พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระเกจิอาจารย์ล้านนา

พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา)


พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา)


พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา)

   
 
(วัดน้ำบ่อหลวง) สันป่าตอง เชียงใหม่

       พระสุธรรมยานเถร(ครูบาอินทจักรรักษา) มีนามเดิมว่า อินถา นามสกุล พิมสาร เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๙ ตรงกับแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ บ้านป่าแพ่ง ตำบลแม่แรง อำเภอปากบ่อง (คืออำเภอป่าซางในปัจจุบัน) จังหวัดลำพูน

ท่านครูบาอินทจักรรักษา เมื่อครั้งยังเยาว์วัยเป็นเด็กที่มีอุปนิสัย ขยัน รักสงบ มีความกตัญญูกตเวที ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของบิดามารดา เช่น ช่วยทำงานในไร่นาที่พอจะช่วยได้ทุกอย่าง เลิกงานจากทำนาก็จะเข้าสวน พรวนดิน เลี้ยงวัวควาย งานบ้านที่ทำส่วนมากได้แก่การตักน้ำตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตของชาวชนบทในอดีต หลังจากนั้นก็จะกวาดบ้านถูบ้านดูแลน้อง ๆ เพราะพี่ที่โตกว่าต้องทำงานช่วยพ่อแม่

หลังจากที่มีการเปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้น สามเณรอินถาจึงเกิดความคิดที่จะเรียนต่อ ได้เข้าไปเรียนพระอุปัชฌาย์ให้ทราบ พระอุปัชฌาย์เห็นความเจริญก้าวหน้าจึงอนุญาต จึงได้เข้าเรียนเพิ่มเติมจนจบชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๓ ซึ่งเทียบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปัจจุบัน โดยได้เดินทางมาเรียนที่วัดดอนแคร (วัดจีน) ปัจจุบันเป็นโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เรียนวิชาสามัญพื้นฐานเพิ่มเติมด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ บัญชี ลูกคิด เป็นต้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ การศึกษาในโรงเรียนขณะนั้น เป็นการศึกษาเล่าเรียนที่ค่อนข้างลำบากยากเข็ญ เพราะขณะนั้นมีครูสอนในโรงเรียนน้อย การสอนจึงไม่ทั่วถึงแก่ทุกคน ประกอบกับอุปกรณ์ในการเรียนการสอนก็มีไม่เพียงพอ ถ้านักเรียนไม่มีความอุตสาหะ      เพียกเพียรพยายาม ย่อมไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้

การอุปสมบท

เมื่อท่านครูบาอายุครบ ๒๐ ปี เกิดความคิดขึ้นว่า “ในบัดนี้อายุกาลของเราครบบวชแล้ว ควรจะเดินทางกลับไปอุปสมบทที่ภูมิลำเนาเดิม ณ วัดป่าเหียง ต.แม่แรง เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๙ ปีมะโรง (พ.ศ.๒๔๕๗ – ๒๔๖๑ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑) โดยมี พระอธิการแก้ว ขตฺติโย (พระขัตติยะคณะวงษา) เจ้าอาวาสวัดป่าเหียงเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระฮอม โพธาโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และ มีพระสม สุรินฺโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ทั้งสองรูปนี้อยู่วัดป่าเหียงเช่นกัน ได้ฉายาว่า อินฺทจกฺโก

 

                หลังจากอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ท่านครูบาได้ช่วยทำงานและเป็นธุระในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพระ อุปัชฌาย์หลายประการ ทั้งนี้เพราะท่านครูบามีความรู้ทั้งทางคดีโลกและทางคดีธรรมทั้งปริยัติและ ปฏิบัติ

 

