พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระเกจิอาจารย์ล้านนา

ประวัติครูบาอินสม สุมโน พร้าว


ประวัติครูบาอินสม สุมโน พร้าว

   
  ประวัติครูบาอินสม สุมโน ตอนที่ ๑
          หากกล่าวถึงครูบาพระเถระที่อุดมศีลาจารวัตรอันงดงาม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปของ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ที่นอกเหนือจากหลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระอรหันต์เจ้า แห่งวัดดอยแม่ปั๋งแล้ว ก็ต้องครูบาอินสม สุมโน (พระครูสีลวุฒากร) พระอริยะสงฆ์ แห่งวัดทุ่งน้อย ต.บ้านโป่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ผู้เป็นศิษย์สาย ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนาไทย ผู้เป็นกำลังสำคัญในการมีส่วนช่วยเหลือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจนสำเร็จลุล่วง เป็นประวัติศาสตร์ของล้านนา…พระเดชพระคุณท่านครูบาอินสม สุมโน ผู้พร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามนามอุโฆษ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธสาสนิกชนทั้งใกล้และไกล ท่านเป็นผู้หนักแน่นมั่นคงในพระพุทธศาสนา ดำเนินตามปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้อย่างเคร่งครัด ตลอดจนสิ้นอายุขัย ปฏิปทาประการสำคัญที่เด่นชัดยิ่งของครูบาอินสม สุมโน คือ เมตตาธรรม ที่ท่านมีอยู่ ในการช่วยสงเคราะห์ผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนมาขอความเมตตาจากท่าน ช่วยให้พ้นจากทุกข์ภัยได้มีความสุข โดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ หมู่เหล่า ยากดีมีจนอย่างไร…ชีวิตของท่านจึงเป็นชีวิตที่ทรงคุณค่า เกิดมาเพื่อยังประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนทุกหมู่เหล่า…ดั่งรังสีแห่งสังฆรัตนที่เปล่งประกายให้แสงสว่างแก่โลกมนุษย์ นับว่าเป็นพระสุปฏิปันโนโดยแท้จริง
        จากหนังสือปฏิปทาของท่านครูบาอินสม สุมโน ที่คณะศิษย์พิมพ์ถวาย เมื่อปี พ.ศ ๒๕๒๘ บอกว่า
         ประวัติของครูบาอินสม สุมโน มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านป่าหวาย หมู่ ๗ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมนั้นบ้านป่าหวายขึ้นกับบ้านทุ่งน้อย หมู่ ๖ ตำบลบ้านโป่ง อาณาเขตติดต่อกันต่อมาทางราชการแยกบ้านป่าหวายไปขึ้นกับบ้านหนองไฮ หมู่ ๗ เพราะการไปมาลำบากต้องข้ามน้ำแม่งัด ละแวกดังกล่าวชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากที่อื่น เช่น บ้านแม่เหียะ อำเภอหางดง บ้านแม่แรม บ้านแม่ริม และจากเมืองเชียงราย ครูบาอินสม สุมโน เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๔๔ บุตรของนายแปง นางเที่ยง เปาะนาค ฝ่ายโยมบิดาเป็นคนบ้านงิ้วเฒ่า อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ส่วนโยมมารดาป็นคนบ้านหนองอาบช้าง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โยกย้ายมาอยู่ที่อำเภอพร้าว ครูบาอินสม มีพี่น้อง ๔ คน คือ ครูบาอินสม สุมโน นายตุ้ย เปาะนาค นายดวงแก้ว เปาะนาค และนางสาวหน้อย เปาะนาค วัยเด็กครูบาอินสม มีหน้าที่เลี้ยงควายและเลี้ยงน้องดังเด็กชาวบ้านทั่วไป เมื่ออายุ ๑๒ ขวบได้มาอยู่วัดเป็นขะโยมวัดทุ่งน้อย จึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือตัวเมืองล้านนา ได้ ๑ ปี เมื่อประมาณปี พ.ศ ๒๔๕๖ และแล้วอนิจจาโยมพ่อของท่านก็ได้เสียชีวิต ท่านจึงบวชจูงหัว(บวชหน้าไฟ)เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณบิดา ต่อมาก็ได้บวชบรรพชาจริง เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ ๒๔๕๖ โดยมีครูบาคำอ้ายสีธิวิชโย หรือชาวบ้านเรียกชื่อท่านว่า ครูบาสีธิ เป็นพระอุปัชฌาย์
 
