ลูกเป้งสิงห์หรือเป้ง เก่าถึงยุคไร้รอยตะไบครับ
ตัวถ่วงน้ำหนัก คือ เป้ง ลูกเป้งทำจากโลหะส่วนมากเป็นสำริดที่เป็นทองเหลืองก็มี มีหลายขนาด ทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นก เป็ด หงส์และสัตว์ตามปีนักษัตรหรือทำเป็นลูกกลมๆ ไม่ตกแต่งลวดลาย เป้งบางตัวมีเนื้อตะกั่วเติมเข้าไปเพื่อให้ได้น้ำหนักครบตามจำนวน ความสำคัญของลูกเป้งนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักดังกล่าวแล้ว คนล้านนายังใช้ลูกเป้งแทนค่าอีกได้หลายนัย นัยแรก แทนค่าเป็นทรัพย์สินเช่นเดียวกับเงินตรา เช่นในขันตั้งอย่างล้านนาที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะใส่ลูกเป้งในขันนั้นด้วย ถือเป็นของมีค่ามีราคาแทนทรัพย์สิน นัยต่อมาลูกเป้งรูปนักษัตร หรือ เป้งสิบสองราศี ใช้ใส่ขันตั้งนั้นเกิดสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น เพราะฤทธิ์ของลูกเป้ง สามารถปราบแพ้ขึดหรือเสนียดจัญไรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะขันตั้งในพิธีกรรมสำคัญๆ เช่น การสืบชาตาบ้านเมือง เป็นต้น อีกนัยหนึ่งนั้น ลูกเป้งหมายถึงตัวนำโชค ทำนองเดียวกับโชครางแต่เป็นเครื่องรางที่ใช้งานได้ นอกจากนี้ยังเรียกถุงผ้าขนาดเล็กมีหูรูดที่ใช้ใส่พกติดเอวโดยเหน็บกับเข็มขัด เรียกว่า ถงเป้ง หรือ ถุงเป้ง ส่วนถุงที่ใส่ลูกเป้งโดยตรงนั้นเท่าที่เคยเห็นจะใช้ผ้าเย็บทำเป็นถุงลักษณะคล้ายร่มชูชีพ ใส่ลูกเป้งหลายๆ ตัว ส่วนยอยเครื่องชั่งตราชูจะใส่ในตลับไม้ ซึ่งต้งออกแบบให้ใส่เครื่องชั่งได้พอดี |