                เมื่อท่านครูบาอินทจักรรักษา ปฏิบัติธรรมจนเกิดดำริในการออกเดินธุดงค์แล้วก็บังเกิดความปลื้มปิติขึ้นมา ท่านครูบาจึงน้อมจิตไปในการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อตนเอง เป็นขณะเดียวที่พระน้องชาย คือ ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก ก็ได้ออกธุดงค์อยู่ในเขตอำเภอป่าซาง และอำเภอจอมทอง ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ซึ่งขณะนั้นท่านมีพรรษาได้ ๓ พรรษา ท่านครูบาได้ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ออกเดินธุดงค์กับพระน้องชาย ซึ่งพระอุปัชฌาย์ได้อนุโมทนาพร้อมทั้งอนุญาตให้ออกเดินธุดงค์

 

ออกธุดงค์

           การเดินธุดงค์ในภาคเหนือตอนบนนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่๒ เป็นปีที่ข้าวยากหมากแพง ถึงกระนั้นท่านครูบาก็ยังสู้อดทนตามเจตนาที่ตั้งไว้เพื่อการปฏิบัติธรรม การเดินธุดงค์ไปในถิ่นต่าง ๆ ในขณะนั้นจึงไม่ใช่ของที่กระทำได้ง่าย เพราะมีอุปสรรคมากมาย แต่ต้องกระทำด้วยความตั้งใจจริงและจะต้องใช้ความอดทนอย่างสูงมาก

                ขณะเดินธุดงค์ต้องต่อสู้กับความยากลำบากมากมาย แต่ท่าครูบาก็หาได้ย่อท้อต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากและปัญหา ท่านครูบาจะรำลึกถึงการที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหาสัจธรรม ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ท่านประสบในตอนนี้เทียบกันไม่ได้เลย จึงพยายามเตือนสติตนเองเสมอว่า “พระพุทธองค์มิยิ่งไปกว่านี้หรือ พระองค์ต้องสลบไปกี่ครั้ง เพราะต้องทรมานพระวรกายจนดูน่าสมเพช พระวรกายซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ซึ่งเราก็ได้ดูในรูปที่เขาปั้นเอาไว้ เห็นหรือเปล่า เราเองปฏิบัติตามพระองค์บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

 

                ขณะที่ท่านครูบาปฏิบัติภาวนาอยู่ในป่าดง ยุงป่า ริ้น ตอมกัดอยู่ตลอดวัน ใบหน้าบวมชาก็ต้องทนเอาบ้าง ส่วนกลางคืนได้ยินเสียงร้องของสัตว์ป่าที่เดินอยู่ใกล้ ๆ บริเวณจุดพักนั้น เป็นจำพวกเสือกำลังออกหากิน สภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลงได้ฉับพลัน ถึงฤดูหนาวอากาศหนาวก็หนาวจับหัวใจ ถึงฤดูร้อนก็ร้อนมาก เพราะใบไม้ร่วงหมดจนไม่มีที่หลบแสงแดด มิหนำซ้ำยังมีไฟป่าอีกด้วย ในฤดูฝนก็หาที่พักยาก บางครั้งต้องนั่งภาวนากลางสายฝน เปียกน้ำฝนตลอดทั้งตัว ส่วนจีวรชุ่มน้ำและเปื้อนดินจนเกือบยกไม่ขึ้น

                 เคยมีผู้แย้งข้อปฏิบัติกรรมฐานแบบท่านครูบาว่า “ทำไมจะต้องไปทรมานตัวเองถึง ขนาดนั้น วัดก็มีอยู่ อู่ก็มีนอน อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ ไม่น่าออกธุดงค์ทรมานตนเองเช่นนั้น ป่าดงพงไพรมันเป็นที่อยู่ของสัตว์ ทำไปแล้วเหมือนกระรอกกระแต”

                 ท่านครูบาได้กล่าวตอบว่า “ขอเป็นกระรอกกระแตอยู่ป่าดงพงไพรมุ่งแสวงหาความ สงบ ดีกว่าไปเป็นตุ๊ดตู่อุดอู้ไม่รู้ภัยจะมาถึงตัวเมื่อไหร่ การกระทำเช่นนั้นก็เพื่อความรู้เห็นสัจธรรมเท่านั้น”