     
โดย : พร้าววังหิน   [Feedback +5 -0] [+0 -0]   Wed 29, Dec 2010 21:15:23
 




 
 
โดย : Dear shop    [Feedback +1 -0] [+0 -0]   [ 1 ] Wed 29, Dec 2010 21:22:44









 
ประวัติครูบาอิสม สุมโน ตอนที่ ๒
        เมื่อเป็นเณรได้ ๗ พรรษา อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ ๒๔๖๔ ณ ศาลากลางลำน้ำแม่งัด มีครูบาคำอ้าย สีธิวิชโย เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาเมืองใจ๋ อินทจักโก เจ้าอาวาสวัดบ้านโป่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และครูบาอุต อุตตโม เจ้าอาวาสวัดป่าฮิ้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ นับตั้งแต่นั้นมาท่านได้เล่าเรียนวิชาปฏิบัติธรรมวินัยกับครูบาคำอ้าย สีธิวิชโย วัดทุ่งน้อย(ชาวบ้านเรียกครูบาสีธิ) ครูบาคำจันทร์ วัดท่ามะเกี๋ยง ครูบาเมืองใจ๋ อินทจักโก วัดบ้านโป่ง ครูบาอุต อุตตโม วัดป่าฮิ้น และครูบาชนัญ ธนันชโย วัดป่าลัน จนมีความรู้แตกฉานสำเร็จวิชาทุกแขนง
        “ท่านครูบาสีธิ นี้เป็นชาวอำเภอพร้าวโดยกำเนิด เป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงของอำเภอพร้าวในสมัยนั้น มีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวท่านมากมาย ท่านเป็นผู้อุดมด้านวิชาอาคม ทั้งความขลังและมหานิยม สามารถรู้ภาษานกภาษาหนูได้ อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากรรมฐาน มีสมาธิที่แข็งกล้า เป็นที่เคารพนับถือของพุทธสาสนิกชนในอำเภอพร้าว โดยเฉพาะพระเถระในอำเภอและต่างอำเภอก็มาขอเรียนวิชากับท่าน”
        “เมื่อครั้งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย (ครูบาศีลธรรม) นักบุญแห่งล้านนาไทย เมื่อครั้งที่ท่านมาบูรณะวัดพระธาตุกลางใจเวียง ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว ท่านได้มาพำนักและจำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุกลางเวียง ในวันอุโบสถศีล พระภิกษุสงฆ์ต้องเข้าอุโบสถทำพิธีกรรมทางศาสนา ท่านครูบาสีธิซึ่งอยู่ในวัยชรามากแล้วก็ไปร่วมอุโบสถด้วย สมัยนั้นทางเดินระหว่างวัดทุ่งน้อยไปยังวัดพระธาตุกลางใจเวียงลำบากมาก ครูบาอินสมและลูกศิษย์วัดจึงได้ทำเสลี่ยงให้ท่านนั่งไป ครั้นข่าวคราวทราบถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านก็รีบมาช่วยหามเสลี่ยงให้ครูบาสีธิไปยังอุโบสถวัดพระธาตุกลางใจเวียง และระหว่างทางท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยยังบอกกับ ครูบาอินสมและลูกศิษย์วัดคนอื่นๆด้วยว่า ท่านครูบาสีธิเป็นพี่ชายของท่านในชาติปางก่อน และมาพบกันในชาตินี้จึงมาแสดงความนับถือและยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างตลอดมา”
      “ครูบาอินสม สุมโน ได้ร่วมปฏิบัติธรรมกับครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย เมื่อครั้งที่ท่านได้มาบูรณะวัดพระธาตุกลางใจเวียง พอช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณะวัดพระธาตุกลางใจเวียงเสร็จ ก็ได้ติดตามไปร่วมสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ โด ยได้พำนักที่วัดสวนดอก อำเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลาแรมปี”
 
