และท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็มีความนับถือพระอาจารย์มั่นตามควรแกก่ฐานะ ท่านทั้งสองมีกาลแห่งมิตรภาพมั่นคงตลอดมา บางโอกาสได้ขึนไปแสวงวิเวกทางตอนเหนือของประเทศด้วยกัน ในเขตพื้นที่อันประกอบด้วยป่าดง ภูเขา ถ้ำต่าง ๆ อันเหมาะแก่กการเจริญสมณธรรม
ครั้งหนึ่งท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงธรรมในหมู่มหาชน ท่านพระอาจารย์มั่นได้กกราบขอโอกาสท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯเพื่ออันแสดงธรรม ณที่แห่งนั้นเอง องค์ท่านได้แสดงธรรมว่าด้วยมูลกัมมัฏฐาน กระแสธรรมเป็นที่จับจิตจับใจของผู้ฟัง จนท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ กล่าวชื่นชมหลังจบเทศนาธรรมนั้นว่า การแสดงธรรมของพระอาจารย์มั่น แสดงเป็นมุตโตทัย ชี้แนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้ฟังให้บังเกิดความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส"
"ครูอาจารย์ทั้งสอง คือท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ และพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล จึงนับเป็นอติครุกาจารย์ที่ท่านพระอาจารย์มั่น แสดงความเคารพนับถือกราบไหว้เทิดทูนอย่างสูงสุด"
|