พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
อู้ได้ซะป๊ะเรื่อง

อ.ราม วัชรประดิษฐ์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องปี 2543 (คนแรก) ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ


อ.ราม วัชรประดิษฐ์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องปี 2543 (คนแรก) ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ

   
  พระพุทธรูปเก่า-ใหม่ / พันธุ์แท้พระเครื่อง /ราม วัชรประดิษฐ์


ปัจจุบันวงการนักนิยมสะสมพระบูชาพระเครื่องขยายวงกว้างยิ่งขึ้น มีผู้ให้ความสนใจศึกษาและมุ่งหวังที่จะเข้าสู่วงการเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ถามว่าบุคคลเหล่านั้นจะเข้าใจในสิ่งที่ได้ศึกษามาอย่างถ่องแท้หรือไม่ สามารถมาขับเคี่ยวกับเสือ สิงห์ นักเล่นมืออาชีพในวงการได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความบากบั่นและมุ่งมั่นของแต่ละบุคคล "การพิจารณาพระพุทธรูป" ก็เป็นหนึ่งในหลักวิชาการที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน จึงขอนำหลักการเบื้องต้นในการศึกษา "พระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์" ว่าความเก่า-ใหม่นั้นดูอย่างไร

มาทำความเข้าใจคำว่า "เนื้อสัมฤทธิ์" กันก่อน คำว่า "สัมฤทธิ์" คือการนำโลหะต่างๆ มาผสมกัน อาทิ ทองคำ เงิน นาก ทองเหลือง ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว ฯลฯ สำหรับพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์มักนิยมใช้ส่วนผสมของโลหะ ดังนี้ 

- ผสมโลหะ 5 ชนิด คือ ดีบุก 1 บาท ปรอท 2 บาท ทองแดง 3 บาท เงิน 4 บาท และทองคำ 5 บาท เรียก "ปัญจโลหะ" 



- ผสมโลหะ 7 ชนิด คือ ดีบุก 1 สังกะสี 2 เหล็กละลายตัว 3 ปรอท 4 ทองแดง 5 เงิน 6 และทองคำ 7 เรียก "สัตตโลหะ"

- ผสมโลหะ 9 ชนิด คือ ชิน 1 เจ้าน้ำเงิน 2 เหล็กละลายตัว 3 บริสุทธิ์ 4 ปรอท 5 สังกะสี 6 ทองแดง 7 เงิน 8 และทองคำ 9 เรียก "นวโลหะ"

ศึกษาเกี่ยวกับโลหะต่างๆ ที่นำมาผสมรวมกัน ซึ่งจะมีคุณสมบัติเฉพาะในแต่ละตัว เช่น ทองคำ เมื่อนำมาผสมกับโลหธาตุอื่นก็จะเกิดความมันใสขึ้น เจ้าน้ำเงิน จะทำให้ผิวกลับดำ มองเห็นความเก่าชัดเจน เป็นต้น หรือบางครั้งเมื่อผสมกันแล้วโลหธาตุจะเปลี่ยนไป เช่น เมื่อนำทองแดงมาผสมกับสังกะสีก็จะกลายเป็นทองเหลือง ทั้งนี้ทั้งนั้น การนำเอาโลหะต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวมาผสมรวมกันก็จะปรากฏเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมาสำหรับเนื้อสัมฤทธิ์นั้นๆ

พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่พบเห็นกันโดยส่วนใหญ่ มีอาทิ 

- เนื้อสัมฤทธิ์ดำ เป็นส่วนผสมที่มีโลหะเงินมาก


- เนื้อสัมฤทธิ์เขียว มีส่วนผสมของทองเหลืองมาก

- เนื้อสัมฤทธิ์แดงน้ำตาลไหม้ มีส่วนผสมของทองแดงมาก

และทั้งหมดนี้ถ้าได้ผสมโลหะทองคำเข้าไปด้วย ก็จะทำให้เนื้อสัมฤทธิ์ดังกล่าวมันวาวและสวยงามยิ่งขึ้น

เมื่อทราบถึงลักษณะการผสมและคุณ สมบัติเฉพาะที่จะมีส่วนปรากฏบนพื้นผิวองค์พระแล้ว ก็มาเข้าสู่หลักการพิจารณาความเก่า - ใหม่เบื้องต้น ดังนี้

1. สังเกตพุทธศิลปะตามที่ได้ศึกษามาว่าอยู่ในสมัยใดเป็นอันดับแรก ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย หรืออยุธยา จากนั้นดูความประณีตงดงามว่าเป็นฝีมือช่างหลวงหรือช่างราษฎร์

2. พระเก่าหรือโลหะเก่าแท้ จะต้องมีคราบ มีสนิม ความสึกกร่อน รอยชำรุด รูสนิมขุม ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ สนิมจะเกิดจากด้านในออกมาด้านนอก ปากสนิมจะเล็ก การกัดกินจะไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้าพระใหม่จะใช้น้ำกรดสาด ลักษณะสนิมปากนอกจะกว้าง และความขรุขระสม่ำเสมอ

3. พระเก่าเมื่อสัมผัสจะไม่มีขอบคม ไม่เหมือนพระใหม่

4. พระเก่าผิวเนื้อจะเข้ม มันใส และแห้งเนียน ในภาษาวงการพระเรียก "มีความซึ้งตาซึ้งใจ" ไม่กระด้างเหมือนพระใหม่

5. พระเก่าที่มีอายุยาวนาน เมื่อเคาะที่ฐานจะมีเสียงแปะๆ ส่วนพระใหม่เสียงจะกังวาน

6. ดินหุ่นด้านในใต้ฐานองค์พระของพระเก่าจะค่อนข้างหนาและแข็ง เอามือสัมผัสแทบไม่หลุดติดมือมาเลย

7. เม็ดพระศกของพระเก่าจะเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เบี้ยวบ้าง แตกต่างกันเล็กน้อย แต่พระใหม่จะเป็นระเบียบ

8. พระปางลีลาเก่ามักมีปัญหาการซ่อมตรงข้อเท้าแต่ก็แสดงว่าเก่า

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการเข้าสู่วงการนักสะสมจริงๆ ท่านต้องหมั่นค้นคว้าศึกษา ได้เห็นของแท้บ่อยๆ ให้เกิดความชินตา หาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่ไว้วางใจได้สักคนที่จะให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และที่สำคัญต้องกล้าเสี่ยงที่จะลองผิดลองถูกครับผม
 
     
โดย : trirattana   [Feedback +1 -0] [+0 -0]   Tue 18, Oct 2011 23:50:04
 
 
อ.ราม วัชรประดิษฐ์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องปี 2543 (คนแรก) ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.