รูปเหมือนพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ๕ มีนาคม ๒๕๒๘ วัดบุพพาราม ปลุกเสกโดย ๙ คณาจารย์ จังหวัดเชียงใหม่
วัดบุพพาราม
วัดบุพพาราม เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่
ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่
อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวและขายสินค้าที่ระลึก เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่
มีหอพระมณเฑียรธรรม
ซึ่งสร้างถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ
ประวัติ
วัดบุพพาราม หรือ วัดเม็ง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
วัดอุปปา ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๓ ถนนท่าแพ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๒๙ ตารางวา
วัดบุพพารามสร้างขึ้นในสมัยพญาเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ ๑๒
ราชวงศ์มังราย ( ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๓๙ – ๒๐๖๘ )
ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวถึงการสร้างบุพพารามว่า
พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช ( ราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช คือ พญาเมืองแก้ว ) หลังจากที่ได้ราชาภิเษกแล้ว ในปีที่ ๒
ทรงโปรดให้สร้างอารามขึ้นอารามหนึ่งในหมู่บ้านที่พระราชอัยกา
ครั้งเป็นยุพราชและพระบิดาของพระองค์เคยประทับมาก่อนเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๗
ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง จุลศักราช ๘๕๘ โดยพระองค์ตั้งชื่ออารามนั้นว่า
บุพพาราม แปลว่าอารามตะวันออก
ทั้งนี้
โดยถือเอานิมิตว่าได้ตั้งอยู่ทางทิศบูรพาแห่งนพีสีราชธานี ซึ่งเป็นตำแหน่ง “
มูลเมือง ” ตามคัมภีร์มหาทักษา ต่อ มาในปีที่ ๓ ของการครองราชย์ (
ปีมะเมีย ) พระญาเมืองแก้วทรงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นองค์หนึ่ง
ท่ามกลางมหาวิหารในอารามแห่งนั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเงิน
พอย่างเข้าปีที่ ๔ แห่งการครองราชย์
พญาเมืองแก้วทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทองขมุศิลปะแบบล้านนา
พร้อมกับหอมณเฑียรธรรมซึ่งโปรดให้สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังและประดับตกแต่ง
อย่างประณีตสวยงามเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกนอกจากนี้ยังมีการฉลอง
กุมารารามซึ่งพระนางสิริยสวดีราชเทวีพระราชชนนีของพระองค์
ได้สร้างไว้ที่พระราชมณเฑียรอันเป็นสถานที่ประสูติของพญาเมืองแก้วในครั้ง
เดียวกันนั้นเอง ในปีจุลศักราช ๘๖๖ ( พ.ศ. ๒๐๔๗ ) ปีฉลู เดือน ๘
วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ พญาเมืองแก้วทรงรับสั่งให้ทำการหล่อมหาพุทธรูปไว้ ณ
วัดบุพพาราม ๑ องค์ ต่อมา ในปีขาลเดือน ๕ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ
มีการหล่อพระมหาพุทธรูปด้วยทองแดงล้วน น้ำหนัก ๑ โกฏิ ซึ่งมีสนธิ ๘ แห่ง หรือข้อต่อ ๘ แห่ง ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น ๕ ปี คือ สำเร็จในปี จ.ศ. ๘๗๑ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ วันพุธ
โดยมีการฉลองอย่างใหญ่โตและได้รับการประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ ปัจจุบันนี้ คือ
พระประธานในวิหารของวัดบุพพาราม
จากนั้น วัดบุพพาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ
พ.ศ. ๒๐๗๐ สำหรับ อาณาเขตของวัดตามตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่ามีเนื้อที่เท่าใด
จากการค้นคว้าข้อมูลของพระพุทธิญาณเจ้าอาวาสวัดบุพพารามในปัจจุบัน (พ.ศ.