โดย : พร้าววังหิน    [Feedback +5 -0] [+0 -0]   [ 2 ] Wed 29, Dec 2010 21:31:56





 
ประวัติครูบาอินสม สุมโน ตอนที่๓
       การเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งน้อย ท่านครูบาอินสม สุมโน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๖๕ สืบจากครูบาสีธิ ท่านได้เริ่มพัฒนาหมู่บ้านและวัดให้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา ครูบาอินสมได้ปฏิบัติธรรมวินัย เจริญรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ของท่านมาโดยตลอด …อนึ่งด้วยท่านมีวิชา ความรู้เรื่องยาสมุนไพรแผนโบราณดี ชาวบ้านสมัยนั้นจึงมาขอรับการรักษาจากท่านอยู่เสมอ สำหรับเรื่องพุทธาคมของท่านนั้นได้มีผู้เฒ่าท่านหนึ่งเล่าว่า มีวัวตัวหนึ่งที่เขาเลี้ยงไว้ดุร้ายมาก เวลาตอนใกล้ค่ำเขาจะต้องย้ายวัวเพื่อนำมาผูกในโรงเรือน เขาถูกวัวขวิดจนได้รับบาดเจ็บแทบเอาชีวิตไม่รอดมาถึง๓ ครั้ง จึงได้มาปรึกษาและขอรับยารักษาตัว พร้อมเล่าเหตุการณ์ให้ท่านครูบาฟัง ครูบาก็ให้ยาและเศษผ้าเหลืองมาผืนหนึ่ง ให้นำไปผูกกับปลายไม้เรียวเมื่อเข้าไปหาวัวหรือสัตว์ดุร้ายต่างๆ ผู้เฒ่าก็นำไปปฏิบัติตาม ผลคือวัวดุร้ายตัวนั้นถึงกับหมอบลงไป ไม่กล้าลุกขึ้นมาขวิดเหมือนก่อน และยอมให้จับจูงเชือกจูงเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันในท้องถิ่น ถึงกิตติศัพท์ความรอบรู้เชี่ยวชาญในสรรพวิชาต่างๆ ของท่านนั้นมีมากมาย ท่านเคยบอกกับศิษย์ของท่านอยู่เสมอว่า อย่าได้หลงอะไรมากนักที่ท่านให้วัตถุมงคลต่างๆไป ก็เป็นการผูกใจและกำลังใจเมื่อนำไปใช้ที่ถูกที่ควร ก็ทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายได้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม สิ่งเหล่านี้เมื่อมีแล้วก็ทำให้สุขใจอบอุ่นใจแก่ตนเองและครอบครัว
         ครูบาอินสม สุมโน ได้เผยแผ่พระศาสนาอย่างหนึ่งด้วยการเทศนาธรรมแบบพื้นบ้าน ด้วยภาษาล้านนาไทยและสอนการทำสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน ให้แก่คณะศิษยานุศิษย์ ตลอดจนศรัทธาสาธุชนทั่วไป ทั้งได้ทำการสอนหนังสือพื้นเมือง ภาษาล้านนาไทย แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่สนใจ โดยไม่ปิดบังอำพลาง ผลที่ท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้มาก ตั้งแต่เด็กจนถึงเฒ่าแก่ชรา ทั้งงานส่วนตัวและส่วนรวม เป็นที่ประจักแก่สายตาของชุมชนทั้งหลายมาโดยตลอด ส่งผลให้ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศ ชั้นโท เป็นพระครูสีลวุฒากร เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ ๒๕๓๕ นำความปิติยินดีมายังศรัทธาสาธุชนเป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านครูบาอินสม หาได้มีความปิติยินดีไม่ กลับบอกให้คณะศิษย์เอาไปส่งคืน เพราะกลัวจะเป็นความทุกข์ กว่าลูกศิษย์จะอธิบายให้ท่านเข้าใจต้องใช้เวลานานทีเดียว
          ท่านครูบาอินสม สุมโน ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ ณ วัดทุ่งน้อย เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ ๒๕๔๐ เวลา ๑๓.๕๕ น.ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี ๗๖ พรรษา และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดทุ่งน้อย เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๕๔๒ ท่านได้จากพวกเราไปก็เพียงรูปกายเท่านั้น ส่วนนามธรรมชื่อเสียงคุณงามความดีของท่านยังไม่สูญสิ้นไป สิ่งที่พวกเราพึงกระทำเพื่อเป็นการบูชาพระคุณของท่าน ก็คือการนำเอาธรรมะ คำสั่งสอนของท่านมาประพฤตปฏิบัติอย่างจริงจัง เป็นการน้อมนำรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง
 