                 ตลอดเส้นทางที่เดินธุดงค์ ท่านครูบาอาศัยชาวป่าชาวเขาถวายอาหาร บิณฑบาตเพื่อประทังชีวิตไปวัน ๆ บางครั้งก็ไม่ได้อาหารใด ๆ เลย จนทำให้บางคราวไม่ได้ฉันอาหารหลายวัน บางทีได้ข้าวไม่ได้กับข้าว ได้แต่พริกก็ต้องฉันข้าวกับพริก แม้แต่ได้กล้วยผลเดียวก็สามารถประทังชีวิตไปได้วันหนึ่ง อาหารบิณฑบาตประทังชีวิตจึงไม่แน่นอน

                 ท่านครูบาเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ท่านธุดงค์ถึงที่ไหนก็ตาม จะระลึกถึงคุณของโยมที่ให้อาหาร น้ำดื่ม และความห่วงใยแก่ท่าน ดังนั้นสิ่งที่จะตอบแทนแก่โยมเหล่านั้นก็คือ การแสดงคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการตอบแทนที่บริสุทธิ์กว่าวัตถุอื่นใดในโลก ท่านจะทำอย่างนี้อยู่เสมอมิได้ขาด

ธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของ พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา)

                 ท่าน ครูบาเผยแผ่พระพุทธศาสนายึดหลักปฏิบัติแบบสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ก่อให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในหมู่พุทธบริษัทบางกลุ่ม ในล้านนาในยุคนั้น เพราะในยุคของท่านครูบาคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักดังกล่าวจนนำไปสู่การโต้แย้ง และกลายเป็นความขัดแย้งในเวลาต่อมา โดยเริ่มแรกเป็นความขัดแย้งระหว่าง พระสงฆ์ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักปฏิบัติและวิธีการสอนแบบใหม่นี้ ต่างฝ่ายได้เขียนหนังสือขึ้นอธิบายหลักธรรมเพื่อสนับสนุนวิธีการของตนจนทำ ให้เกิดข้อเคลือบแคลงในการปฏิบัติตามหลักธรรมของทั้งสองฝ่าย จนนำไปสู่ความขัดแย้งของพุทธบริษัทที่เชื่อตามหลักคำสอนของแต่ละฝ่ายมีการ ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนในที่สุดคณะสงฆ์เชียงใหม่และลำพูน ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนและวินิจฉัยกรณีที่ขัดแย้งกัน คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จึงได้ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือเรื่ององค์ศาสนา ๒ ห้อง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าครูบาอินทจักรรักษา เป็นภิกษุที่มีหลักการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นในคำสอนและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่แตก ต่างกัน ประเด็นนี้มีประเด็นขัดแย้งกันพอจำแนกได้ ดังนี้

                 ๑ เรื่องการรับศีล ๕ ศีล ๘ ของคฤหัสถ์

                ๒ เรื่องการรับไตรสรณคมน์ และ อาม ภรเต

                ๓ เรื่องการอาราธนาศีลและสวดมนต์หมู่ด้วยภาษาบาลี

                ๔ เรื่องกรรมฐาน การกรวดน้ำหมู่

                 ในหัวข้อที่ยกมานี้เป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่งที่ท่านครูบาอินทจักรรักษาได้ แนะนำประชาชนให้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัย โดยท่านครูบายึดถือเอาหลักการทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “เพื่อประโยชน์แก่ชน เป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข” ท่านครูจึงได้สั่งสอนและเขียนหนังสือขึ้นชี้แจง การปฏิบัติตามแบบประเพณีเก่า ๆ บางอย่างที่สืบทอดกันมาว่า ผิดไปจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา



 
     
โดย : พระช้างเผือก   [Feedback +37 -0] [+0 -0]   Thu 7, Apr 2011 12:49:16
 
 
พระสวย มีเกษาด้วยครับ
 
โดย : พรมารดา    [Feedback +72 -1] [+0 -0]   [ 1 ] Fri 8, Apr 2011 08:00:02

 
พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.