๒๕๓๙ ) ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้เฒ่าผู้แก่
ได้ใจความว่าวัดอุปารามหรือบุพพารามมีเนื้อที่กว้างขวางมาก
ทิศตะวันออกจดคลองแม่ข่าทิศตะวัดตกจดวัดมหาวัด อย่างไรก็ดี
ปัจจุบันวัดบุพพารามหรือบุพพรามมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๒๙ ตารางวา
ทิศเหนือติดกับถนนท่าแพ มีเนื้อที่ ๒ เส้น ๑๓ วา ทิศใต้ติดบ้านของเอกชน
มีเนื้อที่ ๒ เส้น ๔ วา ทิศตะวันตกติดกับถนนท่าแพ ซอย ๒ ร่มโพธิ์
มีเนื้อที่ ๒ เส้น ๑๙ วา ความสำคัญของวัดบุพพาราม คือ เคยเป็นที่สถิตของ พระมหาสังฆราชปุสสเทวะ
และนอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมมา
สัมพุทธเจ้า อีกทั้งมีประเพณีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุในวันเพ็ญเดือน ๖
เหนือ ( เดือน ๔ ภาคกลาง ) ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ประจำทุกปี
ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดบุพพาราม ได้แก่
๑ . พระวิหารหลังเล็ก ซึ่ง
เป็นวิหารเครื่องไม้ศิลปะแบบล้านนา
เจ้าหลวงช้างเผือกธรรมลังกาโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไชยลาภประสิทธิโชค ( พระประธาน )
ซึ่งก่อด้วยอิฐถือปูน หน้าตักกว้าง ๗ ศอก สูง ๙ ศอก เดิมวิหารหลังนี้มีอยู่
๓ มุขด้วยกัน คือ มุขหน้าหันไปทางทิศเหนือ มุขหลังหันไปทางทิศใต้
และมุขข้างหันไปทางทิศตะวันออก สำหรับวิหารหลังปัจจุบัน
เป็นศิลปกรรมแบบล้านนา ด้านในประดิษฐานพระประธาน ๒ องค์
องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ ก่อด้วยอิฐและปูน หน้าตักกว้าง ๗ ศอก สูง ๙
ศอก ได้รับการประดิษฐาน ณ วิหารหลังนี้มาโดยตลอดพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง
เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง หันหน้าไปทางทิศใต้ ( หันหลังให้กับองค์แรก )
ภายหลังเมื่อวิหารหลังเล็กได้รับการดัดแปลงแก้ไขในสมัยครูบาหลานหรือ
ครูบาอินต๊ะพระพุทธรูปองค์นี้จึงได้รับการเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานบนวิหาร
หลังใหญ่ ต่อมาเจ้าแม่ทิพผสม ณ เชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะวิหารหลังเล็ก
เมื่อประมาณปี พ . ศ . ๒๔๔๕ ปีขาล
ปัจจุบันวิหารหลังเล็กนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วล่าสุด
พระพุทธิญาณ
เจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดองค์ปัจจุบันได้ทำการบูรณะซ่อมแซมในรูปเดิมและ
เสริมในบางส่วน คือ ปั้นมอม ( สัตว์หิมพานต์ ) ๒ ตัว ไว้ที่บันได
รวมทั้งบานประตูใหญ่ของวิหารซึ่งปั้นปูนเป็นเทพพนม
๒ . พระวิหารหลังใหญ่