โดย : พร้าววังหิน    [Feedback +5 -0] [+0 -0]   [ 3 ] Wed 29, Dec 2010 21:38:46





 
 
โดย : พิฆเนศ    [Feedback +2 -0] [+0 -0]   [ 4 ] Wed 29, Dec 2010 21:47:56





 
 
โดย : kanung    [Feedback +44 -0] [+1 -0]   [ 5 ] Wed 29, Dec 2010 23:05:01





 
เยี่ยม มาก ครับ...
 
โดย : peak99    [Feedback +14 -0] [+0 -0]   [ 6 ] Thu 30, Dec 2010 00:26:30

 

 
โดย : kan2517    [Feedback +17 -0] [+0 -0]   [ 7 ] Thu 30, Dec 2010 09:54:40





 
ประวัติครูบาอินสม สุมโน ตอนที่๔

พระครูอาทรธรรมสารัตถ์ บันทึกเกี่ยวกับท่านครูบาอินสม สุมโน ว่า

“พูดถึงความเป็นอยู่ของตุ๊ลุง ท่านอยู่แบบง่ายๆ สบายๆ เรียบๆ จะเป็นในด้านการปฏิบัติมากกว่า นอนน้อยกว่าฉัน คือท่านนั้นนอนน้อย คือ นอนดึก ตื่นเช้า ที่ตื่นเช้านั้นไม่ใช่อะไรหรอก คือท่านเกรงว่าจะไม่ทันสวดมนต์และภาวนา แล้วประกอบกิจอันอื่นในตอนเช้าของแต่ละวันๆไป เวลาฉัน ตุ๊ลุง ก็ฉันเพียงมื้อเดียว คือ มื้อเช้าเท่านั้น เรียกว่า ถือวัตรเอกาสันนิกังคัง ฉันมื้อเดียวเป็นวัตรมาโดยตลอดจนถึงวันแห่งการมรณภาพ”

 
โดย : พร้าววังหิน    [Feedback +5 -0] [+0 -0]   [ 8 ] Thu 30, Dec 2010 14:22:04





 