เป็นพระวิหารศิลปกรรมล้านนาซึ่งได้รับการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นแบบพม่า
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาปฏิมากร
ศิลปกรรมล้านนาซึ่งหล่อด้วยทองแดงล้วนมีน้ำหนัก ๑ โกฏิ และสนธิ ( ต่อ ) ๘
แห่ง และมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนขนาบซ้ายขวาอีก ๒ รูป
โดยหล่อด้วยทองสำริดทั้งคู่ภายในวิหารมีภาพเขียนพุทธประวัติและพระมหา
เวสสันดรชาดก ซี่งเขียนด้วยสีฝุ่น ประวัติของวิหารหลังใหญ่เท่าที่ทราบ คือ
พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์หรือเจ้าชีวิตอ้าว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
เป็นผู้บูรณะโดยเปลี่ยนเสาเดิม คือ ท่านได้รื้อหอเย็นในคุ้มหลวง
แล้วนำเสาเหล่านั้นมาทำเป็นเสาพระวิหาร ต่อมาในสมัยของครูบาหลาน ( อินต๊ะ )
พร้อม ด้วยญาติโยมได้ทำการบูรณะพระวิหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น
พระครูอุดมกิตติมงคลเจ้าอาวาสได้พยายามปรับปรุงเรื่อยมาไม่ว่าจะเป็นการ
เปลี่ยนบานประตูใหญ่ - เล็กและแกะสลักให้สวยงามแบบศิลปะล้านนา
๓ . พระอุโบสถ ตามที่สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ได้ความว่าเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา คฤหปตานี
“ คุณแม่วันดี สุริยา ” เป็น ผู้ปฏิสังขรณ์
โดยทำซุ้มโขงให้เป็นศิลปะล้านนาผสมมอญ อนึ่ง
พระอุโบสถหลังนี้มีขนาดเล็กและไม่มีใบเสมาเป็นเครื่องหมายเหมือนอุโบสถที่
สร้างขึ้นในปัจจุบันแต่จะใช้ก้อนหินหรือเสาหินทรายแดงเป็นนิมิตในการผูก
ลูกนิมิตเพื่อแสดงเขตของพัทธสีมาซึ่งมีความกว้าง ๕ เมตร และยาว ๒๐ เมตร
ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสิงห์หนึ่งศิลปะเชียงแสนซึ่งเป็น
พระประธานและพระพุทธรูปปูนปั้นก่อด้วยอิฐอีก 2 องค์ ซึ่งเป็นของโบราณ
๔. พระเจดีย์ ศิลปะ ล้านนา
เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตามตำนานขององค์พระเจดีย์กล่าวว่า พระญาเมืองแก้วสร้างพระเจดีย์ขึ้นใน ปี
จ.ศ.๘๗๒ ปีมะแม โดยมีความกว้างประมาณ ๑๒ ศอก สูงประมาณ ๓๐ ศอก
ปิดด้วยทองทั้งองค์ ในครั้งนั้น คณะสงฆ์
และเหล่าศรัทธาต่างเปลื้องอาภรณ์เครื่องประดับเป็นเครื่องบูชาเพื่อเป็นบุญ
กุศลและเป็นการถวายทานแด่พระพุทธศาสนา การก่อสร้างใช้เวลารวม ๓
เดือนจึงสำเร็จ
โดยขณะที่การก่อสร้างดำเนินอยู่นั้นมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นหลายประการ อนึ่ง
การบูรณะองค์พระเจดีย์โดยหลวงโยนวิจิตร (หม่อนตะก่า อุปโยคิน) คือ
ท่านได้สละทรัพย์สินส่วนตัวเสริมสร้างองค์เจดีย์ทั้งองค์ในปี จ.ศ.๑๒๖๐ (พ.