ประวัติครูบาอินสม สุมโน ตอนที่๕

พระวิมลญาณมุนี เจ้าคณะอำเภอพร้าว บันทึกเกี่ยวกับท่านครูบาอินสม สุมโน ว่า

             “ท่านครูบาได้บำเพ็ญสมณธรรม ตามหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จริยวัตรด้านการสำรวมกาย-วาจา ในอริยบถ ๔ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน นั้นงดงาม ไม่กระโดกกระเดก ยังศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใสให้เกิดแก่สาธุชนผู้พบเห็น จึงได้รับความเคารพนับถือ จากสาธุชนเสมอต้นเสมอปลาย ตลอดมา กาย-วาจา เรียบร้อย งดงาม เป็นผลมาจากจิต ถ้าจิตได้รับการฝึกอบรมดี กาย-วาจา ก็ดีตามไปด้วย และเป็นผลส่งถึงการสร้างภูมิฐาน คือ สมาธิ หากจิตไม่มีสมาธิ ถูกอารมณ์รบกวน มีอาการหวั่นไหว ไม่หยุดนิ่ง ก็ไม่สามารถมองเห็นปัญหาได้ ท่านครูบาสามารถรักษาตัวรอดได้เพราะท่านสำรวมกาย-วาจา ฝึกจิตให้เกิดสมาธิธรรม พิจารณาสภาวธรรมให้รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงไม่หลงในโลกธรรม นำตนให้หลุดพ้นจากบ่วงของมารได้โดยสวัสดิภาพในช่วงชีวิตที่อุบัติมาในสังคมโลกใบนี้ ท่านครูบามีปฏิปทา และประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นแบบอย่างที่ดีตลอดอายุยาวนานของท่านที่หาได้ยากรูปหนึ่ง”

 
โดย : พร้าววังหิน    [Feedback +5 -0] [+0 -0]   [ 9 ] Thu 30, Dec 2010 14:24:06





 

ประวัติครูบาอินสม สุมโน ตอนที่๖

พระณรงค์ ปภัสสโร วัดสุวรรณคีรี (บ้านปางมะเยา) ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว ศิษย์ใกล้ชิดรูปหนึ่งของท่านครูบาอินสม สุมโน ถ่ายทอดจริวัตรของท่านครูบาอินสม สุมโน ว่า

    “หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้ว ท่านครูบาจะพาสวดปฏิสังขาโย แล้วกรวดน้ำ ในช่วงกลางวัน หากไม่มีแขกท่านจะนั่งเขียนธรรมหรือแผ่นทองสำหรับทำตะกรุด ท่านจะเอาธรรม (คัมภีร์ใบลาน) ที่เก่าใกล้ชำรุดมาคัดลอก เผื่อว่าธรรมผูกเก่าชำรุดจนใช้การไม่ได้ ก็จะใช้ผูกที่ท่านเขียนสำรองไว้ อุปกรณ์ที่ใช้เขียนเรียกว่าเหล็กจาร เขียนได้ทั้งใบลานและแผ่นทอง หากนั่งนานๆแล้วปวดหลังท่านจะเดินไปหยิบจอบดายหญ้าหรือเดินตามลานวัด เมื่อถึงเวลาเย็นถ้าเป็นหน้าร้อน ประมาณ ๑๖-๑๗.๐๐น.ท่านจะสรงน้ำ หากเป็นหน้าหนาว ท่านจะสรงน้ำเวลาประมาณ ๑๔-๑๕.๐๐น.สรงน้ำเสร็จในช่วงนี้ หากมีคนมาหาท่านจะนั่งต้อนรับ คนที่มาหาส่วนมากจะรู้ว่าเวลาประมาณ ๑๘.๐๐น.ท่านจะต้องเข้าภาวนา เขาก็จะกราบลาก่อนนั้น มีน้อยรายมากที่จะอยู่จนเลยเวลาทำสมาธิของท่าน กิจวัตรอย่างนี้ท่านทำติดต่อกันมาเป็นเวลา ๕๐-๖๐ปี หากไม่ป่วยแล้วท่านจะไม่หยุดเป็นอันขาด เมื่อนึกขึ้นมาทำให้รู้สึกอัศจรรย์ใจเหมือนกันเพราะการทำกิจวัตรอย่างนี้หากเป็นคนไม่มีความอุตสาหะจริงๆแล้ว คงไม่สามารถทำได้

       “อีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้สนใจครั้งเมื่ออยู่กับท่าน คือการมีศีลจารวัตรอันงดงาม พูดง่ายๆ คือท่านเป็นคนเรียบร้อย ภาพของท่านที่นั่งสงบเสงี่ยมตามกิจนิมนต์ต่างๆ ทำให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งและประทับใจยิ่งนัก”

 
โดย : พร้าววังหิน    [Feedback +5 -0] [+0 -0]   [ 10 ] Thu 30, Dec 2010 14:25:59

 
ประวัติครูบาอินสม สุมโน พร้าว : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.