ศ.๒๔๔๑) โดยเปลี่ยนรูปทรงเจดีย์ใหม่ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ขยายฐานให้กว้าง
๓๘ ศอก ความสูง ๔๕ ศอก มีฉัตรขนาดเล็กจำนวน ๔ ฉัตร
รวมทั้งมีต้นดอกไม้เงิน-ดอกไม้ทอง อย่างละ ๔ ต้น
และมีฉัตรขนาดใหญ่ตรงยอดสูดขององค์เจดีย์ ๑ ฉัตร พิธียกฉัตรมีขึ้นในวันที่ ๙
กุมภาพันธ์ ปลายปี พ.ศ.๒๔๔๑ ต่อ มา ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ พระพุทธิญาณ
(เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)
ได้ย้ายมาจากวัดเชตวันและได้ทำการบูรณะองค์พระเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง
โดยเริ่มลงมือบูรณะในวันพฤหัสบดีแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู จ.ศ.๑๓๒๓
ตรงกับวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๔ สำเร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๘
กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๕ ตรงกับเดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ วันพฤหัสบดี
รวมเวลาที่ทำการบูรณะ ๔ เดือนกับอีก ๖วัน
๕. บ่อน้ำทิพย์
เดิมเป็นบ่อน้ำในพระราชอุทยานของพระเจ้าติโลกราช
มีมาก่อนการสร้างวัดบุพพาราม (จ.ศ.๘๕๔) เมื่อพระเจ้าติลกปนัดดาธิราช (พระ
เมืองแก้ว) ได้ทรงสร้างพระอารามขึ้นในพระราชอุทยาน
ได้ใช้น้ำในบ่อนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สรงพระบรมสารีริกธาตุ
ปัจจุบันทางราชการใช้น้ำในบ่อนี้ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์บ่อหนี่ง
ในจำนวนบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร เพื่อใช้ในพิธีสำคัญ ๆ เช่น
ในพระราชพิธีพุทธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในวาระครบ ๕
รอบ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ หรือเมื่อครั่งเจ้าอินทวโรรส
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ราชวงศ์มังรายได้อาราธนาพระบรมธาตุเจ้าศรีจอมทองมายังวัดบุพพารามเพื่อให้
ประชาชนได้สรงน้ำทำการสักการะในวันเพ็ญเดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ
และในปัจจุบัน
ประเพณีการสรงน้ำพระบรมธาตุวัดบุพพารามยังดำเนินอยู่เป็นประจำทุกปี
๖. หอพระมณเฑียรธรรม เป็น มณฑปปราสาทจัตุรมุขทรงล้านนา ๒
ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ สำเร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๕๓๘
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย
เดชมหาราช ทรงพระราชทานนามว่า “ พระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. ” และ
พระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ แกะด้วยไม้สักทั้งองค์
สำหรับชั้นล่างจัดเป็นห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนาเพื่อรวบรวมวัตถุ
โบราณของพื้นเมืองต่าง ๆ
๗. วิหารพระเจ้าทันใจ ไม่
ปรากฏวันเดือนปีที่สร้างอย่างแน่ชัด
แต่จากการสอบถามผู้สูงอายุได้ความว่าพ่อน้อยสุข สุขเกษม
พร้อมด้วยลูกหลานเป็นศรัทธาถวายพร้อมพระเจ้าทันใจ
โดยใช้เวลาสร้างเพียงวันเดียวและทำการฉลองสมโภชพร้อมทั้งเจริญพระพุทธมนต์
อายุการก่อสร้างประมาณ ๑๔๐-๑๕๐ ปี
นับว่าเป็นของเก่าแก่คู่กับวัดอีกอย่างหนึ่งภายในวิหารพระเจ้าทันใจ
เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจและพระประจำวันเกิด ๘. วิหารครูบาศรีวิชัย
ภายในประดิษฐานรูปปั้นของครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้วัดบุพพารามเป็นโบราณสถานตั้งแต่วันที่
๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๒ วัดนี้เจ้านายฝ่ายเหนือเป็นผู้ทำนุบำรุงมาโดยตลอด
มอม ที่พระวิหารหลังเล็กสัดส่วนงดงามมาก
มอม เป็นสัตว์ในตำนานที่มีรูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต
มอมเป็นพาหนะของเทพปัชชุนนะเทวบุตร (เทพเจ้าแห่งฝนในคติล้านนา)
สามารถพบเห็นได้ตามบันไดวัดหรือศาสนสถานทางแถบล้านนา ลักษณะ
รูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต ช่างปั้นบางครั้งก็ปั้นให้ดูคล้ายตุ๊กแกหรือค่าง
ลักษณะของศิลปะนั้นได้รับอิทธิพลจากจีน
ที่มา : www.chiangmai-thailand.net |